พลังแห่งแผ่นดิน กษัตริย์นักประดิษฐ์ไทย

15 พ.ย. 2559 | 01:00 น.
คุณประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์นั้นมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยมีความเกี่ยวเนื่องในขนบธรรมเนียมและประเพณีทางศาสนา ไม่เพียงแต่ก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาแต่ยังหล่อหลอมเป็นความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเกิดการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถของมนุษย์ ต่อยอดสู่ระดับสังคม และประเทศชาติ ดังเช่นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ตอนหนึ่งว่า

MP30-3209-B "...การประดิษฐ์ในโลก...เป็นของสำคัญที่จะให้มี...ของพิเศษขึ้นมา และให้รางวัลกัน เพราะว่า การประดิษฐ์นั้น เป็นของสำคัญที่สุด ของโลก ของคนที่สนใจในความก้าวหน้า และถ้าไม่มีการสนใจในงานประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่จะทำให้ไม่มีความก้าวหน้า การประดิษฐ์ด้านต่างๆ เป็นของสำคัญ ของโลก เพื่อจะให้โลกก้าวหน้าได้..."

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จฯ ออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552

 ดินและน้ำ อัจฉริยภาพด้านสิ่งประดิษฐ์ของกษัตริย์ผู้ปลุกความเชื่อในแนวคิด “เทวราชา”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงให้ความสำคัญกับการเยี่ยมเยือนพสกนิกรชาวไทยทั่วทุกหนแห่งในประเทศ เพื่อรับทราบถึงปัญหาต่างๆ และนำมาพัฒนาเป็นโครงการในพระราชดำริ ที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานแนวพระราชดำริว่า พื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือส่วนย่อภูมิภาคของแต่ละท้องที่ในประเทศไทย เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและศึกษาวิจัยการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด พร้อมทำการศึกษาพัฒนาด้านเกษตรกรรมในสาขาต่างๆ และเมื่อการศึกษานั้นเกิดผลสำเร็จและนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้จริง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จะปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์กระจายศาสตร์ของพระราชา องค์ความรู้ที่ถ่ายทอดคล้ายกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่มีชีวิต พร้อมส่งต่อการพัฒนาไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป เมื่อแบ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นภูมิภาค จะทราบถึงรายละเอียดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเล็งเห็น ทั้งแต่เม็ดดิน หยดน้ำ ไปจนถึงปมปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในการพัฒนาและแก้ไขความยากจนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

เริ่มต้นจากภาคเหนือ คือศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยจะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เน้นการศึกษาค้นคว้ารูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาป่าต้นน้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ส่งผลกระทบหรือทำลายสภาพแวดล้อม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เน้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำการเกษตรที่เหมาะกับสภาพดินและสภาพแวดล้อมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความสำคัญกับการปรับปรุง บำรุงดิน เร่งรัดการพัฒนาระบบชลประทานและพัฒนาป่าไม้ พร้อมให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเพิ่มรายได้กับกับเกษตรกรโดยตรง

MP31-3209-F ภาคกลาง คือศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ฯ นี้มีงานหลักคือการค้นคว้า ทดลอง และสาธิตเกี่ยวกับการพัฒนาที่ทำกินของราษฎรให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพืชเชิงเกษตรกรรมในหลายๆ ชนิด

ภาคตะวันออก คือศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่นี่คือศูนย์ศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการประมงชายฝั่ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตอันเป็นการสร้างรายได้และสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว

ภาคตะวันตก คือศูนย์พัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มุ่งเน้นการศึกษาแนวทางพัฒนาสภาพป่าเสื่อมโทรม สภาพดินแห้งแล้ง โดยมุ่งแสวงหาวิธีการให้เกษตรกรมีส่วนในการเพาะปลูก ปรับปรุง และรักษาสภาพป่าพร้อมๆ กับมีรายได้และผลประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน

ภาคใต้ คือศูนย์พัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส มีเป้าหมายในการทำวิจัยดินพรุ ซึ่งเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุสะสมอยู่เป็นจำนวนมากจนเป็นชั้นหนา มีสภาพค่อนไปทางเป็นกรด ซึ่งในภาคใต้มีดินประเภทนี้มากกว่า 4 แสนไร่

MP31-3209-G ศูนย์พัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการ “โครงการแกล้งดิน” หลังจากเมื่อครั้งการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส และทรงพบว่าดินในพื้นที่แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องด้วยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตามแม้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ทั้งหมดแต่ก็ยังยากที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางเกษตรให้เกิดผล เพราะเนื้อดินในพื้นที่แห่งนี้มีสารประกอบไพไรท์ มีกรดกำมะถัน ทำให้เมื่อดินแห้งจึงเป็นดินเปรี้ยว ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน ทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์ทรงเห็นสมควรในการปรับปรุงและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่อง "แกล้งดิน" ตอนหนึ่งความว่า

"...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดย การระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแกล้ง ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ในเขตจังหวัด นราธิวาสโดยให้ทำโครงการศึกษาทดลอง ในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลอง ควรเป็นข้าว..."

MP31-3209-C ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและปรับปรุงดิน ด้วยวิธีการ “แกล้งดิน” คือ การทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงใช้วิธีคิดในการ “เลียนแบบสภาพธรรมชาติเหมือนกับฤดูแล้งและฤดูฝนเป็นปกติในแต่ละปี” โดยการปล่อยให้ดินแห้ง 1 เดือน และขังน้ำให้ดินเปียกนาน 2 เดือน สลับกันไป เกิดภาวะดินแห้งและดินเปียก 4 รอบ ต่อ 1 ปี เสมือนกับมีฤดูแล้งและฤดูฝน 4 ครั้ง ใน 1 ปี หลังจากนั้นจึงหาวิธการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้

เมื่อผลการศึกษาทดลองประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำผลการศึกษาทดลองขยายผลสู่พื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัด ส่งผลดีต่อภาคเกษตรในท้องถิ่น ก่อเกิดเป็นผลผลิตแห่งความสุขของเกษตรกรอย่างสุขใจ โดยประโยชน์ที่ได้รับหลังจากการถ่ายทอดโครงการแกล้งดินในพื้นที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส สามารถปลูกข้าวได้ ขยายผลและต่อยอดพันธุ์พืชต่างๆ

นอกจากเรื่องดินพระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับเรื่อง “น้ำ” ดังเช่นพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า

"... เรื่องน้ำนี้ ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่น ในวัตุถุต่างๆ ในรูปผลึก ก็ต้อง มีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้น น้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า ทำไมการพัฒนา ขั้นแรกหรือสิ่งแรก ที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการ สิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี 2 อย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ถ้าหากว่า ปัญหา ของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ฉะนั้นการพัฒนานั้นสิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้ นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึง การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือการค้า หรือการคลัง อะไร พวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป... " พระราชดำรัส วันที่ 29 ธันวาคม 2532 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

MP31-3209-B พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากที่เกิดขึ้น พระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้ง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขน้ำเน่าเสีย โดยมีกรมชลประทานรับสนองพระราชดำริในการศึกษาและสร้างต้นแบบ โดยดัดแปลงเครื่องสูบน้ำพลังน้ำจาก "กังหันน้ำสูบน้ำทุ่นลอย" เปลี่ยนเป็น "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งเป็นเครื่องกลเติมอากาศ มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงถึง 1.2 กิโลกรัมของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างเอนกประสงค์ ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ

นอกจากจากการจัดการน้ำเสียด้วยกังหันชัยพัฒนา สิทธิบัตรฝนเทียมเป็นอีกแบบอย่างที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของประเทศ ด้วยพระเนตรที่ยาวไกล และทรงความอัจฉริยะของพระองค์ท่านที่ประกอบด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ จึงทรงสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลของสภาพภูมิอากาศในประเทศ พระองค์จึงทรงพระราชดำริและทรงค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิด ฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับจากธรรมชาติ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์กับทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดมีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้

จนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 นับเป็นประวัติศาสตร์แห่งการทำฝนหลวงของประเทศไทยเพราะเป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้น้ำแข็งแห้ง (dry-ice) โดยที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพีงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้

MP31-3209-D การพัฒนาค้นคว้าที่เกี่ยวกับฝนหลวงได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงทำการทดลองวิจัยด้วยพระองค์เอง รวมทั้งได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่าย เพื่อทำการทดลองปฏิบัติการฝนหลวงด้วยพระเมตตาธรรม ระยะเวลาที่ทรงมานะบากบั่น อดทนด้วยพระวิริยอุตสาหะนับถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 30 ปี ในที่สุดด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพที่ทรงสั่งสมจากการทดลอง สามารถทำให้กำหนดบังคับฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จกลายเป็นหลักแนวทางให้นักวิชาการฝนหลวงรุ่นปัจจุบัน ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างมีระเบียบและเป็นระบบวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง

หลังจากที่ทรงประสบผลสำเร็จและมีการยอมรับจากทั้งภายในและต่างประเทศแล้วนั้นปริมาณความต้องการฝนหลวงเพื่อช่วยพื้นที่เกษตรกรรม และการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดในช่วงระหว่างปี 2520-2534 มีการร้องเรียนขอฝนหลวงเฉลี่ยถึงปีละ 44 จังหวัด ซึ่งทรงพระเมตตาอนุเคราะห์ช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการบรรเทาการสูญเสียทางเศรษฐกิจให้ประสบความเสียหายน้อยที่สุด นอกจากนี้ประโยชน์สำคัญที่ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภค ก็คือ เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างและเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน และผลิตกระแสไฟฟ้า แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธารธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงป่าไม้

พระองค์ทรงเชื่อมั่นในพระราชหฤทัยว่าด้วยลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศของบ้านเราจะสามารถดำเนินการให้บังเกิดผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน เนื่องจาก น้ำ เป็นที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงตลอดเวลาในสังคมไทยที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากขาดแคลนน้ำอยู่ในขณะนั้น เป็นเพราะน้ำคือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีพของมนุษย์และพืชพรรณธัญญาหารตลอดจนสิงสาราสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง การขาดแคลนน้ำจึงมิได้มีผลโดยตรงแค่เพียงความเป็นอยู่ของประชาชนเท่านั้นแต่ยังได้ก้าวล่วงไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยส่วนรวมอีกด้วย และถึงขนาดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า น้ำ คือ ชีวิต

กษัตริย์นักประดิษฐ์ของโลก

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ฉายภาพงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทาง วช.ได้สนองแนวพระราชดำริในการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะนำโครงการปาล์มน้ำมัน R.B.D. PlamOlien as Alternative Fuel และโครงการฝนหลวง The Royal Rainmaking Technicsในการร่วมจัดแสดงงานนิทรรศการ “Brussels Eureka 2001: 50th Anniversary of the World Exhibition of Innovation, Research and New Technology” ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ก่อเกิดเป็นความภาคภูมิใจให้กับปวงชนชาวไทยทุกคน ซึ่งต่อมาสำนักพระราชวังได้แจ้งขอความอนุเคราะห์ให้ วช. ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รวมจำนวน 11 ประเทศ

ด้วยผลงานประดิษฐ์และพระอัจฉริยะภาพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ องค์กรด้านการประดิษฐ์กว่า 300 องค์กร จาก 86 ทั่วประเทศทั่วโลก พร้อมใจกันทูลเกล้าฯถวายรางวัล “พระอัจฉริยภาพทางการประดิษฐ์” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จากผลงานสิ่งประดิษฐ์อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติกว่า 1,000 ชิ้น ยกตัวอย่างเช่น สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ หรือคิปา (Korea Invention Promotion Association: KIPA) ทูลเกล้าฯถวายรางวัลพิเศษด้านทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกันจากผลงาน “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าถวาย “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย”เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นครั้งแรกที่ได้รับการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย ที่สำคัญเป็น “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก”

และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงพระปรีชาสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ รวมทั้งสนับสนุนและให้กำลังใจแก่นักประดิษฐ์เยาวชนและประชาชนทั่วไปในอันที่จะแสดงความรู้ความสามารถต่อสาธารณชน เพื่อจะได้ทำการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ คณะรัฐมนตรีในยุคนั้นจึงได้กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์ไทย”

ด้วยพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์และพระวิสัยทัศน์ในความห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายด้วยการทรงงานหนักพัฒนาและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยเสมอมาตลอดพระชนมมายุของพระองค์ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เสนอ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยพระอัจฉริยะภาพทางการประดิษฐ์ ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ?

ไม่เพียงเท่านั้น ความที่พระองค์ทรงเป็นนักประดิษฐ์เช่นนี้ องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาหรือ WIPO ได้ทูลเกล้าฯถวาย รางวัล WIPO Global Leaders Award หรือรางวัลผู้นำทรัพย์สินทางปัญญาโลก แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โดยรางวัลนี้นับเป็นรางวัลแรกของ WIPO ที่จัดทำขึ้นและถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นลำดับแรก พร้อมกันนี้ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาจากองค์กรการประดิษฐ์นานาชาติว่า เป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก” โดยสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (ไอเฟีย) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการี และได้ร่วมกำหนดให้วันที่ 2 ก.พ.เป็นวันนักประดิษฐ์โลก (International inventor’s day convention: IIDC)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทาน น้ำพระทัย พระเมตตา และความรักอันยิ่งใหญ่แก่อาณาประชาราษฎร์ พระราชภารกิจอันหนักเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ปรากฏเป็นที่ประจักษ์เทิดทูนพระเกียรติคุณทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวโลก สอดรับกับวรรณกรรมพระราชนิพนธ์เรื่อง ข้าพเจ้าจากสยามมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ตอนหนึ่งใจความว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะละทิ้งประชาชนได้อย่างไร” จากวันนั้นจนถึงวันนี้ พระองค์ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดค้นและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ก่อเกิดเป็นผลผลิตที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฏร์ทุกคนอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นแล้วในฐานะพสกนิกรชาวไทยการน้อมนำแนวพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส องค์ความรู่จากโครงการพระราชดำริ รวมทั้งพระอัจฉริยะภาพทางการประดิษฐ์มาต่อฐานเติมยอดสู่การพัฒนาตนเอง องค์กร หน่วยงาน สังคมและประเทศชาติให้ก้าวไปสู่สากลด้วยความภาคภูมิใจ

พระหัตถาที่ทรงสร้าง พระบาทที่ย่างก้าว คือการพัฒนาทั่วทุกตารางนิ้วบนแผ่นดินไทย ก้าวตามรอยพ่อไป คือความสุขใจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,209 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน 2559