พระราชาผู้ทรงธรรมในทุกจตุรทิศบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ

28 พ.ย. 2559 | 00:00 น.
หลายศตวรรษมาแล้วที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงปกครองแบบพุทธธรรมหรือที่เรียกว่า “ธรรมราชา” หรือ “ราชาผู้ปกครองโดยธรรม” นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระราชดำรัสแรกแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์นั้นได้แสดงให้ชาวโลกเห็นประจักษ์แล้วว่าพระองค์จะทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย โดยธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ที่สำคัญเป็นดั่งคำมั่นสัญญาใจในการดูแลพสกนิกรชาวไทยด้วยหลักธรรมอย่างแท้จริงบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ

M30321301 การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงผนวชก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เป็นดั่งแสงเทียนที่สำคัญในการทำให้พระพุทธศาสนาส่องสว่างขึ้นในดวงใจพุทธศาสนิกชนอีกครั้ง พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและอ้อม ที่สำคัญพระองค์ทรงใช้หลักธรรมมาเป็นเข็มทิศปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองด้วยหลัก “ทศพิธราชธรรม”

[caption id="attachment_115981" align="aligncenter" width="474"] สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์[/caption]

จริยวัตร 10 ประการหรือทศพิธราชธรรมประกอบด้วย 1.ทาน คือ การให้ พระองค์ทรงบำเพ็ญอยู่เป็นนิจ ในอันที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาราษฎร์ ล้วนแล้วแต่แสดงถึงการเป็นผู้ให้ของพระองค์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ทางกำลังวัตถุ สิ่งของ การให้ทางกำลังกายกำลังใจเห็นได้ชัดจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยมีพระราชประสงค์จะยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น 2.ศีล คือ การสำรวมในศีล พระองค์ทรงตั้งมั่นอยู่ในศีลอันเป็นข้อพึงประพฤติปฏิบัติโดยสมบูรณ์ พระราชจริยาวัตรที่ปรากฏทางพระวรกาย ทางพระวาจา ล้วนหมดจดงดงาม เป็นที่จับตาจับใจของผู้พบเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนจากพระราชหฤทัยที่เต้มเปี่ยมอย่างตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมของพระองค์

[caption id="attachment_115983" align="aligncenter" width="291"] สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก[/caption]

3.บริจาค คือ การเสียสละความสุขสวนตนเพื่อความสุขส่วนรวม ในทุกครั้งที่ราษฎรประสบภัยพิบัติหรือตกอยู่ในความทุกข์ยากและเดือดร้อน พระองค์จะเสด็จฯไปปลอบขวัญและให้กำลังใจพสกนิกร พร้อมทั้งทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงชนชาวไทยเสมอมา 4.ความซื่อตรง พระองค์ทรงวางตนอย่างสุจริตเที่ยงตรง ยืดถือปฏิบัติสืบต่อมาอย่างสม่ำเสมอมิได้เกิดข้ออคติลำเอียงหรือความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแก่ชุมชนคณะใดคณะหนึ่ง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระองค์ทรงมีความรักอันสุจริต ซื่อตรงต่อประชาชน ทรงรักและห่วงใยในทุกข์สุขของทวยราษฏร์อย่างสม่ำเสมอ

M31321301 5.ความอ่อนโยนหรือการมีอัธยาศัยอ่อนโยน พระองค์ทรงมีพระพักตร์อันแช่มชื้นในทุกช่วงเวลา อันบ่งบอกถึงเมตตาคุณและพระกรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น 6.ความเพียร พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของความเพียร ในการริเริ่มกิจการต่างๆ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาราษฏร มุ่งปลูกฝังให้พสกนิกรเอาชนะอุปสรรคด้วยปัญหาผ่านการพระราชนิพนธ์หนังสือพระมหาชนกอันเป็นบทเรียนให้ประชาชนมีความเพียร ความวิริยะเป็นที่ตั้ง 7.ความไม่โกรธ พระองค์ไม่เคยแสดงพระอาการกริ้วโกรธ แม้ว่าจะมีเหตุให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท พระองค์ทรงมีพระอาการสงบนิ่ง และสิ่งที่ราษฏรได้เห็นและได้รับจากพระองค์อย่างเสมอต้นเสมอปลายนั้นคือ น้ำพระราชหฤทัยอันบริสุทธิ์

M31321302 8.ความไม่เบียดเบียน พระองค์ไม่ทรงเบียดเบียนและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน พืชพรรณ หรือแม้กระทั่งสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ในการทรงงานหรือพระราชกรณียกิจต่างๆในทุกท้องถิ่น 9.ความอดทน พระองค์ทรงตั้งอยู่ขันติธรรม อดกลั้นต่อกิเลศยั่วยุทั้งปวง ตลอดจนทรงอดทนต่อทุกขเวทนาเดือดร้อนรำคาญต่างๆ จึงทำให้ทรงสามารถปฏิบัติพระราชภารกิจน้อยใหญ่สำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี และ 10.ความเที่ยงธรรม พระองค์ทรงมุ่งเน้นให้คนไทยมีความสำนึกในความเป็นชาติไทย ในขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยอยู่เสมอ ทรงตั้งมั่นในขัตติยประเพณีและทรงธำรงรักษายุติธรรมอย่างเคร่งครัด

ทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรและฐานรากที่มั่นคงในการดูแลพสกนิกรชาวไทยให้มีความสุขเสมอมา ระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษหลักธรรมของพ่อเป็นดั่งต้นแบบการคิดของพวกเราทุกคนในการน้อมนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหา เอาชนะอุปสรรค เป็นคนดี ไม่เบียดเบียนและใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง อดทนอดกลั้น ฝึกฝนตนด้วยความเพียร ตลอดจนพัฒนาสังคมด้วยการเป็นผู้ให้ และตอบแทนคุณแผ่นดินอย่างภาคภูมิใจต่อไป

พระราชกรณียกิจด้านพุทธศาสนา แบบอย่างพุทธมามกะที่ดี

M31321303 “...พระพุทธศาสนา บริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระ และเป็นประโยชน์ในทุกระดับ แต่จะต้องศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะปัจจุบัน ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง จึงจะเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้...”พระบรมราโชวาทพระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 17 ธันวาคม 2512

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเลื่อมใสและศรัทธาในคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องของการศีกษา ปฏิบัติธรรม รวมทั้งการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน เคยทรงนิมนต์พระกรรมฐานให้มาแสดงพระธรรมเทศนาในวังเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งทรงเสด็จฯในการพบปะกับพระวิปัสสนาทั่วทุกภูมิภาค ดังประกอบด้วย

[caption id="attachment_115982" align="aligncenter" width="474"] หลวงพ่อเกษม เขมโก หลวงพ่อเกษม เขมโก[/caption]

ภาคเหนือของประเทศมีพระเกจิอาจารย์อยู่หลายท่าน อาทิ หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำาผาปล่อง หลวงพ่อเกษม เขมโก วัดคะตึกเชียงมั่นและหลวงปู่แหวน สุจิณโณ โดยหนังสือตามรอยพระอริยเจ้า หลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระอริยสงฆ์แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง รวบรวมและเรียบเรียงโดย ดำรงธรรม ตอนหนึ่งใจความว่า “หลวงปู่แหวน สุจิณโณ และหลวงปู่หลุย จันทสาโร ล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์เอกหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตทั้งสิ้น พระคุณเจ้าทั้ง 2 องค์ได้เพียรอบรมธรรมจากองค์หลวงปู่มั่นมาอย่างเข้มแข็ง กระทั่งท่านทั้ง 2 สิ้นอาสวะกิเลส ถึงที่สุดแห่งธรรม”

มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่หลุยท่านได้มาพักที่วัดดอยแม่ปั๋ง กะว่าจะอยู่กับหลวงปู่แหวนไปสักพักนึงก่อน เพราะว่าเป็นคนจังหวัดเลยด้วยกัน พออยู่ต่อมาหลวงปู่หลุยได้ยินข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จะเสด็จมากราบหลวงปู่แหวน หลวงปู่หลุยได้ยินดังนั้นก็รีบไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่ที่อำเภอแม่แตง หลวงปู่หลุยท่านกลัวพูดกับพระราชามหากษัตริย์ไม่เป็น

[caption id="attachment_115985" align="aligncenter" width="500"] หลวงพ่ออุตตมะ (พระครูอุดมสิทธาจารย์) หลวงพ่ออุตตมะ (พระครูอุดมสิทธาจารย์)[/caption]

หลวงปู่หลุยท่านพูดว่า “พูดกับพระราชาไม่เป็น นี่คอขาดบาดตายนะเรา เป็นพระป่าพระดงไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร” ท่านพูดเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯมากราบหลวงปู่แหวนแล้ว หลวงปู่แหวนท่านก็พูดกับในหลวงว่า “ท่านหลุยก็มาอยู่นี่แหละ แต่หนีไปอยู่ที่แม่แตงแล้ว กลัวพูดกับพระราชามหากษัตริย์ไม่เป็น กลัวคอขาดบาดตาย ว่าอย่างนั้น” สมเด็จพระราชินีก็พูดออกมาว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นดอกพระเจ้าข้า พวกดิฉันไม่ได้ถือยศฐาบรรดาศักดิ์อะไรหรอกเจ้าข้า พูดแบบนี้เป็นกันเองนี้แหละเจ้าข้า” แล้วพระราชินีก็พูดกับหลวงปู่แหวนว่า “เมื่อดิฉันกลับจากที่นี้ไปแล้ว จะไปกราบหลวงปู่หลุยให้ได้ ไม่ต้องกลัวเจ้าข้า”

การเสด็จฯมากราบหลวงปู่แหวนแต่ละครั้ง ตั้งแต่บ่าย 2 โมง จนถึงหนึ่งทุ่มสองทุ่มเป็นประจำ การเสด็จฯมาวัดดอยแม่ปั๋งแต่ละครั้ง ถือเป็นการเสด็จส่วนตัวพระองค์แม้ในยามที่พระองค์ประชวร จนเกิดคำพูดที่ได้รับการกล่าวถึงมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “พระองค์มัวแต่เป็นห่วงคนอื่น แต่ไม่ทรงห่วงพระองค์เองบ้างเลย...”

นี้คือพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมที่เป็นพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ได้เข้าไปถึงประชาชนทุกที่ทุกแห่งหนตำบลใดก็ตาม มีพระเจ้าพระสงฆ์ที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติ อยู่ในป่าในเขาที่ไหนๆ ก็ตาม ท่านก็ย่อมเข้าถึงที่ทุกๆ แห่ง

[caption id="attachment_115987" align="aligncenter" width="500"] สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วินธมฺมสาโร) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วินธมฺมสาโร)[/caption]

ทั้งนี้จากบันทึกของหนังสือพระทรงผู้เป็นพลังแผ่นดิน เล่าถึงการสนทนาธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯกับหลวงพ่อเกษม เขมโก ครั้งเยือนวัดคะตึกเชียงมั่นเพื่อประกอบทรงตัดลูกนิมิตร ณ พระอุโบสถ ในเรื่องการปฏิบัติธรรม ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชปุจฉา การปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นตอนๆ อย่างนี้จะได้ผลไหม อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์ เขาทาทางนี้แล้วพัก ทางทางโน้นทีแล้วพัก ทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลานานหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้จะมีผลสำเร็จไหม หลวงพ่อเกษมฯ ถวายวิสัชนาว่า ปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ โดยอาศัยหลัก 3 อย่าง คือ มีศีลบริสุทธิ์ มีจิตบริสุทธิ์ ทำบุญในชาติปางก่อนไว้มาก มีบาปน้อย ขอถวายพระพร

บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือพระองค์ทรงเสด็จฯไปสนทนาธรรมกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลากหลายท่าน ซึ่งในนั้นคือ พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ โดยจากบันทึกวันประวัติศาสตร์ เสด็จฯวัดบ้านไร่ โดยหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เคยเล่าไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงห่วงใยการเป็นอยู่ของพสกนิกรในท้องถิ่น พระองค์ทรงถามในเรื่องของน้ำเพราะพื้นที่ดังกล่าวมีความแห้งแล้ง พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริและเงินจำนวนหนึ่งให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวด่านขุนทด ภายใต้ชื่อ "โครงการพัฒนาลำน้ำสาขาห้วยสามบาท อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ"

[caption id="attachment_115986" align="aligncenter" width="500"]  หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ[/caption]

และคำกล่าวจากศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เล่าว่า โดยการเข้าเฝ้าในครั้งนั้นหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ รู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างมาก และคำแรกที่หลวงพ่อเล่าคือ มือของพระองค์เป็นมือคนทำงานอย่างกับชาวไร่ ชาวนา แข็งกระด้างมากๆ จากนั้นลูกศิษย์สอบถามต่อว่า หลวงพ่อใช้คำศัพท์เรียกแทนตนเองว่าอะไร หลวงพ่อคูณตอบว่า “พระองค์ตรัสว่า หลวงพ่อครับพูดตามปกตินะครับ ผมเป็นคนไทย” ถัดมาที่ภาคกลาง พระเกจิอาจารย์ที่พระองค์ทรงสนทนาธรรม ประกอบด้วย หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี หลวงพ่ออุตตามะ วัดวังก์วิเวการาม ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ พระองค์ยังทรงเสด็จฯนมัสการหลวงพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ครั้นทรงพระผนวชพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาธรรมกับพระพรหมมุนี เรื่องสัจจะและเรื่องสังขาร ใจความว่า “พระราชปุจฉา ขณะที่ทรงพระผนวชอยู่นี้ เรียกกันว่า “พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยที่ทรงดำรงฐานะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังมีอยู่ เป็นเพียงแต่ทรงจีวรเช่นภิกษุเท่านั้น ขอความเห็นจากพระพรหมมุนี โดยพระพรหมมุนี ถวายวิสัชนาว่า เรื่องนี้ทางธรรมะเรียกว่า สมมติซ้อนสมมติ สัจจะซ้อนสัจจะ ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เป็นสมมติอย่างหนึ่ง เรียกว่า “สมมติเทพ” ความเป็นภิกษุก็เป็นสมมติอีกอย่างหนึ่ง ซ้อนขึ้นในสมมติเทพนั้น ในการเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติให้เหมาะสมกับสมมตินั้น ๆ เช่น เมื่อได้รับสมมติเป็นพระภิกษุแล้วก็ต้องปฏิบัติตามสิกขาบทของพระภิกษุโดยเคร่งครัด จักปฏิบัติแต่หน้าที่สมมติเทพอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าหน้าที่ของสมมติเทพไม่ขัดกับสิกขาบทวินัยก็อาศัยได้ เช่น คำที่เรียกว่า เสวย สรง บรรทม เป็นต้น ยังใช้ได้”

ทั้งนี้ระหว่างทรงผนวชพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงสดับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เรื่อง “คนกับธรรม” และในคืนวันนั้นพระพรหมมุนีขึ้นเฝ้าถวายธรรมะ เรื่อง “สังขาร” โดยละเอียด ทรงสนทนาธรรมกับพระพรหมมุนีต่อว่า “พระราชปุจฉา การที่มีคนป่าวข่าวทำให้เสียชื่อเสีย และอาจจะได้รับผลสะท้อนถึงฐานะของครอบครัว ตลอดจนญาติพี่น้องตระกูล สมควรที่สมณเพศและคฤหัสถ์จะปฏิบัติเช่นไรเมื่อมีการเช่นนี้เกิดขึ้น พระพรหมมุนี ถวายวิสัชนาว่า ทางสมณเพศ จงกระทำความดีต่อไป ความจริงย่อมหนีความจริงไม่พ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประทานโอกาสให้แก้ตัว เช่น พระภิกษุที่ถูกใส่ความ ก็มีโอกาสแก้ตัวได้ ทางด้านคฤหัสถ์ ถ้าจะฟ้องร้องขอความเป็นธรรมจากศาลก็ไม่ผิด แต่ถ้าตั้งใจปฏิบัติชอบต่อไปโดยไม่สะทกสะท้านต่อการใส่ความ นานเข้าก็คงมีคนเห็นความดีความชอบของเรา จะถือเป็นกรรมก็ได้ เป็นเรื่องของสังขารส่วนเหตุ คือคนอื่นปรุงแต่งให้เป็นเรื่องเป็นราว”

พระราชาผู้ทรงธรรมในทุกจตุรทิศบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ ด้านพุทธทาสภิกขุอีกหนึ่งเกจิอาจารย์สงฆ์ในไทยซึ่งเคยสนทนาธรรมกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เช่นกัน โดยพุทธทาสภิกขุสรุปและกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่งใจความว่า “เราชาวไทยได้มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม และนี่คือบุญกุศลอันใหญ่หลวง เป็นลาภอันประเสริฐ ที่เราได้มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมในการปกครองบ้านเมือง เมื่อประกอบไปด้วยคุณธรรม 10 ประการแล้ว เป็นผู้ประกอบคุณธรรมอันประเสริฐสุด มีพระคุณอันสูงสุด สำเร็จเป็นเมตตาคุณ ประชาชนเป็นผู้มีความจงรักภักดี ถือได้ว่าเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นผู้นำทั้งทางธรรมและทางโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางโลกนั้นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทุกคนว่าพระองค์ทรงนำเทคโนโลยีความก้าวหน้ามาพัฒนาด้านกสิกรรม กลับกันในทางธรรมก็พร่ำสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม เราคนไทยควรภาคภูมิใจและสนึกในพระมหากรุณาธิคุณในทุกลมหายใจ”

ทั้งนี้พระราชกรณียกิจและการพบปะสงฆ์ในทุกพื้นที่ของพระองค์ทำให้เหล่าพระอริยสงฆ์ทั้งหลายกล่าวถึงพระองค์หลากหลายด้าน อาทิ “ก็มีแต่คนไม่ฉลาดเท่านั้นแหละ ถึงไม่รู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีดีอะไร” พระอาจารย์วัน อุตฺตโม (พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร) วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) อ.ส่องดาว จ.สกลนคร “วันหนึ่งข้างหน้า ในหลวงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งของโลก ในหลวงเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาพุทธภูมิ”หลวงพ่อพุธ ฐานิโย กล่าว

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมีความอ่อนน้อมและไม่ถือพระองค์ ทั้งนี้ทรงให้ความเคารพ นอบน้อมเฉกเช่นพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในการเสด็จพระราชดำเนินไปสนทนาธรรมกับพระเกจิอาจารย์ในภูมิภาคต่างๆนั้น ยังสร้างความปลาบปลื้มใจให้กับพสกนิกรในพื้นที่และใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ที่สำคัญพระองค์เล็งเห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศานา เพราะสถาบันศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่คู่กัน พระองค์จึงทรงทำให้เป็นแบบอย่างแก่ปวงชนชาวไทยในการทำนุบำรุงศาสนาให้คงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน

นอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯจะพอพระราชหฤทัยที่จะฟังธรรม สนทนาธรรมกับพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและปฏิบัติธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกื้อหนุนพระพุทธศาสนาอีกนานัปการ ยกตัวอย่างเช่น พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่สามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อจะอุปสมบทให้เป็นนาคหลวง โปรดเกล้าฯให้จัดรายการธรรมะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ทางสถานีวิทยุ อ.ส.เพื่อเผยแพร่ศีลธรรม โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร., พระพุทธนวราชบพิตร และพระพุทธรูปพิมพ์หรือพระกำลังแผ่นดินที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อจิตรลดา”

ทั้งนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานกรรมการอำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนเสร็จสมบูรณ์งดงาม ทันงานฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี (เริ่มดำเนินการ พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ.2525) เสด็จฯบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทั้งยังเสด็จฯร่วมพิธีทางศาสนาตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ เนืองๆ

ต่อมาในปี พ.ศ.2528 ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จทันวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ได้พิมพ์แล้วเสร็จทั้งฉบับบาลีและฉบับแปลเป็นภาษาไทย ประเทศไทยมีการศึกษาพระไตรปิฏกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้มีการแปลเป็นภาษาไทยบางส่วนสืบต่อมาโดยตลอด แต่การแปลมาแล้วเสร็จครบชุดในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นับเป็นพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง เป็นความสำเร็จที่มีคุณค่าสูงต่อการศึกษาค้นคว้าของวงวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั่วโลก

องค์อัครศาสนูปถัมภกดูแลทุกศาสนาในแผ่นดินไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ไม่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเกื้อหนุนแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้น พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ทุกศาสนาในประเทศไทยอย่างทั่วถึง ดั่งเช่นใจความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทว่า “...ศาสนาอิสลามนี้ มีความดีเป็นพื้นฐาน เพราะว่าศาสนาอิสลามสอนให้ทุกคนเป็นพลเมืองดี ทุกคนมี ความเข้มแข็ง มีวินัย และมีความปรารถนาดีต่อกันนี้ เป็นหลักที่สำคัญ ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างบ้านเมืองให้เจริญและ มั่นคง..”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯทรงเห็นความสำคัญในการศึกษาคำสอนของศาสนาจึงได้ทรงพระราชดำริให้จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นแปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจากพระมหาคัมภีร์ต้นฉบับภาษาอาหรับโดยตรง ซึ่งระหว่างการแปลถวายพระองค์ทรงแสดงความห่วงใยตรัสถามถึงความคืบหน้า อุปสรรค ปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พิมพ์เผยแพร่ ในปีพ.ศ. 2511 อันเป็นปีครบ 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ประเทศมุสลิมทุกประเทศ แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอานขึ้น ณ สนามกีฬากิตติขจร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นวันเดียวกันกับการจัดงานเมาลิดกลาง ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และในวันนั้นเป็นวันเริ่มแรกที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ได้พิมพ์ถวายตามพระราชดำริและได้พระราชทานแก่มัสยิดต่างๆ ทั่วประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรมุสลิมในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล ให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด และทรงถามถึงทุกข์ สุข ของราษฎร ทั้งนี้พระองค์ทรงพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นที่มาของเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับ ลุงวาเด็งปูเต๊ะ “พระสหายแห่งสายบุรี” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ถึงฉันท์พระสหายระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 กับพสกนิกรของพระองค์ที่เป็นมุสลิมสามัญชนคนธรรมดา ซึ่งสะท้อนถึงพระเมตตาของพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์นี้ที่มีต่อพสกนิกรผู้ยากไร้ของพระองค์อย่างหาที่เปรียบมิได้

สำหรับศาสนาคริสต์ทรงอุดหนุนกิจการคริสตศาสนาตามวาระโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ คริสตศาสนาสามารถสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์และประกอบศาสนกิจได้ทั่วทุกภาคของประเทศ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีสำคัญๆ ของคริสตศาสนิกชนเป็นประจำ ที่สำคัญที่สุดคือ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครรัฐวาติกัน เมื่อครั้งเสด็จฯเยือนทวีปยุโรป เช่นเดียวกันกับศาสนาซิกต์พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในงานฉลองครบรอบ 500 ปี แห่งศาสนาซิกซ์ ตามคำ อัญเชิญของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านศาสนานานัปการด้วยพระเมตตา พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังทรงเป็นต้นแบบในการประพฤติปฏิบัติตามหลักราชประเพณีในด้านการพระผนวช พร้อมทั้งน้อมนำหลักคำสอนต่างๆ จากพระเกจิอาจารย์มาเพิ่มพูนองค์ความรู้และแนวทางในการปฏิบัติของพระองค์ ตลอดจนปกครองประเทศให้เกิดความผาสุกด้วยการใช้จริยวัตร 10 ประการ ถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทศพิธราชธรรม เสมือนดั่ง ธรรมราชา พระราชาผู้ทรงธรรมของแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559