สิงคโปร์เปิดศูนย์ฟินเทคโลก ปฏิวัติระบบเข้าสู่ยุคเงินดิจิตอลก่อนใครในอาเซียน

25 พ.ย. 2559 | 03:00 น.
ธนาคารกลางสิงคโปร์เตรียมปฏิวัติระบบการเงินในประเทศเข้าสู่ยุคเงินดิจิตอลก่อนใคร ปูฐานขั้นต้นดันโครงการนำร่องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับการชำระเงินระหว่างธนาคารสำหรับธุรกรรมระหว่างตลาดหุ้นและธนาคาร 8 แห่ง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าธนาคารชาติสิงคโปร์เร่งพัฒนาระบบการเงินเข้าสู่ยุคเงินดิจิตอลโดยการเปิดตัวโครงการนำร่องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับการชำระเงินในระบบอินเตอร์แบงก์ร่วมกับตลาดหุ้นและธนาคาร 8 แห่งคือธนาคารแบงก์ออฟอเมริกาเมอร์ริลลินช์ แบงก์ออฟโตเกียว-มิตชูบิชิยูเอฟจี เครดิตสวิส ดีบีเอสแบงก์ ฮ่องกงแอนด์เซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ป เจพีมอร์แกน โอซีบีซีแบงก์ และยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์แบงก์

นายราวี เมนอน กรรมการผู้จัดการสำนักการเงินแห่งสิงคโปร์-เอ็มเอเอส (Monetary Authority of Singapore-MAS) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแบงก์ชาติของสิงคโปร์ประกาศในงานสิงคโปร์ฟินเทคเฟสติวัลจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า โครงการนำร่องของธนาคารชาติสิงคโปร์ ได้รับการสนับสนุนจากแล็บของเครือข่ายบล็อกเชนกลุ่ม R3 และบริษัทบีซีเอสอินฟอร์เมชันซิสเต็มส์ฯ

นายเมนอน กล่าวว่าในโครงการนำร่องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการชำระเงินในระบบอินเตอร์แบงก์นั้น ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจะฝากเงินสดไว้กับเอ็มเอเอสเพื่อแลกกับเงินดิจิตอลที่ออกโดยเอ็มเอเอสให้กับธนาคารในมูลค่าที่เท่ากัน

เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นระบบซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานสูตรการคำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อสนับสนุนเงินบิทคอยน์ ซึ่งเป็นเงินดิจิตอลสกุลแรก ๆ ที่เกิดขึ้นโดยนักเทคโนโลยีที่ใช้นามแฝงซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเป็นใคร โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวช่วยจัดการธุรกรรมของมูลค่าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบการบันทึกบัญชี ในเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของมูลค่าดังกล่าวผ่านเครือข่ายที่มีการรักษาความปลอดภัยได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องให้สถาบันหรือบุคคลที่ 3 ยืนยันความถูกต้องและการมีอยู่จริงของมูลค่าหรือเงินดังกล่าว

นายเมนอน กล่าวว่าในเฟสที่ 2 ต่อจากการใช้บล็อกเชนสำหรับการชำระเงินในระบบอินเตอร์แบงก์ระหว่าง 8 ธนาคารและตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ คือการขยายเข้าสู่ธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากธนาคารชาติประเทศอื่นด้วยเพื่อให้สามารถทำได้

รอยเตอร์ระบุว่า การขยายขอบข่ายของโครงการนำร่องในเฟสที่ 2 เพื่อให้ครอบคลุมธุรกรรมเงินตราต่างประเทศข้ามแดนนั้น เป็นไปตามนโยบายของธนาคารชาติสิงคโปร์ที่จะวางตำแหน่งให้ศูนย์การเงินของสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางฟินเทคของโลกในอนาคต

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจฟินเทคโดยผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ และ ตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อสนับสนุนธุรกิจฟินเทคโดยเฉพาะ

รอยเตอร์ระบุว่าเอ็มเอเอสได้จัดทำ สนามทดลองที่มีการควบคุมสำหรับธุรกิจฟินเทค (แซนด์บ็อกซ์) เรียบร้อยแล้วเป็นสนามที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจฟินเทคสามารถนำโมเดลธุรกิจและสินค้ามาทดลองเปิดบริการได้โดยไม่ต้องติดกรอบกฎระเบียบทางการเงินที่เป็นอุปสรรคอยู่ในขณะนี้

นอกจากการสนับสนุนฟินเทคแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังเตรียมความพร้อมของระบบข้อมูลสำหรับรองรับธุรกิจทางการเงินดิจิตอล ด้วยการสร้างระบบฐานข้อมูลส่วนตัวแห่งชาติของผู้อยู่อาศัยในสิงคโปร์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล-เควายซี (know-your-customer-KYC) โดยเอ็มเอเอส จะร่วมกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้อุตสาหกรรมการเงินสามารถเข้าสู่เครือข่ายเควายซีเพื่อการตรวจสอบข้อมูลบุคคลสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,212 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2559