‘โมดี’ดึงอาเบะผุดรถไฟเร็วสูง ขยายความร่วมมือโครงการลงทุน-ฟากจีนจ้องตาเป็นมัน

15 พ.ย. 2559 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐนมนตรีอินเดียช่วงสุดสัปดาห์นี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะเปิดให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทต่อโครงการลงทุนด้านรถไฟความเร็วสูงในตลาดที่มีศักยภาพสูงอย่างอินเดีย ท่ามกลางการจับตามองของจีนที่ต้องการขยายอิทธิพลเช่นเดียวกัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีกำหนดพบปะหารือกับนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ในการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายนนี้ โดยทั้งสองฝ่ายหวังยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระดับทวิภาคี ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตามอง คือเรื่องของการลงทุนรถไฟความเร็วสูง หลังจากอินเดียตกลงเลือกญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายแรกในประเทศระหว่างมุมไบและอาเมดาบัด มูลค่า 9.8 แสนล้านรูปีเมื่อปีก่อน

โครงการรถไฟความเร็วสูงนับเป็นสนามแข่งขันสำคัญระหว่างญี่ปุ่นและจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลภายในภูมิภาคเอเชีย โดยจีนเอาชนะญี่ปุ่นได้ในโครงการรถไฟในอินโดนีเซียเมื่อปีก่อน และทั้ง 2 เตรียมจะแข่งขันกันสำหรับเส้นทางระหว่างสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ ขณะที่โครงการของจนี ที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการรถไฟของไทยเป็นอันต้องล้มไปในปีนี้ ส่วนแผนลงทุนของญี่ปุ่นกับโครงการในเวียดนามถูกคัดค้านจากรัฐสภาของเวียดนาม

อินเดียนับเป็นตลาดที่มีโอกาสในการเข้ามาลงทุนสูงสำหรับทั้งสองประเทศ รถไฟในอินเดียให้บริการชาวอินเดีย 23 ล้านคนต่อวัน ด้วยขบวนรถไฟที่แออัดและรางรถไฟเก่าที่สร้างมาตั้งแต่อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ขณะเดียวกันนายโมดีวางแผนจะทุ่มเงิน 8.5 ล้านล้านรูปีจนถึงปี 2563 เพื่อพัฒนารางรถไฟใหม่ ซึ่งรวมถึงรถไฟฟ้าหัวกระสุนและสถานีรถไฟที่ทันสมัย หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อปีก่อนญี่ปุ่นตกลงที่จะให้เงินกู้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย 81% ของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 508 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างมุมไบ และอาเมดาบัด ซึ่งเป็นฮับเศรษฐกิจที่สำคัญในรัฐคุชราต รัฐบ้านเกิดของนายโมดี

สำหรับการพบกันระหว่างนายโมดีและนายอาเบะครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 8 หลังจากทั้ง 2 เข้ามารับตำแหน่ง โดยที่ผ่านมานายอาเบะพยายามโปรโมตเทคโนโลยีรถไฟชินคังเซนของญี่ปุ่นให้กับอินเดีย ในเวลาที่อาเบะต้องการเพิ่มมูลค่าการส่งออกโครงสร้างพื้นฐาน 3 เท่า เป็น 30 ล้านล้านเยนภายในปี 2563

นายฮิโรโตะ อิซูมิ ที่ปรึกษาของนายอาเบะ กล่าวว่า ในขณะที่ญี่ปุ่นยินดีที่จะแบ่งตลาดรถไฟภายในตัวเมืองให้กับผู้เล่นรายอื่นๆ แต่นายอาเบะต้องการที่จะเป็นผู้นำในโครงการรถไฟความเร็วสูง และเข้ามาปักหมุดในประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียอย่างในอินเดีย

“ถ้าญี่ปุ่นได้รับงานในแผนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงโครงการแรก แน่นอนว่าเรามีความคาดหวังที่จะได้รับโครงการอื่นๆ ของอินเดียด้วย” นายอิซูมิกล่าว

นายอิซูมิกล่าวต่อไปว่า จุดขายของญี่ปุ่นคือคุณภาพของระบบรถไฟความเร็วสูง โดยตลอด 50 ปีที่ผ่านมายังไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต แม้ว่าเงินลงทุนเบื้องต้นจะอยู่ในระดับสูง แต่จะได้รับการชดเชยด้วยค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่ต่ำกว่าตลอดระยะเวลาการใช้งานหลายสิบปี ทั้งนี้ ผู้ผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นประกอบด้วย บริษัท ฮิตาชิ จำกัด และบริษัท คาวาซากิ เฮฟวี อินดัสทรี จำกัด ขณะที่มิตซูบิชิ อิเล็กทริก เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถไฟหัวกระสุน

ขณะที่ทางการจีนให้การสนับสนุนผู้ผลิตหลัก คือ ซีอาร์อาร์ซี คอร์ป โดยนายเฉิน ซูหมิง นักวิเคราะห์จากเซี่ยงไฮ้ ชงหยาง อินเวสต์เมนต์ เมเนจเมนต์ กล่าวว่า จีนมีความสามารถในการสร้างรางรถไฟในพื้นที่ที่อากาศเลวร้ายและมีความท้าทายทางภูมิศาสตร์

“ซีอาร์อาร์ซีมีโอกาสได้รับเลือกสำหรับโครงการรถไฟต่างๆ ถ้าตัดสินกันเพียงเทคโนโลยี ราคา และคุณภาพ แต่ในตลาดต่างประเทศมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จีนจะได้รับเลือกมีความซับซ้อนขึ้น”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,209 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน 2559