ร.ฟ.ท.เร่งอัดงบแสนล้านท้ายปี ลุ้น ‘5 ทางคู่-หัวรถจักร’ ‘วุฒิชาติ’บินญี่ปุ่นเช่ารถไฟมือสอง

22 พ.ย. 2559 | 09:00 น.
ร.ฟ.ท.เร่งรถไฟทางคู่ 5 สาย 9.8 หมื่นล้าน พร้อมปิดจ็อบเช่า 50 หัวรถจักร 1.3 หมื่นล้าน รวมค่ากว่า 1.11 แสนล้าน หลังเปิดรับฟังความเห็นร่างทีโออาร์รอบแรกสิ้นสุด 14 พ.ย.ที่ผ่านมา จ่อเปิดรอบ 2 เดือนนี้อีก 2 เส้นทางสายใหม่เสนอคมนาคมปลายปีนี้ กรณีเช่าหัวรถจักร ประกาศทีโออาร์เสร็จรอบแรกต.ค. ล่าสุด “วุฒิชาติ” ดอดเจรจาญี่ปุ่นขอหัวรถจักรมือสองมาใช้งานเพื่อลดภาระงบประมาณรัฐบาล

แหล่งข่าวระดับสูงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดว่าจะประกาศประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท(ค่าก่อสร้างกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท)ได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยร.ฟ.ท.ได้นำทีโออาร์เผยแพร่ทางเว็บไซต์รอบแรกไปเมื่อวันที่ 2-7 พฤศจิกายน 2559 คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยปัจจุบันงานเวนคืนที่ดินอยู่ระหว่างบริษัทที่ปรึกษาเร่งสำรวจและคิดค่าทดแทน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการทยอยประกาศร่างขอบเขตงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง รวมมูลค่ากว่า 8.1 หมื่นล้านบาทประกอบไปด้วย 1.โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายใต้ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 สิ้นสุดวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 วงเงิน 9,990 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายใต้ ช่วงนครปฐม-หัวหิน เริ่มวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 สิ้นสุดวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 วงเงิน 1.927 หมื่นล้านบาท 3.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เริ่ม วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 สิ้นสุดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 วงเงิน 2.39 หมื่นล้านบาท และ 4.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เริ่มวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 สิ้นสุดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 วงเงิน 2.85 หมื่นล้านบาท

“รอบแรกทยอยเปิดรับฟังความเห็นครบทั้งหมดแล้ว ส่วนหลังจากนี้จะเป็นการประมวลความเห็นก่อนเสนอรอบที่ 2 แต่หากเส้นทางไหนสามารถประกาศประกวดราคาได้จะเสนอประกวดราคาทันทีในปลายปีนี้ โดยเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างกรมบัญชีกลางคัดเลือกเป็นโครงการคุณธรรมนั้นจ่อคิวประกาศประมูลต่อเนื่องกันไป”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าในช่วงปลายปีนี้ ยังมีลุ้นอีกว่ารถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ คือ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท (วงเงินก่อสร้างกว่า 7.1 หมื่นล้านบาท) และเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท(วงเงินก่อสร้างกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท) คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเร่งผลักดันให้ทันเดือนธันวาคมนี้ ส่วนระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทางนั้นพบว่าอยู่ระหว่างการรับรองด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)อีกหลายเส้นทาง โดยจะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมต่อเนื่องกันไป

ด้านนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยธุรกิจการเดินรถ ร.ฟ.ท. กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดรับฟังร่างขอบเขตการดำเนินงานโครงการเช่ารถจักรเพื่อการขนส่งจำนวน 50 คัน พร้อมการบำรุงรักษา ว่าได้ประกาศเปิดรับฟังความเห็นรอบแรกแล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีระยะเวลาการเช่า 15 ปี(ยังไม่รวมระยะเวลาการผลิตและส่งมอบอีกภายใน 2 ปี)

“วงเงินเช่ารวม 1.3 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดค่าเช่ารถจักรพร้อมการบำรุงรักษาในอัตราวันละ 4.8 หมื่นบาทต่อวันต่อคัน ล่าสุดนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการร.ฟ.ท.เดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อหารือกรณีขอนำรถไฟที่ผ่านการใช้งานแล้วแต่สภาพดีมาใช้งานในประเทศไทยเพื่อช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณอีกทางหนึ่งด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559