ลุ้นประมูลส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงค์ปี 60 สศช.ดันสร้างไฮสปีดเทรนระยอง-บ้านภาชี

21 พ.ย. 2559 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“วุฒิชาติ” โยกส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงค์(พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) ประมูลปี 60 หลัง สศช.ตีกลับช่วงพญาไท-บางซื่อเหตุไม่ตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ที่คมนาคมเสนอ แถมจะแย่งผู้โดยสารสายสีแดงช่วง missing link แนะสร้างมินิคันเซนยืดเส้นระยอง-บ้านภาชีช่วยประหยัดได้กว่าแสนล้าน

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ที่จะต้องนำกระบวนการเดินรถปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปีพ.ศ.2556 ว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมช่วงพญาไท-บางซื่อซึ่งร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เนื่องจากจะต้องนำเข้าสู่การปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี พ.ศ.2556 ตามที่บริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอรายละเอียดให้ร.ฟ.ท.แล้วนั้นดังนั้นจะต้องนำเสนอระดับนโยบายเคาะความชัดเจนต่อไป

“การร่วมทุนครั้งนี้ภาครัฐโดยนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีต้องการให้ลงทุนครอบคลุมทั้งการก่อสร้างและการเดินรถ โดยกระบวนการหลังจากที่กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วก็จะต้องเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณาถึงรูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสมต่อไป"

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อให้สศช.พิจารณามาก่อนหน้านี้แล้วแต่ได้ส่งเรื่องกลับคืนมา เนื่องจากเห็นว่าไม่ตอบโจทย์ตามที่กระทรวงคมนาคมต้องการคือเชื่อมระหว่าง 2 สนามบิน แต่ที่นำเสนอก่อสร้างเฉพาะช่วงพญาไท-บางซื่อ ซึ่งสศช.เห็นว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับสายสีแดงช่วงมิสซิ่งลิงค์ที่จะแย่งผู้โดยสารกันอาจไม่คุ้มค่าด้านการลงทุน

นอกจากนั้นแม้ว่าร.ฟ.ท. จะอ้างว่าทำโครงสร้างทางไปพร้อมกับสายสีแดงมิสซิ่งค์ลิงค์(บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมากและบางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 21 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 4.41หมื่นล้านบาทจึงจะประหยัดงบประมาณ หรือหากรัฐบาลจะดำเนินการสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองแล้วก็ควรจะสร้างให้ช่วงระยอง-สถานีภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะช่วยประหยัดงบประมาณได้อีกกว่าแสนล้านบาท โดยให้โครงการรถไฟไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่นสิ้นสุดแค่สถานีบ้านภาชี โดยส่วนที่จะผ่านสถานีบางซื่อควรจะเป็นเส้นทางกรุงเทพ-ระยองก็จะคุ้มค่ากว่าทั้งผู้โดยสารและการลงทุนโดยจะทำเป็นมินิชินคันเซ็นหรือขบวนด่วนพิเศษ จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างไฮสปีดเทรนให้ซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณ

ด้านแหล่งข่าวร.ฟ.ท. รายหนึ่งกล่าวว่า กรณีร่วมทุนแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง โดยช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองกระทรวงคมนาคมต้องการให้รถไฟไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมใช้ทางด้วยแต่การเจรจากันกับทั้ง 2 ประเทศยังไม่ได้ข้อยุติ

“เหตุผลของสศช.ก็มีส่วนที่น่าคิดหลายประการเพราะลดความซ้ำซ้อน แต่กรณีร่วมทุนคาดว่าคงจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี ผลเสียของนโยบายภาครัฐไม่ชัดเจนก็จะส่งผลต่อความล่าช้าของโครงการดังที่เห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะงบประมาณจากเดิมใช้วงเงินราว 1.7 หมื่นล้านบาทปัจจุบันเพิ่มเป็น 3.11หมื่นล้านบาทดังนั้นหากล่าช้าไปอีกงบประมาณจะเพิ่มขึ้นอีกมาก”

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของสนข.ไปแล้ว และวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะนัดประชุมหารือสรุปความชัดเจนของกระทรวงคมนาคมก่อนที่จะนำเสนอสคร.และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการพีพีพี) ต่อไป

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มั่นใจว่าสคร.และคณะกรรมการพีพีพีจะพิจารณาได้เร็ว หลังจากนั้นก็จะส่งต่อให้ร.ฟ.ท. เร่งนำไปปฏิบัติได้ คาดว่าคงไม่ล่าช้าจนเกินไป ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)เคาะความชัดเจนเรื่องการร่วมลงทุนก็จะต้องนำเสนอสคร.เคาะรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ NET Cost ที่เหมาะสมและให้เอกชนลงทุนสนใจจริงๆโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐตามที่เอกชนต้องการและคงต้องรอระดมความเห็นของเอกสารประกวดราคาอีกครั้งว่าเอกชนจะเสนออย่างไรบ้างเพื่อนำไปปรับปรุงทีโออาร์ก่อนเปิดประมูลอย่างเป็นทางการต่อไป

ขณะทีน่ ายสุรพงษ์ เลาหะอัญญากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า น่าสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยาย แต่ขอดูรายละเอียดต่างๆให้ชัดเจนก่อน ว่ารัฐจะช่วยอย่างไรบ้างเนื่องจากปริมาณผู้โดยสารระดับวันละ 6 หมื่นคนเท่านั้น อีกทั้งระยะทางสั้นๆ และมีแนวเส้นทางซํ้าซ้อนกับสายสีแดงช่วงมิสซิ่งลิงค์อีกด้วย แนวโน้มการขาดทุนมีสูงมากหากรัฐไม่ให้ความช่วยเหลือ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559