จากรากแก้วบนขุนเขาที่หนาวเหน็บ สู่โครงการหลวง เมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ

27 พ.ย. 2559 | 02:00 น.
ณ ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” เริ่มต้นการดำเนินงานโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโดยตรง มีเพียงแต่คณะทำงานซึ่งเป็นอาสาสมัครจากคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และหน่วยราชการ เพื่อเยี่ยมเยียนชาวเขาในหมู่บ้านต่างๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ ด้วยการให้คำแนะนำและสาธิตการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ

สำหรับงานบนพื้นที่สูง ผู้ปฏิบัติงานในโครงการหลวงทุกคนได้ยึดถือหลักการพระราชทาน ซึ่งง่าย สั้น และตรงจุด มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันคือ 1.ลดขั้นตอน 2.เร็วๆ เข้า 3.ช่วยเขาให้ช่วยตัวเอง 4.ปิดทองหลังพระ จากหลักการที่พระราชทานนี้ทำให้เกิดการสร้างวิธีการที่สำคัญขึ้น เพื่อใช้ในการปฏิบัติในงานของโครงการหลวงคือ วิธีสร้างการประสานงานและความร่วมมือ วิธีสร้างการบุกเบิกและทดสอบสิ่งใหม่ๆ วิธีสร้างการกำหนดทางเลือก รวมทั้งวิธีการสร้างจิตสำนึกของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นที่สูง

MP31-3211-a จากนั้นในปี พ.ศ.2513 ม.จ.ภีศเดช รัชนี เสด็จไปยังสาธารณรัฐจีนไต้หวัน และสนพระทัยงานการปลูกพืชเขตหนาวของฟาร์ม ฟู ซู ซาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านบนภูเขา เป็นอย่างมาก ซึ่งถัดมาในเดือนสิงหาคมปีดังกล่าวคณะกรรมการส่งเสริมอาชีพทหารผ่านศึกได้จัดส่งนายซุง ซิง หยุน รองผู้จัดการฟาร์ม ฟู ซู ซาน เดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาสภาพพื้นที่โครงการหลวง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างโครงการหลวงและไต้หวัน และได้ให้การสนับสนุน พันธุ์พืชชนิดต่างๆ ได้แก่ สาลี่ ท้อ บ๊วย พลัม พลับ วอลนัท เห็ดหอม เห็ดหูหนู ตังกุย เก็กฮวย ดอกไม้จีน ไม้โตเร็ว และเมล็ดพันธุ์ผักชนิดต่างๆ อีกทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาปฏิบัติงานในโครงการหลวงทุกปี รวมทั้งสนับสนุนให้คณะอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่โครงการหลวง ไปศึกษาดูงานและฝึกงานที่ฟาร์ม ฟู ซู ซาน และสถานีบนภูเขาของไต้หวัน

MP32-3211-c ไม่เพียงเท่านั้นในปี พ.ศ.2516 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ( USDA/ARS) ได้ให้การสนับสนุนทุนแก่โครงการหลวงในการวิจัยการเกษตรบนที่สูง ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ด้านวิชาการเกษตรแก่อาสาสมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยเพื่อหาชนิดและพันธุ์พืชที่เหมาะสมต่อการปลูกบนพื้นที่สูง ตลอดจนการปฏิบัติรักษามิติอื่นๆ อาทิ เช่น ไม้ผลเขตหนาว การเลี้ยงครั่ง กาแฟอราบิก้า ชา ไม้ตัดดอก สตรอเบอรี่ ระบบการปลูกพืช การเพาะเห็ดหอม ไหมป่า พืชย้อมสี การอนุรักษ์ดิน การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง การผสมพันธุ์และการผลิตหอมหัวใหญ่ พืชผักเขตหนาว ธัญพืช สมุนไพร เฟิร์นแห้ง เก๊กฮวย พืชน้ำมันเพื่อการอุตสาหกรรม การใช้น้ำอย่างประหยัด การปรับปรุงและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และการควบคุมวัชพืช

MP31-3211-d สภาพป่าไม้ที่ถูกรุกราน ก่อเกิดเป็นความแห้งแล้งทั้งแม่น้ำ ลำธาร รวมทั้งการปลูกพันธุ์พืชที่ผิดกฏหมาย ทำลายทั้งธรรมชาติและสภาพการเป็นอยู่ของมนุษย์ ก่อเกิดปัญหาและความเสียหายต่อประเทศ แต่ด้วยน้ำพระทัยของพระราชหฤทัยในการพัฒนาชนบทและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเสมือนน้ำทิพย์จากฟากฟ้า ที่พร่างพรมลงมาดับทุกข์ของผู้คน แมกไม้ และขุนเขา ในรูปของ โครงการหลวง ที่เป็นเหมือนความหวังของทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งเหมือนความหวังของทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งท่ามกลางขุนเขาแห่งนี้

“แก้ปัญหาโดยไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต” ม.จ.ภีศเดช รัชนี เล่าต่ออีกว่า เหตุผลที่ต้องส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกไม้ผลเป็นพืชทดแทนฝินนั้น เนื่องมาจากงานวิจัยของโครงการหลวง มีความมุ่งหมายที่จะแก้ไขเรื่องต่างๆควบคู่ไปด้วยอย่างสมดุล อาทิ การปลูกไม้ยืนต้นจำพวก กาแฟ ต้นนัท (เกาลัด มะคาเดเมียนัท วอลนัทหรือมันฮ่อ) เพื่อมุ่งหวังให้ชาวเขาทำมาหากินอยู่กับที่ เลิกการทำไร่เลื่อนลอยส่งผลระยะยาวในการหยุดยั้งการทำลายป่าลงได้ ยิ่งไปกว่านั้นไม้ยืนต้นดังกล่าวยังเสริมคุณประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์ดิน น้ำ และนัยยะสำคัญคือการทนแทนป่าไม้

MP30-3211-d อย่างไรก็ดีจากการทดลองในเรื่องไม้ผลยืนต้นดังกล่าวนี้ ทางโครงการหลวงสามารถต่อยอดและแตกแขนงองค์ความรู้ในหาพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาวหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น ถั่วแดงหลวง ในปี พ.ศ.2514 ม.จ.ภีศเดช รัชนี ได้สั่งเมล็ดพันธุ์ถั่วแดงจากบริษัท Dessert Seed ในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยพันธุ์ darkled redcoat และ maintop อีกทั้งยังนำถั่วไลมาและถั่วปิ่นโตส่งไปทดสอบตามดอยต่างๆ ปรากฎว่าได้ผลดีที่แม่โถ บ้านวังดิน ผาหมี สะโมง และดอยงาม เติบโตเป็นพืชสำคัญในโครงการต่างๆ ซึ่งถั่วแดงหลวงนั้นกลายเป็นพืชหลักในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เพราะปลูกง่าย ขนส่งผลผลิตสะดวก

MP30-3211-c สำหรับสตรอเบอรี่นั้น ในปี พ.ศ.2515 โครงการหลวงได้นำพันธุ์สตรอเบอรี่จากต่างประเทศมาทดลองปลูกประมาณ 40 พันธุ์ และดำเนินการวิจัย คิดค้น และคัดเก็บไว้ 2 พันธุ์ เพื่อนำไปให้ชาวบ้านทดลองปลูก โดยพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมในขณะนั้น คือ พันธุ์พระราชทานเบอร์ 16 ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์สตรอเบอรีเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย รวมถึงการศึกษาการปฏิบัติรักษาที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันโครงการหลวงได้มีการส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่งอนและดอยอ่างขางปลูกสตรอว์เบอร์รี่เพื่อจัดจำหน่ายทั้งแปรรูปและผลิตภัณฑ์สด ซึ่งพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่นิยมนำมาแปรรูปได้แก่ พันธุ์ 329 เป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่ รสชาติเปรี้ยว ขณะเดียวกันสำหรับพันธุ์ 80 เหมาะสำหรับทานสดๆ มีความหอม หวาน กลิ่นสดชื่นและแต่ละลูกมีขนาดพอดีกับการรับประทาน

ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่งอนและดอยอ่าง เล่าว่า การได้รับองค์ความรู้จากมูลนิธิโครงการหลวงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในแง่ของการประกอบอาชีพ ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของแต่ละครอบครัวได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างไรก็ดีสำหรับฤดูการของการปลูกสตรอว์เบอร์รี่นั้นจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม หลังจากนั้นในเดือน มกราคม – มีนาคม คือระยะเก็บเกี่ยว และช่วงเวลาที่เหลือคือการปรับปรุงคุณภาพดินให้พร้อมต่อการปลูกในฤดูกาลใหม่ต่อไป

นอกจากนี้นักวิชาการมูลนิธิโครงการหลวงเล่าว่า เหตุผลที่ต้องสนับสนุนให้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ทั้ง 2 สายพันธุ์ นั้น เนื่องจากต้องการศึกษา ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น วัชรพืช สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภค และเก็บผลวิจัยพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่จากหลากหลายภูมิประเทศ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรต่อไป และด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มูลนิธิโครงการหลวงได้ปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จนได้สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน 88 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์พระราชทาน 60 โดดเด่นในเรื่องของรสชาติที่มีความหวาน ผลมีลักษณะทรงกรวยและปลายแหลม ผิวสีแดงสดน่ารับประทาน ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร โดยคาดว่าจะขยายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ดังกล่าวและส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในปีฤดูปลูก พ.ศ.2559 – 2560

นอกจากถั่วแดงหลวงและสตรอเบอรี่ส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาอาชีพของชาวเขา คือ กาแฟอราบิก้า โดยในปี พ.ศ.2515 ม.จ.ภีศเดช รัชนี ได้มอบให้นักวิจัยศึกษาและปลูกกาแฟอราบิก้าในพื้นที่โครงการหลวง ผลปรากฏว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดี จึงได้ต่อยอดศึกษาพันธุ์กาแฟอราบิกาต้านทานโรคราสนิม รวมถึงศึกษาด้านการปฏิบัติรักษาการปลูกกาแฟอราบิก้าด้านต่างๆ จากนั้นในปี พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรต้นกาแฟอราบิก้าที่ ปลูกโดยเกษตรชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงบ้านหนองหล่ม ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เป็นครั้งแรก ถือได้ว่าเป็นขวัญและกำลังใจที่สำคัญต่องานวิจัยและพัฒนาการปลูกกาแฟอราบิก้าของประเทศจวบจนถึงปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้นสำหรับพืชผักเขตหนาว ในฤดูปลูกปี พ.ศ. 2524 โครงการหลวงได้เริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักเขตหนาวที่โครงการ หลวงแม่แฮ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น พืชผักชนิดต่างๆ ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหางหงส์ และแครอท ปรากฏว่าปลูกได้ผลดี ทำให้มีผู้นิยมปลูกผักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับไม้ผลเขตหนาว โดยชนิดและพันธุ์ไม้ผลเขตหนาว ไม้ผลกึ่งหนาว และไม้ผลขนาดเล็กชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับการปลูกบนพื้นที่สูงของประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วย เช่น พีช สาลี พลับ พลัม บ๊วย อโวกาโด กีวีฟรุต เสาวรส ซึ่งสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับไม้ตัดดอกและไม้ประดับ โครงการหลวงได้ดำเนินวิจัยและได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยได้นำไม้ตัดดอกชนิดต่างๆมาทดลองปลูก อาทิ คาร์เนชัน เบญจมาศ แกลดิโอรัส ซิมบิเดียม

นอกจากไม้ยืนต้นและพืชอายุสั้นอย่างเช่นถั่วแดงหลวงกับสตรอเบอรี่ ทางโครงการหลวงยังพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ เพื่อหารายได้และสร้างความมั่นคง เช่น งานหัตถกรรม การเลี้ยงสัตว์ การปลูกเห็ดเมืองหนาว โดยมีทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพเข้ามาให้คำแนะนำเพิ่มเติม จะเห็นได้ว่าถ้าเราสามารถจัดการให้ชาวเขามีการปลูกไม้ผลยืนต้นเป็นพืชหลัก และพาพืชอายุสั้นอื่นๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นให้ปลูกได้ตลอดปี โดยอาจมีงานพิเศษเสริมผนวกเข้าไปด้วย เป็นดั่งการวางรากแก้วที่สำคัญในการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีกว่าการปลูกฝิ่นอย่างแท้จริง ดังเช่นกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในโอกาสที่ผู้อำนวยการโครงการหลวงนำคณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าถวายเงิน เพื่อพระราชทานแก่โครงการหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2534 ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ MP31-3211-b

"โครงการหลวงนี้ ก็เริ่มต้นด้วยกิจการเล็ก ๆ น้อยๆ และได้ขยายขึ้นมาด้วยการสนับสนุนของทางราชการ และทางเอกชนร่วมกัน ซึ่งส่วนมากงานแบบนี้จะทำได้ลำบากเพราะว่าถ้าเป็นส่วนราชการ ก็จะต้องทำตามระเบียบราชการ ซึ่งล่าช้าไม่ทันการ ถ้าเป็นภาคเอกชนก็อาจไม่มีกำลังพอ การร่วมกันจึงเป็นวิธีที่ทำให้เกิดผล ผลนั้นก็ดังที่ท่านทุกคนได้เห็นประจักษ์แล้ว ทำให้คนในภาคเหนือนี้ ทั้งผู้ที่อยู่บนภูเขา ทั้งที่อยู่ในที่ราบ ได้รับการสนับสนุนและสงเคราะห์ช่วยให้พัฒนาตัวเองขึ้นมา โดยทำให้สิ่งที่เป็นปัญหาลดลงไป สิ่งที่วัตถุดิบของยาเสพย์ติด ซึ่งโครงการหลวงก็สามารถลดจำนวนของยาเสพย์ติดนี้ลงไปอย่างเห็นได้ชัด และนอกจากนี้ก็ได้ลดภัยของความเข้าใจผิดของความเข้าใจผิดในระหว่าง ประชาชนบนภูเขา และประชาชนในที่ราบ ทำให้มีความร่วมมืออย่างดี ทั้งทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมดนี้ มีฐานะดีขึ้น เป็นผลให้ประเทศมีความเจริญเป็นส่วนรวม และมีความปลอดภัยมั่นคงในที่สุด"

การดำเนินงานระยะนี้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวเขาหันมาปลูกพืชทดแทนฝิ่น ประกอบอาชีพด้านการเกษตรที่มั่นคง ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามสมควรการให้ความช่วยเหลือพสกนิกร ซึ่งเป็นชาวเขาที่เคยดำรงชีวิตยากไร้บนดอยสูงจากการปลูกฝิ่น ที่เป็นยาเสพติดร้ายแรงของชาวโลก เช่นนี้ได้ล่วงรู้ ไปไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลก ในหลายต่อหลายประเทศ โดยผ่านทั้งทางเอกอัครราชทูตและสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากความช่วยเหลือของนานามิตรประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเยอรมันตะวันตก ออสเตรเลีย อิสราเอล และเนเธอร์แลนด์ ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดผลงานของโครงการ ก็ได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในบรรดาประเทศต่างๆ ว่าเป็นการร่วมมือกำจัดพืชเสพติด โดยสันติวิธีเป็นโครงการสร้างสรรค์และส่งเสริมความเข้าใจ อันดีระหว่างประเทศจึงได้รับ “รางวัลแมกไซไซ” ในสาขา INTERNATIONAL UNDERSTANDING เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2531ดังแสดงให้เห็นในตอนท้ายของคำประกาศเกียรติคุณว่า

เห็นได้ชัดว่าพื้นที่ดำเนินการของโครงการหลวงส่วนใหญ่ จะอยู่ในเขตภาคเหนือ เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยภูเขา ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้อยู่ดี กินดี เลิกการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย อีกทั้งยังทรงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารบริเวณป่าเขา เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตที่ลุ่มด้านล่าง ซึ่งการพัฒนาต่างๆ กว่าจะเกิดผล ล้วนแต่กินเวลานานนับสิบปี ซึ่งชาวไทยภูเขาเหล่านี้ ได้มีความจงรักภักดีในพระองค์ท่าน พร้อมทั้งเรียกขานพระองค์ท่านว่า "พ่อหลวง” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า "แม่หลวง” รวมถึงเรียกโครงการของทั้งสองพระองค์ว่า "โครงการหลวง”เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย

MP30-3211-b จากการเสด็จประพาสภาคเหนือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถในปี พ.ศ.2512 ที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากการก่อตั้งโครงการหลวงและพัฒนาพื้นที่ทำกินให้กับชนเผ่าต่างๆให้มีความอยู่ดี มีสุข บนกรอบพื้นฐานความสุจริตที่สามารถผลิตพืชพรรณไม้เขตเมืองหนาวให้ผลิดอกออกผลสร้างเป็นรายได้และคงความสมบูรณ์ต่างๆคืนผืนป่าควบคู่กันไป อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาต่างๆยังคงเข้ามาเป็นบททดสอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การจำหน่ายผลิตผลทางเกษตรที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางโดยถูกกดราคาและได้รับความเสียเปรียบเป็นอย่างมาก

น้ำพระราชหฤทัยจากหยาดฟ้าไหลรินลงมาทั่วแผ่นดินทุกหนแห่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชดำริ จัดตั้งสหกรณ์ชาวเขาและโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ 1 ขึ้นในปี พ.ศ.2515 ที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยในการพยุงราคาผลผลิตและการป้องกันการเอาเปรียบในด้านต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และต่อมาได้มีการสร้างโรงงานอาหารสำเร็จรูปอีก 2 แห่ง คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งงานหลักของโรงงานคือการแปรรูปผลไม้ โดยเริ่มจากการแปรรูปสตรอเบอรี่ เพื่อช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่ดีขึ้น ซึ่งมีศาสตรจารย์อมร ภูมิรัตน์ ในนามสถาบันค้นคว้าและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และภาควิชาคณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ปรึกษาในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ดำเนินการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหม่อนเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานโครงการฯในขณะนั้น

จนกระทั่งต่อมาในปี พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดตั้งนิติบุคคลขึ้นในนาม บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (Doi Kham Food Products Co.,Ltd.) เพื่อความสะดวกและไม่เอารัดเอาเปรียบในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ โดยรองรับผลผลิตของมูลนิธิโครงการหลวงและเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ทั้ง 3 แห่ง เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพภายใต้ชื่อตราผลิตภัณฑ์ ดอยคำ

คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าว่า คำว่า “ดอยคำ มีนัยยะความหมายที่ลึกซึ้งคือ ดอยแห่งทองคำ” มุ่งสร้างสรรค์ผลผลิตทางเกษตรของเกษตรกรให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล โดยผลิตภัณฑ์ดอยคำในปัจจุบัน เพียบพร้อมไปด้วย เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทาขนมแป้ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลไม้กระป๋อง ผลไม้อบแห้ง ผลิตภัณฑ์ข้าวและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ

ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากเกษตรกรที่ผ่านการเรียนรู้ในโครงการหลวง เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและความสดใหม่ ที่สำคัญการันตรีด้วยรางวัล 2 ดาวทองคำ ใน 2 ผลิตภัณฑ์ คือ น้ำมะม่วง “ดอยคำ” และ น้ำมะเขือเทศ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ “ดอยคำ” จากสถาบันรับรองรสชาติอาหารและเครื่องดื่ม (International Taste & Quality Institute :ITQI) ที่ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งรางวัลดังกล่าว เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ถือเป็นการยืนยันว่ารสชาติของผลิตภัณฑ์ทั้งสองของ “ดอยคำ” เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีราคาที่จับต้องได้สำหรับคนไทย เพื่อคนไทย สอดคล้องกับแนวคิดในการดำเนินงานที่ว่า “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย”

ดอยคำเป็นธุรกิจเพื่อสังคม มุ่งสร้างและบริหารกำไรเพื่อตอบแทนสังคมในทุกมิติ มุ่งเน้นผนวกกับการมุ่งปฏิบัติในการนำเอา ความมั่นคง ความยั่งยืน และความพอเพียง มาปรับใช้โดยมีภูมิคุ้มกันต่างๆ ในแง่ของหลักคิด วิธีการดำเนินงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ดูแลสภาพสังคม และพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้มีการรักษาป่า ต้นน้ำลำธาร บนพื้นที่ภูเขาสูงของประเทศ โดยได้ตระหนักเป็นอย่างดี และได้ปรับปรุงวิธีการผลิตไม้ผล โดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายในการกำจัดแมลงและโรคที่เป็นศัตรูพืชผ่านการแนะนำและสร้างองค์ความรู้ อาทิ โครงการหลวงได้แนะนำให้เกษตรกรชาวเขา ห่อผลไม้ตั้งแต่ผลยังเล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงทำลาย จึงทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงพ่น เหมือนกับการผลิตไม้ผลเมืองหนาวทั่วๆ ไปในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้ชาวเขาทำปุ๋ยหมัก ปู่ยพืชสด ใช้เอง โดยใช้มูลสัตว์ และเศษพืชในท้องที่เป็นการลดการใช้ปุ๋ยเคมี ถือได้ว่าผลผลิตของโครงการหลวงนั้นเป็นผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างอย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559