70 เส้นทางตามรอยพระบาท (ตอน8) เศรษฐกิจพอเพียงภาคตะวันออก

15 พ.ย. 2559 | 07:00 น.
70 เส้นทางตามรอยพระบาทฉบับนี้ ยังคงอยู่ที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เชิญชวนให้คุณได้ร่วมตามรอยพระบาท

หากกล่าวถึงเขื่อนคอนกรีตอัดบดที่ยาวที่สุดในโลก ด้วยสถิติ 2,594 เมตร ใช้เวลาสร้าง 13 ปี (พ.ศ.2540-2552) ก่อเกิด“เขื่อนขุนด่านปราการชล”ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ กักเก็บน้ำได้ถึง 224 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุน จัดสรรน้ำแจกจ่ายพื้นที่ชลประทานได้มากถึง 185,000 ไร่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและดินเปรี้ยว ที่ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตรในพื้นที่เขื่อนแห่งนี้จึงเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำนครนายก ให้กินดีอยู่ดี มีรายได้พอเพียง และยังเป็นแหล่งล่องแก่ง โดนใช้คนชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์เที่ยวได้ตลอดทั้งปี

[caption id="attachment_113971" align="aligncenter" width="503"] เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนขุนด่านปราการชล[/caption]

อีกโครงการพระราชดำริ ใกล้กับเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่จะทำให้คุณตระหนักถึงการ“เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง ความขาดแคลน ไม่เป็นปัญหา ถ้ามีปัญญาและความอดทน” นี่คือเป้าหมายหลักของ “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ”ศูนย์กลางในการนำเสนอแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน น้ำ ป่า และมนุษย์ที่นี่มีกิจกรรมห้ามพลาด อย่างการฝึกปลูกผักระเบียงสำหรับคนเมือง ทดลองผลิตน้ำยาสำหรับใช้ในบ้านตัวเอง เรียนรู้การสร้างบ้านดิน วิถีพอเพียงที่น่าชื่นชม

ทั้งในพื้นที่ จังหวัดนครนายก ยังเป็นที่ตั้งของ“โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า”สถานบ่มเพาะนักเรียนนายร้อย จปร.ให้มีความรู้ สติปัญญา สามารถนำพากองทัพบกไปสู่ชัยชนะ ซึ่งสถานที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวทางทหารไม่ว่าจะเป็นเดินป่าพักแรมพิชิตเขาชะโงก ไต่ผาจำลองและหน้าผาจริง กระโดดบนความสูง 34 ฟุต วอล์กแรลลี่ กิจกรรมทางกีฬา โหนสลิงเลื่อนข้ามลำน้ำ

คุณทราบหรือไม่ว่าเดิมปราจีนบุรี เป็นจังหวัดเดียวในภาคตะวันออก ที่ไม่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำประจำจังหวัด จึงมักประสบปัญหาอุทกภัยแทบจะทุกรูปแบบ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็มรุกล้ำ น้ำเน่าเสีย แต่เมื่อ “โครงการห้วยโสมง” กำเนิดขึ้น ทำให้เก็บกักน้ำได้ถึง 295 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะน้ำ คือ ทรัพยากรอันมีค่า และถือว่าเป็นต้นสายธารของชีวิต และด้วยลักษณะพื้นที่ราบเชิงเขา มองเห็นวิวภูเขาสไตล์พาโนรามา ที่กำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของปราจีนบุรี และเหมาะกับการขี่จักรยานรับลมเย็นตลอดเส้นทาง

[caption id="attachment_113970" align="aligncenter" width="503"] โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร[/caption]

ขณะเดียวกันจังหวัดปราจีนบุรี ยังมีความโดดเด่นของ“โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” บริการสุขภาพแบบผสมที่เป็นเลิศและผู้นำด้านการแพทย์แผนไทยในอาเซียน โรงพยาบาลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ คุณสามารถทำสปาทรีตเมนต์ นวดแผนไทย ชมความงดงามของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สถาปัตยกรรมสไตล์บาโรกสีเหลืองสด อายุมากกว่า 100 ปีที่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทยให้ได้เรียนรู้วิชาการแพทย์แผนไทย รวมถึงที่นี่ยังเป็นสถานศึกษาวิจัยพัฒนาสมุนไพร ซึ่งได้รับการยอมรับในวงกว้าง

จากความเสื่อมโทรมในอดีตของแหล่งทำการเกษตรและประมงของชาวบ้านในเขตชุมชนบ้านแสมภู่ ปากน้ำประแส ค่อยๆได้รับการฟื้นฟูปรับสมดุลให้ผืนป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดระยอง ให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง จึงเป็นจุดกำเนิดของ “ทุ่งโปรงทอง” อันเกิดจากการเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่นของต้นโปรงใบสีเหลืองอร่ามและยามแสงแดดส่องปะทะลงมา ภาพทุ่งต้นโปรงสีทอง ท่ามกลางความเขียวขจีของแนวโกงกางรอบทิศ ช่างสวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญคุณสามารถเดินลัดเลาะสะพานไม้ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรศึกษาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหรือชมหิ่งห้อยยามค่ำคืนส่องแสงระยิบระยับ

นอกจากนี้ในจังหวัดระยอง ยังเป็นที่ตั้งของ“โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง” ศูนย์กลางส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์และพัฒนาการเกษตร เพื่อเกษตรกรรมบริเวณริมอ่างเก็บน้ำดอกกราย และ “ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก” แหล่งฟื้นฟูเต่าทะเล กลับคืนสู่เกาะมันใน และอ่าวโดยรอบ ซึ่งเหมาะกับการเยี่ยมชมแบบวันเดย์ทริป

ปิดท้ายด้วยสถานที่ฝึกชาวนาและกระบือ ให้สามารถทำการเกษตร ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ “โรงเรียนกาสรกสิวิทย์”จังหวัดสระแก้ว ในโครงการธนาคารโคกระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่นี่เปิดให้คนที่สนใจได้เรียนรู้การฝึกกระบือไถนา คราด ตีลูกทุบ ซึ่งเป็นการเตรียมดินสำหรับปลูกข้าว ทำให้หนึ่งวันกับโรงเรียนแห่งนี้ ได้ความรู้และแนวคิดพอเพียงกลับไปได้อย่างเต็มเปี่ยม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,209 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน 2559