กรมพัฒน์ลุยช่วยเอสเอ็มอี ใช้ช่องอาลีบาบารุกตลาดจีน

22 พ.ย. 2559 | 04:00 น.
กรมพัฒน์ชี้ 4 ปัญหาหลักสกัดเอสเอ็มอีไทยโต ชี้มีผู้ประกอบการถึง 2.7 ล้านราย แต่มีสัดส่วนในจีดีพีประเทศแค่ 39% สั่งลุยช่วยสร้างเครือข่ายธุรกิจ หนุนใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่ม ผนึก “อาลีบาบา –เรดดี้เพลนเน็ต”ช่วยสร้างโอกาสรุกตลาดจีน ด้านธุรกิจแฟรนไชส์โตมูลค่าตลาดพุ่ง 2.5 แสนล้าน

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า(พค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ของไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศยังมีปัญหาอุปสรรคใน 4 ด้านหลักคือ 1.ด้านข้อมูลสารสนเทศที่ผู้ประกอบการยังขาดแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ขาดความเข้าใจและวิธีการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจ หรือการตัดสินใจในการทำธุรกิจ 2.ด้านการประกอบการยังขาดองค์ความรู้ที่ดีในการทำธุรกิจ ขาดแนวคิดการพัฒนาธุรกิจ และขาดแคลนแรงงาน 3.ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ยังขาดระบบการบริหารจัดการที่ดี มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย ขาดการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับธุรกิจให้มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และ4.ด้านการตลาดและการแข่งขัน ขาดโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมการตลาด ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ขาดเงินทุน

จากปัญหาข้างต้นทางกรมจึงมีมาตรการสนับสนุนเพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด ที่สำคัญคือมาตรการสนับสนุนให้มีกิจกรรม Business Networking เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า สร้างพันธมิตรคู่ค้า การพัฒนาคลังข้อมูลธุรกิจให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้ การสร้างDNA ให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่มีความมุ่งมั่น กล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลงให้ความสำคัญต่อนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี พัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญในการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การเงิน การบริหารธุรกิจ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และนวัตกรรม เป็นต้น

“เอสเอ็มอี เป็นธุรกิจกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยมีกว่า 2.74 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 99 % ของจำนวนธุรกิจในประเทศทั้งหมด แต่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีมีสัดส่วนเพียง 39 % ของจีดีพีโดยรวมถือยังน้อยมากถ้าเทียบกับปริมาณผู้ประกอบการ”

อย่างไรก็ดีทางกรมจะเร่งพัฒนาการค้าภาคบริการเพื่อยกระดับการพัฒนาการให้บริการและการค้าต่อเนื่องให้มีมูลค่าสูงขึ้นตามห่วงโซ่มูลค่า รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้กรอบความตกลงการค้าบริการอาเซียน เช่น ธุรกิจด้านค้าส่งค้าปลีก แฟรนไชส์ บริการโลจิสติกส์ บริการด้านการท่องเที่ยว เช่นร้านอาหาร ภัตตาคาร และบริการสถานที่พัก ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น สปา นวดเพื่อสุขภาพและดูและผู้สูงอายุ ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ทั้งนี้กรมได้มีการคัดเลือกแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการตลาด เทคนิคการนำเสนอและเจรจาธุรกิจกว่า 50 ราย

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแฟรนไชส์และส่งงบการเงินปี 2558 จำนวน 996 ราย และมีแฟรนไชส์ซี(ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์) จำนวน 4.5 หมื่นราย โดยธุรกิจแฟรนไชส์ไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จากมูลค่าตลาดเพียง 6,000 ล้านบาทเมื่อปี 2543 ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท แต่ยังมีสัดส่วนเพียง 9% ของมูลค่าในระบบค้าปลีกของประเทศเท่านั้น ดังนั้นจึงมีโอกาสขยายตัวและสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้อีกมาก

“การส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศนั้น ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมฯ ในการประชาสัมพันธ์เอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งบริษัท เรดดี้เพลนเน็ต และอาลีบาบากรุ๊ป พร้อมให้การสนับสนุนในการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559