ธรรมราชา

27 พ.ย. 2559 | 00:00 น.
"...พระพุทธศาสนานั้น หากหมายถึงคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ๆ ย่อมมี ความแน่นอนมั่นคง เพราะคำสอนของพระบรมศาสดา เป็นธรรม คือ หลักความจริงที่คง ความจริงอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ไม่มีแปรผัน..."
ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานแก่ผู้เข้าประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ ประเทศเนปาล วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาแต่โบราณกาล ถือได้ว่าพุทธศาสนาเป็นกลไกสำคัญในการจรรโลงสังคมไทยและคำสอนในพระศาสนาคือแรงพระราชหฤทัยแก่พระมหากษัตริย์ไทยมาหลายยุคหลายสมัยในการเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภกตามราชประเพณีไทย กล่าวได้คือ เมื่อชายไทยอายุครบกำหนดบวช ก็มักจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษาและเผยแพร่พระธรรมวินัย รวมทั้งอบรมนิสัยของตนให้เป็นผู้ที่อยู่ในศีลธรรมอันดี และนัยยะสำคัญคือการสนองพระคุณบุพการีอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีของชนชาติไทยสืบมา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง และเพื่อให้ต้นแบบสำหรับชายไทยทุกคน พระองค์จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณีในปี พ.ศ.2499 โดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระสนองพระเดชพระคุณในการทรงผนวชในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

ใจความตอนหนึ่งของหนังสือ “คือรักแห่งราชัน มิ่งขวัญคู่แผ่นดิน” โดย โรม บุนนาค กล่าวถึงการผนวชของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ใจความตอนหนึ่งว่า “ในปี 2499 กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่ทรงนิยมนับถือโดยวิสาสะอันสนิท และถือว่ามีคุณูปการส่วนพระองค์มามาก ได้ประชวรอย่างหนัก พระอาการเป็นที่น่าวิตกจนแทบไม่มีหวัง แต่เดชะบุญได้หายประชวรอย่างน่าอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จึงทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าได้ทรงผนวชโดยสมเด็จฯกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นพระอุปัชฌาชย์แล้วจะเป็นที่สมพระราชประสงค์ ในอันที่จะได้แสดงพระราชคารวะและศรัทธาในพระองค์ท่านเป็นอย่างดี จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงผนวช เพื่อทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณภายในปีนี้”

M29321302 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงกำหนดวันผนวชคือ 22 ตุลาคม 2499 และทรงลาผนวชในวันที่ 5 พฤศจิกายน และจะจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศฯ นี้ซึ่งเดิมมีสภาพเก่าแก่ จึงต้องมีการซ่อมแซมเป็นอันมาก พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซ่อมและแปลงบริเวณที่จะประทับ สมเด็จพระราชชนนีทรงพระราชศรัทธาซ่อมตำหนักเพชร พระตำหนักจันทร์หน้าที่ประทับ รัฐบาลซ่อมพระตำหนักปั้นหยาตลอดจนพระอุโบสถและบริเวณพระอุโบสถ ทั้งการไฟฟ้าและสุขาภิบาลทั่วพระอาราม มหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งนี้ได้ทำการเป็นเร่งด่วน

ครั้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ และทูตานุทูต ไปเข้าเฝ้าฯพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นมหาสมาคม เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกผนวช ความว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ตลอดจนคณะทูตานุทูตต่างประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบรรดาข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ได้มาร่วมชุมนุมกันในมหาสมาคมนี้ จึงขอแถลงดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทในพระศาสนาให้ทราบ”

ใจความตอนหนึ่งของหนังสือ “คือรักแห่งราชัน มิ่งขวัญคู่แผ่นดิน” กล่าวถึงการทรงแถลงพระราชดำริเสด็จออกผนวช ความว่า “โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมด้วย อุปสมบทของข้าพเจ้าด้วยความตั้งใจดี ขอบใจทุกท่านที่มีส่วนช่วยให้การนี้ได้เป็นไปตามประสงค์ ทั้งขอขอบใจทุกๆ ท่านที่แสดงความปราถนาดีมาร่วมประชุมกันในที่นี้ ขอจงได้รับส่วนกุศลอันจักพึงมีจากการที่ข้าพเจ้าบรรพชาอุปสมบทครั้งนี้โดยทั่วกัน ขอคุณพระศรีรัตนตรัย จงคุ้มครองท่านทั้งปวง ให้มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองด้วยเทอญ”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงประกอบพิธีอุปสมบทผนวชที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาย์ สมเด็จพระวนรัตน์ วัดเบญจมบพิตร เป็นพระอนุศาสนาจารย์ และพระศาสนโสภณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระสงฆ์นั่งหัตถบาส รวม 30 รูป ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ” อันมีความหมายว่า พระภิกขุผู้เป็นกำลัง หรือพลังแห่งแผ่นดิน

ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยอย่างเคร่งครัด อาทิ การทรงปฏิบัติกิจวัตรต่างๆอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งเมื่อเสด็จฯไปทั้งในวัดและนอกวัดจะไม่ทรงฉลองพระบาท เสด็จฯไปด้วยพระบาทเปล่าทุกแห่ง หนึ่งในนั้นเป็นกิจสำคัญของสงฆ์คือการออกบิณฑบาตจากประชาชน ถือเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้บำเพ็ญบุญในการทรงผนวช จึงได้เสด็จฯพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อทรงรับบิณฑบาตโปรดพระบรมวงศานุวงศ์ และเสด็จฯพระราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อโปรดคณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

พระราชกิจสำคัญอีกประการคือการทรงร่วมกฐินกรรมในพระราชพิธีพระกฐินหลวง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จฯพระราชดำเนิน และทรงชักผ้าป่าที่ไวยาวัจกรจัดถวาย รวมทั้งเสด็จฯพระราชดำเนินไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเพื่อทรงมนัสการพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นพระบรมวงศ์พระองค์แรกที่ทรงผนวชจนทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธชินราชในพระอุโบสถ และทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช เสด็จพระราชดำเนินไปวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อทรงสักการะพระอัฐิพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังอนุสรณ์รังษีวัฒนา ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชชนกกรมหลวงสงขลานครินทร์ และเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากนั้นเมื่อเวลา 10.15 น.วันที่ 5 พฤศจิกายนในปีดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงทำพิธีลาพระผนวช ถือได้ว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่ทรงพระผนวชในขณะดำรงสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพุทธศาสนิกชนอย่างสมบูรณ์ สนองพระเดชพระคุณพระบรมราชบุรพการีและที่สำคัญเป็นการสืบทอดราชประเพณีจากสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช เป็นพระราชกรณียกิจที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยชื่นชมและทวีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างหาที่สุดไม่ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559