วัดพระราม๙ กาญจนาภิเษก ความเรียบง่ายประจำรัชกาล เคียงคู่พระบวรพุทธศาสนาตราบนิรันดร์

27 พ.ย. 2559 | 03:00 น.
เสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นดังก้องผ่านลำโพงออกมาจากพระอุโบสถสีขาวสะอาดตา งามสง่าโดดเด่นท่ามกลางกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับที่พร้อมกันชูช่อลาแสงสุดท้ายของวัน ลานจอดรถที่เต็มไปด้วยเหล่าพุทธศาสนิกชนที่พร้อมกันเดินทางมาร่วมเจริญภาวนา นักเรียนตัวเล็กที่พร้อมแนะนำสถานที่ต่างๆ ด้วยรอยยิ้มและหัวใจที่บริสุทธิ์ รู้สึกเหมือนหลุดออกจากวงโคจรของความรีบเร่งในใจกลางกรุงเทพมหานคร ณ สถานที่แห่งความสว่าง สงบ และความสุขโดยแท้ “วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก”

M32321303 พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เล่าให้ฟังว่า วัดแห่งนี้เดิมทีตั้งขึ้นจากการริเริ่มของประชาชนที่ต้องการมีวัดเล็กๆ ในชุมชน ซึ่งตรงกับทฤษฎีพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชฯ ที่ไม่ต้องการสร้างหรือทำสิ่งใดที่ใหญ่โตเกินฐานะของชุมชน ดังที่พระองค์ทรงเห็นตัวอย่างจากการเสด็จฯ เยือนพื้นที่ต่างๆ ในชนบท พื้นที่ซึ่งมีการเกื้อกูลกันอย่างสมบูรณ์ของ บ้าน วัด และโรงเรียน ในทุกหนแห่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชฯ จึงมีพระราชประสงค์ให้พื้นที่บริเวณบึงพระราม 9 เป็นเมืองตัวอย่างของชุมชนที่มี บ้าน วัด โรงเรียน ตามหลักของ “บวร” เพื่อประสานความร่วมมือร่วมในในการพัฒนาชุมชนในบริเวณโดยรอบ อันประกอบด้วย คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ชุมชนบึงพระราม 9 หมู่บ้านพลับพลา หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน ให้เกิดความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ที่ดินจำนวน 15 ไร่ ซึ่งได้รับการบริจาคโดย คุณจวงจันทร์ สิงหเสนี บุตรคนที่ 5 ของพระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี ) กับคุณหญิงประเสริฐสุนทราศรัย (ตุ่ม สิงหเสนี ) สายเลือดของเจ้าพระยาบดินเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นองค์กรผู้สนองพระราชดำริแต่นั้นเป็นต้นมา

การก่อกำเนิดขึ้นของวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ในปี 2538 ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชฯ จึงมีลักษณะเฉพาะซึ่งสร้างการจดจำต่างจากวัดอื่นๆ ทั้งในเรื่องของโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ในชุมชน คือ เป็นวัดขนาดเล็กในชุมชนเมือง ที่เรียบง่าย และให้ความสำคัญในเรื่องของประโยชน์ใช้สอยสูงสุด โดยจัดสรรพื้นที่ในส่วนของโรงเรียนวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก จำนวน 5 ไร่ และพื้นที่ในส่วนของวัดอีกจำนวน 8 ไร่ 2 งาน ประกอบด้วยพระอุโบสถ 1 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง และกุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระ จำนวน 6 หลัง หอระฆัง โรงครัว อาคารประกอบที่จำเป็น และสระน้ำ อาคารทุกหลังใช้สีขาม อันแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม พื้นที่โดยรอบจัดสรรให้มีการปลูกพันธุ์ไม้นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นไม้ป่า พันธุ์ไม้หายาก ไม้ดอก ไม้ประดับ ในลักษณะป่าผสมผสาน เพื่อให้เกิดร่มเงาและความสงบร่มเย็นแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เข้ามาประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

ในหนังสือ “วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก” โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 2553 ได้ระบุไว้ว่า

M32321302 เบื้องต้น คณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบได้ประมาณราคาการก่อสร้างอยู่ในวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อให้สมพระเกียรติ เมื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชฯ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับแบบพระอุโบสถและอาคารอื่นๆ ให้มีขนาดเล็กลงจากเดิม ซึ่งการออกแบบเริ่มต้นนั้นภายในพระอุโบสถจุพุทธศาสนิกชนได้ราว 100 คนเศษ ทรงให้ลดขนาดลงเหลือเพียงจุได้ 30 – 40 คน ลดงบประมาณจากเดิมที่ตั้งไว้ 57 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท ด้วยทรงมีพระราชพระสงค์ให้วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวันเล็กๆ โบสถ์เล็กๆ มีกุฏิเล็กๆ ไม่โปรดให้สร้างวัดขนาดใหญ่และให้ใช้งบประมาณไม่ควรเงิน 10 ล้านบาท

น.อ.เอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตนกรรม สถาปนิก 10 กรมศิลปากร อดีตอธิบดีกรมศิลปากร จึงออกแบบพระอุโบสถใหม่อีกครั้ง โดยเน้นการใช้ประโยชน์ในอาคารอย่างคุ้มค่า วัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นของที่ผลิตในประเทศ สร้างเอกลักษณ์เฉพาะด้วนการให้ความสำคัญกับสถาปัตนกรรมในแบบปัจจุบัน ผสมสานรูปแบบสถา M32321304 ปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โครงสร้างพระอุโบสถเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้นปิดทองเฉพาะส่วนของตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชฯ รัชกาลที่ 9 ช่อฟ้า ใบระกาเป็นลายปูนปั้นไม่ปิดทองประดับกระจก ผนังและเสาก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก เพดานพระอุโบสถเป็นเพดานไม้แบบเรียบ ฝังไฟเป็นระยะ ในส่วนโคมไฟแนวกลางเดิมออกแบบเป็นโคมหวดหรืออัจกลับแบบเรียบ ซึ่งต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายโคมระย้าเป็นพุทธบูชาประดับไว้แทนรวม 4 ช่อ

นอกจากนั้นลักษณะที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของพระอุโบสถแห่งนี้คือ “คาถาเยธมฺมาฯ” ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโปรดเกล้าให้จารึกไว้เหนือประตูทางเข้า โดยใช้อักษรอริยกะ ซึ่งเป็นอักษรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงประดิษฐ์ขึ้น คาถานี้เป็นที่นิยมในดินแดนไทยปัจจุบันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ปัจจุบันปรากฏในโบราณวัตถุสมัยทวารวดีหลายชิ้น ซึ่งคาถาเยธมฺมาฯ สามารถแปลได้ดังนี้

“พระมหาสมณเจ้าทรงมีพระวาทะอย่างนี้ คือ
ตรัสธรรมที่มีเหตุเป็นแดนเกิด
อนึ่ง ตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น
ตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น
และตรัสอุบายเป็นเหตุดับ (ของธรรมเหล่านั้น)

“พระพุทธกาญจนธรรมสถิต” พระประธานประจำพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัยลักษณะกึ่งจริง ตามแนวพุทธศิลป์สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 มีลักษณะผสมผสานระหว่างความเป็นอุดมคติและความเหมือนจริงที่ได้หลอมรวมความงดงามประณีตและกลมกลืนอย่างหาที่สุดไม่ได้

ความเรียบง่ายที่ประสบแก่สายตาอย่างเด่นชัดได้ผสานความอบอุ่นและการผนึกพลังในชุมชนอย่างแข็งแกร่งโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้โครงการพระราชดำริและสิ่งประดิษฐ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชฯ ฉบับย่อ อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนา พลังงานแสงอาทิตย์ และการอยู่ร่วมกับสังคมแบบพอเพียง พระราชญาณกวีกล่าวเพิ่มเติมว่า พระสงฆ์รวม 12 รูปของวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก และชุมชน ต่างร่วมกันให้และรับอาหารกาย อาหารสมอง และอาหารใจ ในทุกวัน ทุกเช้าพุทธศาสนิกชนร่วมกันตักบาตรทำบุญถวายอาหารกายแก่พระภิกษุสงฆ์ ต่อมาพระสงฆ์ก็ให้อาหารสมองแก่เยาวชนด้วยการเข้าไปสอนวิชาพระพุทธศาสนาให้แก่นักเรียนในโรงเรียนวัดพระราม ๙ฯ และโรงเรียนในเครือสิงหเสนี พร้อมให้อาหารใจและพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าด้วยให้ธรรมะผ่านการเทศนาธรรมและการปฏิบัติธรรมให้ถึงพร้อมและร่วมสืบสานแก่นของพระพุทธศาสนาให้อยู่เคียงคู่สังคมไทยสืบไป

เนื่องในวโรกาสอันสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย พระราชญาณกวีกล่าวว่า วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ได้จัดพิธีบรรพชาอุปสมบท น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ 89 รูป รวม 15 รุ่น รุ่นละ 15 วัน รวมแล้วมากกว่า 1,335รูป ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา - เดือนธันวาคม 2560 พุทธศาสนิกชนที่สนใจสามารถร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพการอุปสมบท “บวชเพื่อพ่อ” รูปละ 8,900 บาท ที่วัดพระราม ๙กาญจนาภิเษก ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธรรมสถานเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๙ โทร. 0-2719-7676

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559