'สมาร์ท ฟาร์มหมู' นวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งความยั่งยืน

19 พ.ย. 2559 | 10:00 น.
MP30-3210-e ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรมีการแข่งขันกันมากขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ ในอนาคตยิ่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาร์ เวียดนาม และกัมพูชา ขยายตัวจากการทำเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมเกษตรมากขึ้น ประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด สามารถเรียนรู้และพัฒนาการทำอุตสาหกรรมของตนเองได้อย่างรวดเร็ว

MP30-3210-b นายวรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิตภัณฑ์อาหารในเครือวีพีเอฟ กล่าวว่า จากอุตสาหกรรมเกษตรที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงดังนั้น บริษัทจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและวิธีการและปรับตัวตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์สัตว์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การปรับปรุงอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม อาทิ การใช้ระบบให้อาหารอัตโนมัติ ที่สามารถคำนวณระยะเวลาและคำนวณระบบการดูดซึมอาหารได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งประสิทธิภาพการลดใช้แรงงานคน ตลอดจนเพิ่มผลผลิตและคุณภาพให้กับสินค้า

MP30-3210-c นอกจากนี้ ยังมีการใช้นวัตกรรมไบโอฟิลเตอร์ที่เป็นเสมือนตัวบังช่องลมเพื่อกำจัดและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ระบบการจัดการโรงเรือน ระบบก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า ระบบข้อมูลและสารสนเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป พร้อมทั้งสร้างศูนย์การค้าปลีก และร้านอาหารแบบครบวงจร ซึ่งในอนาคตจะสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเป็นอุตสาหกรรมด้านการบริการ ปัจจุบันบริษัทยังมุ่งเน้นนโยบายในเรื่อง Green Supply Chain ประกอบด้วย Green Feed ,Green Farm ,Green Power, Green Pork, Green Food และ Green Society เป็นการผลักดันตนเองให้เป็นฟาร์มสีเขียว คำนึงถึงด้านความปลอดภัยและการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติ มีการจัดการพลังงานและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในด้านการพัฒนาตลอดห่วงโซ่เหล่านี้จะช่วยให้การดำเนินอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน

MP30-3210-d ทั้งนี้ บริษัท ยึดถือหลักการเกษตรยั่งยืน ทั้งการประยุกต์ใช้การแบ่งปันพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของฟาร์ม ด้วยการให้บุคลากรใช้พื้นที่ภายในเพื่อการเพาะปลูก สร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยการค้าขายระหว่างชุมชน และโรงอาหารภายใน รวมทั้งนำมูลสุกรที่เหลือใช้มาสร้างพลังงานทดแทน ด้วยการพัฒนาสู่ไบโอแก๊ส ปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สมีเทนที่สามารถใช้งานได้จริง ช่วยลดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานได้กว่า 12 ชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกและผักตบชวา เพื่อการบำบัดน้ำเสียและป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลาย โดยไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศวิทยา และไม่เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,210 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน 2559