รู้จักเว่ยฟาง Food Valley สุดทันสมัยของจีน

27 พ.ย. 2559 | 07:00 น.
ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) หรือเกือบ 40 ปีต่อจากนี้ จำนวนประชากรโลกจะพุ่งไปถึง 9,600 ล้านคน เพิ่มขึ้นอีกราว ๆ 2,400 ล้านคนจากปัจจุบัน จำนวนประชากรที่สูงขึ้นย่อมหมายถึงความต้องการใน การบริโภคอาหารที่มากขึ้นอีกเกินเท่าตัว ความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) จึงกลายเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศทั่วโลกรวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างจีน

จีนในฐานะผู้ผลิตอาหาร 40% ของโลก ไม่ได้รอช้าที่จะปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อปี 2555 รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณกว่า 4,000 ล้านหยวน หรือ กว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโครงการ “China Food Valley” ในเขตพื้นที่เมืองเว่ยฟาง ให้เป็นเขตผลิตทรัพยากรด้านอาหารและการเกษตรที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

เว่ยฟางตั้งอยู่ในมณฑลซานตง มณฑลชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ห่างจากกรุงปักกิ่งประมาณ 6 ชั่วโมงโดยรถยนต์ ซานตงมีจุดเด่นด้านที่ตั้งและ ยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของจีนด้วย

เว่ยฟางเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในซานตง ในปี 2558 GDP รวมของเว่ยฟาง มีมูลค่า 517,000 ล้านหยวน หรือกว่า 2.6 ล้านล้านบาท อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 8.3% เมื่อปี 2552 เว่ยฟางได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 เมืองที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมมากที่สุดของจีน และได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองปฏิรูปเกษตรกรรมสมัยใหม่และแหล่งอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัยที่สำคัญของประเทศ

เว่ยฟางได้รับเลือกจากรัฐบาลจีนให้เป็นที่ตั้ง China Food Valley และจะกลายเป็นกุญแจสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของจีนและของโลก ทุกวันนี้ เว่ยฟางผลิตไก่และเนื้อ 1 ใน 3 ที่จีนส่งออกและผลิตผัก 1 ใน 10 ที่จีนส่งออก
China Food Valley เมืองเว่ยฟาง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 60 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยศูนย์นวัตกรรมเกษตรและอาหารสมัยใหม่ อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกลเพื่อผลิตและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมอาหารสะอาดและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค โรงเก็บรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ โรงคัดแยกสินค้าและส่งออก ศูนย์แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการพัฒนาความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรโดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จากทั่วโลกอย่างเช่นศูนย์นวัตกรรมเกษตจีน-สหรัฐฯ ที่ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ร่วมกับรัฐบาลเมืองเว่ยฟาง อาหารที่ผลิตในเว่ยฟางส่งออกไปยัง 20 ประเทศทั่วโลก ทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รวมถึงอียู สะท้อนถึงศักยภาพของ Food Valley ที่เว่ยฟางก้าวข้ามผ่านมาตรฐานอาหารที่สูงลิ่วในประเทศเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

การจัดตั้ง Food Valley ขนาดใหญ่ที่เมืองเว่ยฟางเป็นอีกก้าวสำคัญของจีนในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการพัฒนาระบบผลิตอาหารและสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากร ศักยภาพของ China Food Valley อยู่ที่การบูรณาการปัจจัยการผลิตอย่างครบวงจร ทั้งแหล่งเงินทุน นวัตกรรม การทำแบรนด์สินค้า และระบบโลจิสติกส์ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ผู้ประกอบการไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่งออกสินค้าสหกรณ์ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเกษตรและอาหาร ย่อมรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อของ China Food Valley เมืองเว่ยฟางเป็นอย่างดี เมื่อปี 2554 กรมส่งเสริมสหกรณ์เคยจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์หรือศูนย์ CDC (Cooperative Distribution Center) ที่เมืองเว่ยฟาง เพื่อกระจายสินค้าของสมาชิกสหกรณ์ไทย เช่น ข้าวสาร ยางพารา นม กาแฟ อาหารแปรรูป เครื่องจักรสาน เมล็ดพันธุ์คุณภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ไปป้อนตลาดจีนตอนเหนือและตอนกลาง นับว่าเป็นโครงการนำร่อง และเป็นก้าวสำคัญในการพาสินค้ามาตรฐานสหกรณ์ไทยไปสู่ตลาดใหญ่ของจีน รวมทั้งเป็นใบเบิกทางในการกระจายสินค้าสหกรณ์ไทยไปสู่ตลาดสากล

ไทยเองก็กำลังมีนโยบายจัดตั้งเมืองเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และการจัดตั้ง Food Valley ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสานเพื่อตอบโจทย์ประเทศที่กำลังมุ่งสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยดูตัวอย่างโมเดลทางฝั่งตะวันตกอย่างเนเธอร์แลนด์เป็นแม่แบบ แต่บางทีอาจไม่ต้องไปไกลถึงยุโรป เว่ยฟางอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งในเอเชียที่ไทยควรไปศึกษาและหาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ต่างจังหวัดของไทยให้เป็นแหล่งผลิตอาหารอย่างมีนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,212 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2559