ชี้รถไฟความเร็วสูง‘กทม.-หัวหิน’ ผู้โดยสาร1.3หมื่นคน/วัน-ปลุกศก.ใต้

24 พ.ย. 2559 | 05:00 น.
ล่าสุดผลการศึกษาโครงการดังกล่าวนี้กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากนั้นจะมีการจัดทำทีโออาร์เพื่อเร่งเปิดประมูลไตรมาสแรกของปี 2560 โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ประมาณ 8.11% แต่เมื่อพัฒนาเส้นทางต่อไปและสุดสายปาดังเบซาร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.76% จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงถึงหัวหิน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567

โครงการนี้ภาครัฐและภาคเอกชนต่างเสนอข้อแลกเปลี่ยนด้านความคุ้มค่าการลงทุนด้วยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งในพื้นที่สถานีและโดยรอบสถานีได้มากขึ้นเพื่อลดภาระความเสี่ยงด้านการลงทุนของภาคเอกชน เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เอกชนลงทุน 100% โดยจะเข้ามาลงทุนเดินรถ จัดหารถและบริหารจัดการ ตลอดจนการก่อสร้างที่จะต้องมีความเป็นมืออาชีพและได้มาตรฐานจริงๆ

ลักษณะโครงการ จะเป็นระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง แบบทางคู่ ระยะทาง 211 กิโลเมตร ระบบราง Standard Gauge กว้าง 1.435 เมตร ใช้ความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง งบลงทุนกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท ตามผลการศึกษาคาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 1.3 หมื่นคน/วัน ค่าโดยสาร 560 บาท/เที่ยว ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยแนวเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน มี 5 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีกลางบางซื่อ 2.สถานีนครปฐม 3.สถานีราชบุรี(บ้านคูบัว) 4.สถานีเพชรบุรี และ 5.สถานีหัวหิน(บ่อฝ้าย)

ทั้งนี้ในช่วงเวลาปกติจะให้บริการ 1 ขบวนต่อ 2 ชั่วโมง ระหว่างสถานีบางซื่อ-หัวหิน และช่วงเร่งด่วน 1 ขบวนต่อ 1 ชั่วโมง ระหว่างสถานีบางซื่อ-หัวหิน

รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน พบว่าการลงทุนจากเส้นทางบางซื่อ-ปาดังเบซาร์จะสูงกว่า 5.3 แสนล้านบาท จำแนกเป็นช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน มูลค่ากว่า 9.8 หมื่นล้านบาท ช่วงหัวหิน-สุราษฎร์ธานี มูลค่ากว่า 2.35 แสนล้านบาท และช่วงสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ มูลค่ากว่า 1.97 แสนล้านบาท

ในส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIRR)เมื่อเปิดให้บริการในปี 2567 นั้น แนวเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน เท่ากับ 6.34% กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี เท่ากับ 9.39% กรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ เท่ากับ 10.42% โดยรายได้ของโครงการจะมีทั้งรายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ คือจากพื้นที่ร้านค้า(ในปี 2562 ประมาณ 138 ล้านบาท) พื้นที่จอดรถ(ปี 2562 ประมาณ 1.49 ล้านบาท) โฆษณาภายในขบวนรถ (ปี 2562 ประมาณ 7 ล้านบาท) และภายในสถานี(ปี 2562 ประมาณ 10 ล้านบาท)

สำหรับผลตอบแทนทางด้านการเงิน(FIRR)นั้น(กรณีทั้งโครงการ) แนวเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน(ต่อระยะเวลาดำเนินการ 30 ปีและ 50 ปี) จะพบว่าช่วงกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ระยะ 50 ปี จะติดลบอยู่ประมาณ 1.17% ส่วนเมื่อเปิดให้บริการถึงปาดังเบซาร์ ระยะ 30 ปี คิดเป็นประมาณลบ 10.32% และระยะ 50 จึงจะเป็นบวก คิดเป็นประมาณ 1.09% แต่หากเป็นกรณีเฉพาะขบวนรถจะพบว่าช่วงกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ระยะ 50 ปีจะเป็นมูลค่า 1.18% และช่วงกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะ 50 ปีจะเพิ่มเป็น 5.18% โดยช่วงกรุงเทพ-หัวหินในปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้ค่าโดยสารรวมรายได้อื่นๆไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และในปี 2611 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารช่วงกรุงเทพ-หัวหินในปี 2565 จะมีจำนวน 9,571 คนต่อวัน ปี 2572 ประมาณ 1.1 หมื่นคนต่อวัน ปี 2582 ประมาณ 1.3 หมื่นคนต่อวัน และปี 2592 ประมาณ 1.6 หมื่นคนต่อวัน
ดังนั้นคงต้องมีลุ้นว่าท้ายที่สุดแล้วโครงการนี้จะจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนได้มากน้อยเพียงใด แต่หากโครงการนี้แจ้งเกิดได้สำเร็จ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ดีขึ้นแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559