พาณิชย์แนะสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว ตอบโจทย์ตลาดญี่ปุ่น

18 พ.ย. 2559 | 06:11 น.
นางมาลี  โชคล้ำเลิศ  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า  ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นมีแนวโน้มบริโภคข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในปี 2558 ชาวญี่ปุ่นบริโภคข้าวลดลงเหลือเพียง 55 กิโลกรัมต่อปี หรือบริโภคเพียงครึ่งหนึ่งจากปริมาณที่เคยบริโภคเมื่อปี 2505 ซึ่งบริโภคถึง 118 กิโลกรัมต่อปี แต่ในขณะเดียวกันเป็นที่สังเกตว่า มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากข้าวออกสู่ตลาดหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าว และตอบโจทย์กระแสนิยมรักสุขภาพของชาวญี่ปุ่นด้วย

ในปี 2559 นี้ ญี่ปุ่นมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำจากข้าวออกสู่ตลาดมากมาย เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อจากผู้บริโภค เช่น เครื่องดื่มโคล่าที่ทำจากข้าว ซึ่งเครื่องดื่มโคล่าจากข้าวนี้เริ่มวางจำหน่ายเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากด้วยรสชาติหวานผสมความซ่า ช่วยแก้กระหายได้ดี บริโภคได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยมียอดขายกว่า 1 แสนแก้วภายใน 2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่น้ำนมข้าวที่ใช้วัตถุดิบจากข้าวกล้องก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากมีรสชาติหวานโดยไม่ต้องเติมน้ำตาล อีกทั้งมีคุณค่าทางอาหาร เหมาะสำหรับเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ กาแฟข้าวและคราฟต์เบียร์นับเป็นสินค้าที่น่าสนใจในญี่ปุ่น ในส่วนของกาแฟข้าวจะผลิตจากการนำข้าวกล้องมาคั่วจนดำ จะได้รสกาแฟ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถดื่มกาแฟได้ เนื่องจากปราศจากคาเฟอีน ด้านคราฟต์เบียร์ซึ่งใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต จะมีความหวานและหอมกลิ่นข้าว เป็นเอกลักษณ์ใหม่ที่สร้างกระแสนิยมให้กับคราฟต์เบียร์ชนิดนี้ได้เช่นกัน

“เทรนด์การบริโภคผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากข้าวของชาวญี่ปุ่นนี้ นับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากข้าวไทยในการเจาะตลาดผู้บริโภคญี่ปุ่นที่เน้นสินค้าเพื่อสุขภาพและชื่นชอบสินค้าที่มีเอกลักษณ์ นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอีกทางหนึ่งด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

ข้าวเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีมาตรการปกป้องสินค้าเหล่านี้เพื่อคุ้มครองทั้งชาวนา ผู้ผลิต และผู้บริโภค ส่งผลให้ข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวจากไทยส่งออกไปญี่ปุ่นได้ไม่มากนัก แต่หากผู้ประกอบการไทยนำนวัตกรรมหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวที่สามารถตอบรับความนิยมของผู้บริโภคญี่ปุ่นก็จะสามารถสร้างกระแสชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยให้กับชาวญี่ปุ่นได้ ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยโดยนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมืออีกด้วย

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม – กันยายน 2559) ไทยส่งออกข้าวไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 86.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 12