ปมคุณสมบัติองค์กรอิสระ ส่อจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

28 พ.ย. 2559 | 05:00 น.
หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ กำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ไว้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะลักษณะต้องห้ามหลายประการ จนอาจทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งหลายรายใน คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่อขาดคุณสมบัติ

กระทั่งล่าสุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ได้ชี้แจงแถลงไขว่า ให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

แต่กลับมีข้อสงสัยว่า “คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีอำนาจวินิจฉัยและชี้ขาดว่า กรรมการองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ขาดคุณสมบัติหรือไม่

ย้อนกลับไปดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2559 ในมาตรา 203 กำหนดไว้ว่า เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมัครได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย (1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการ (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ (4)บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 210 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใดๆในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระองค์กรละ 1 คน เป็นกรรมการ

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (2)หรือกรรมการสรรหาตาม (4)มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย กรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่

ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา

ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

ในกรณีทีมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหาให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

ต่อเรื่องนี้นายเจษฎ์ โทณวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาธุรกิจบัณฑิตย์ และที่ปรึกษา กรธ.ให้ความเห็นส่วนตัวในประเด็นนี้กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากตีความคำว่า “ผู้สมัคร”ในที่นี้หมายถึงผู้สมัครองค์กรอิสระซึ่งในมาตรา 203 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการสรรหา”ตามรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งผ่านการลงประชามติและจะประกาศใช้เร็วๆนี้นั้น ความเห็นส่วนตัวให้น้ำหนัก 50% หมายถึง “ผู้สมัครใหม่”ซึ่งไม่ครอบคลุมผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี หากเกิดกรณีที่คณะกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ลาออกเพื่อเข้ามาสมัครใหม่ก็จะหมายรวมถึงบุคคลกลุ่มนี้ด้วยได้

ส่วนการวินิจฉัยตีความถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการองค์กรอิสระในปัจจุบันที่ยังอยู่ในวาระนั้น อาจจะมีปัญหา มีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี ต้องรอดูในส่วนของกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องที่จะออกมาอีกทีซึ่งในส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.กกต.) นั้น กรธ.ยังพิจารณาไม่ถึงบทเฉพาะกาลดังกล่าว

ปมองค์กรอิสระจบที่ศาล รธน.

ด้านนายยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวสะท้อนมุมมองว่า ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 273 เกี่ยวกับองค์กรอิสระเอาไว้แล้วว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป กล่าวคือ แม้ว่าจะไม่มีการสมัครใหม่ ก็ถือได้ว่า มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อย่างไรก็ดี กฎหมายใหม่ได้บัญญัติไว้อีกว่า การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องรอดูว่า ในบทเฉพาะกาลกฎหมายลูกจะกำหนดไว้เช่นใด ส่วนปัญหาว่าคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ จะมีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่ ซึ่งอาจเกิดการถกเถียงตามมาได้นั้นเพื่อยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าว

“โดยหลักการทั่วไปแล้ว เมื่อมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมาเกี่ยวข้อง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปัจจุบันมีอยู่ 9 ท่านซึ่งในจำนวนนี้อาจส่อว่า ขาดคุณสมบัติด้วยนั้นจะขอถอนตัว” นายยุทธพร ระบุถึงกรณีมีการส่งเรื่องให้วินิจฉัยคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อาจจะขาดคุณสมบัติ

ส่วนกรณีที่มีแนวโน้มว่า อาจเกิดกรณีที่จำนวนเสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันไม่สามารถลงมติชี้ขาดได้ด้วยจำนวนเสียงที่มีอยู่ อาทิ กรณีผลการลงมติออกมาเป็น 2 ต่อ 2 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ทางออก คือ ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีความและลงมติ และหากลงความเห็นไม่ได้ หนทางสุดท้าย คือ นายกรัฐมนตรีใช้ มาตรา 44 ดำเนินการชี้ขาดซึ่งความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะมาถึงขั้นตอนนี้

“โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับ กรธ.ที่จะให้มีการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระใหม่หมด เพราะที่ผ่านมามองว่า องค์กรอิสระมีแนวคิดที่บิดเบี้ยวไปจากเดิม ถูกแทรกแซงจากการเมืองและระบบราชการมานาน และเชื่อมั่นว่า หากเริ่มกระบวนการสรรหากันใหม่จะใช้เวลาไม่นานไม่เกิน 90 วันสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ เพราะวันนี้มี สนช.ซึ่งสามารถพิจารณาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว”

ในขณะที่แนวคิดเดียวกันนี้ไม่สามารถใช้กับพรรคการเมืองได้ การเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง ไม่ได้แก้ไขปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การทำให้ผึ้งแตกรัง บินจากรังเก่าไปจับกลุ่มทำรังใหม่เท่านั้น ดังนั้น การรีเซ็ตพรรคการเมืองน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง

จี้กำหนดให้ชัดในบทเฉพาะกาล

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้มุมมองอีกด้านหนึ่งว่า หากยึดตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดคุณสมบัติขององค์กรอิสระเอาไว้อย่างเข้มข้น ในส่วนขององค์กรอิสระนั้น “เหลืออยู่เท่าใดก็คงเหลือเท่านั้น”อย่างไรก็ดี เห็นว่า เรื่องนี้ กรธ.ต้องกำหนดเอาไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระว่า ชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่นี้จะให้คงอยู่ต่อไปหรือไม่ เอาให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

ส่วนกรณีหากเกิดปัญหาเรื่องการตีความเกิดขึ้นก็เป็นไปตามกระบวนการ คือ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีเกรงว่าอาจไม่สามารถชี้ขาดได้ ตามหลักการทั่วไปกำหนดให้ส่งไปยังศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลผู้มีเขตอำนาจทั่วไปชี้ขาด ซึ่งเชื่อว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

คณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีอำนาจวินิจฉัยกรรมการองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ หรือปัญหาเรื่องคุณสมบัติจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้ายหรือไม่ ต้องรอลุ้นกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559