สมาพันธ์สินค้าประมงวงแตก 2 สมาคมไม่พอใจทูน่าแก้ IUU

21 พ.ย. 2559 | 09:00 น.
สมาพันธ์ประมงวงแตก สมาชิกงัดข้อแก้ปัญหาไอยูยู ฝ่าย "ทูน่า" เสนอ ส.ส. อียู สั่งยกเลิกเรืออวนลาก -เรือปั่นไฟ ลดโรงงานปลาป่นลงครึ่งหนึ่ง อ้างเหตุผลป้องทะเลไทย หวั่นประมงพื้นบ้าน 2 ล้านครัวเรือนไม่มีปลาจับ ขณะประมงพาณิชย์ฉุน จี้รีดภาษีนำเข้าวัตถุดิบทูน่า 10% นำไปตั้งกองทุน -ขีดเส้นซื้อเรือประมง 1 เดือน ไม่รู้ผลเคลื่อนพลพบ "ฉัตรชัย"

แม้ทางคณะกรรมาธิการประมงของสหภาพยุโรปหรืออียู ที่เดินทางมาติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยูฟิชชิ่งของไทย ระหว่างวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2559 จะเดินทางกลับไปร่วม 2 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องวุ่นไม่จบ

ล่าสุดนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งวันนั้นทางสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของอียู ได้เชิญทางสมาคมประมงที่เกี่ยวข้องของไทยเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ละสมาคมก็ได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของรัฐบาลไทย แต่ปรากฏมีอยู่ 1 สมาคม คือสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย โดยดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมฯ ได้เสนอให้ยกเลิกเรืออวนลาก เรือปั่นไฟ และลดโรงงานปลาป่นลงครึ่งหนึ่ง โดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าฯได้กล่าวรายงานเป็นคนสุดท้ายจะไปแก้ต่างอะไรก็ไม่ได้แล้ว

"วันนี้ 2 สมาคมได้แก่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ได้ขอแยกตัวออกจากสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ทางสมาคมจะยื่นหนังสือให้รัฐบาลเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่า 10% เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนซื้อเรือคืนและช่วยเหลือเรือประมงพาณิชย์ที่ตกสำรวจให้ออกไปทำการประมงได้"
สอดคล้องกับนายพงศธร ชัยวัฒน์ อดีตนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม ที่กล่าวว่า เรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบของรัฐบาลได้จอดเรือมา 1 ปีกว่าแล้ว โดยที่รัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือสักบาทเดียว ดังนั้นจะให้เวลาทำงานอีก 1 เดือน หากไม่มีความคืบหน้าในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ จะเคลื่อนพลไปถาม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เช่นเดียวกับนายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ที่กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นข้างต้น ควรใช้เวทีสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างสมาชิก ขณะที่เวลานี้ซัพพลายวัตถุดิบในการผลิตปลาป่นก็ลดลงเป็นจำนวนมาก หลายรายทยอยปิดตัว ส่วนผู้ประกอบการที่มี 2-3 โรงก็ผลิตเพียงโรงเดียวเป็นต้น ดังนั้นไม่ต้องทำอะไรทุกวันนี้ก็ลดลงโดยปริยายอยู่แล้ว

ด้าน ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวยอมรับว่าวันนั้นได้เสนอกับทาง ส.ส.อียูจริงเนื่องจากเห็นเครื่องประมงเหล่านี้เป็นเครื่องมือทำลายล้าง เป้าหมายหลักต้องการที่จะปกป้องทะเลไทยเพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านกว่า 2 ล้านครัวเรือน ใน 22 จังหวัดได้ทำการประมงเพื่อเลี้ยงชีพต่อไป เปรียบเทียบกับประมงพาณิชย์ มีเพียงไม่กี่ตระกูลแล้วผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับแรงงานต่างด้าว นี่คือจุดยืนของตน

ขณะ พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ เผยว่า เรือที่ตกสำรวจจะพิจารณาเรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส จัดเป็นเรือประมงพื้นบ้าน ให้กลับไปทำการประมงได้ ส่วนเรือที่มีขนาดมากว่า 10 ตันกรอส หรือเรือประมงพาณิชย์ที่ตกสำรวจไม่สามารถคืนสิทธืทะเบียนเรือได้ ต้องถูกตัดออกจากระบบโดยปริยายเพราะโอเวอร์ฟิชชิ่ง

อนึ่ง สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย เป็นการรวมตัวของ 8 สมาคมประมง ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมกุ้งไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย, สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559