คือหัตถาครองภิภพ

14 พ.ย. 2559 | 04:00 น.
“...การแล่นใบ สอนให้คนคิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือใบแล้วเรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอนเราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้

MP29-3209-B แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบา เราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่ง แล้วถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง...”

พระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สะท้อนภาพการเรียนรู้ที่ไม่หมดสิ้นของมนุษย์ ยิ่งผนวกกับการลงมือปฏิบัติที่ผ่านกระบวนการคิด การวางแผน องค์ความรวมรู้นั้นจะติดตัวไปไม่มีวันเสื่อมคลายจากเรือใบกระดาษลำเล็กในพระหัตถ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ยังทรงพระเยาว์ เรือกระดาษที่ผู้ดูแลนักเรียนในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประดิษฐ์ให้ สู่การลงมือต่อเรือใบด้วยพระองค์เองเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน

บทความเรื่อง “ทรงเรือใบ” โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ในหนังสืออนุสาร อสท ปีที่ 32 ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2534 ได้บรรยายถึงภาพการต่อเรือของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ไว้อย่างน่าสนใจว่าคืนนั้นดึกมากแล้ว แต่ชายผู้หนึ่งนังทำงานอยู่ กำลังง่วนแต่งไม้ที่จะเป็นกระดูกเรือใบ ทันใดนั้นเกิดมีเสียงระเบิดตูม ตามด้วยเสียงรัวดังยังกับปืนกล เกิดรัฐประหารหรืออย่างไร ใกล้พระตำหนักจิตรลดาเสียด้วย แต่อาจจะไม่ใช่ เขาพลิกข้อมือดูนาฬิกา ก็ทราบความจริงว่าเป็นเสียงพลุที่เขาดิน เขาจัดงานปีใหม่กันที่นั่น ชายผู้นั้นซึ่งก็คือผู้เขียน (มจ.ภีศเดช รัชนี) เรานี่เอง จึงทรุดขายลงกราบพระบาทพระเจ้าอยู่หัวเพื่อถวายพระพรปีใหม่ มีรับสั่งว่า

“ปีใหม่ คนอื่นๆ เขาไปฉลองกัน เสียเงินมาก แต่เราเสีย 147 บาท เท่านั้น เป็นค่าไม้ยมหอมและค่าเบียร์ฉลองปีใหม่ แต่เรายังสนุกกว่าเขาอีก แล้วเป็นประโยชน์ด้วย”

MP29-3209-C และเรือใบลำที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงประกอบกระดูกงูในตอนปีใหม่นั้น ก็ได้รับพระราชทานนาวว่า “นวฤกษ์” เรือใบประเภท OK จดทะเบียนเลขหมาย TH9

เมื่อย้อนไปราวปี 2506 ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กอปรกับพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการออกแบบและต่อเรือใบด้วยพระองค์เองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งยังได้ทรงเห็น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี แล่นเรือใบลำเล็กๆ 2 ลำคือ “นางลม” และ “ลูกลม” ซึ่งเรือใบที่ชื่อลูกลมนั้นหม่อมเจ้าภีศเดช ต่อด้วยตนเองเป็นลำแรก ใบสีแดง เคยแล่นตามเสด็จฯ ระหว่างทรงเรือกรรเชียงหลายครั้ง และเรือใบสีแดงคือจุดเริ่มต้นของการลงมือประกอบเรือด้วยพระองค์เอง

ต่อมา งานประกอบเรือก็เริ่มต้นขึ้น ณ ห้องทรงงานช่างภายในพระตำหนักจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ม.จ.ภีศเดช เล่าถึงห้องทรงงานช่างไว้ว่า

“เครื่องมือสำหรับต่อเรือที่ทรงมี ที่ผู้เขียนชอบมากคือโต๊ะช่างไม้แบบฝรั่ง มีส่วนที่เลื่อนเข้าออกให้ยึดไม้ที่เราจะเลื่อยหรือไสได้สะดวก อีกอย่างหนึ่งซึ่งรับสั่งว่าทรงซื้อของใช้แล้วมาจากสวิตเซอร์แลนด์ คือ เลื่อยวงเดือนไฟฟ้าตั้งอยู่บนโต๊ะ ช่วยให้เราซอยไม้ได้สะดวก เครื่องมืออื่นๆ ส่วนมากเป็นของผู้เขียน ที่ใช้ไฟฟ้ามีอย่างเดียวคือ สว่าน อื่นๆ ใช้พลังของผู้ใช้ เช่น กบ ซึ่งทำด้วยเหล็กขนาดยาวสั้นกว้างแคบต่างๆ ทรงสอนว่าให้เอาหมูเบคอน 1 แท่ง คือยังไม่ได้ฝานบางๆ แขวนเอาไว้ เวลากบฝืดก็คว้าเอาหมูมาถูส่วนที่มันใสไปบนไม้”

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันนั้นปรากฎว่ามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเรือใบได้เหรียญท MP29-3209-D องในการแข่งขันระหว่างประเทศหลายพระองค์ ทั้งประเทศนอร์เวย์ ประเทศกรีซ และประเทศไทย แต่ในโลกนี้ที่ทรงต่อเรือด้วยพระหัตถ์เอง ก็มีแต่พระมหากษัตริย์ของเราเท่านั้น

โดยเรือใบที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองนั้น มี 4 ประเภท ประกอบด้วย

1. เรือใบสากลประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) เป็นเรือใบพระที่นั่งลำแรกที่พระองค์ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองในปี 2507 พร้อมทั้งพระราชทานชื่อว่า เรือราชปะแตน มาจากคำว่า Royal Pattern หมายถึงแบบอย่างของพระราชา จนกระทั่งต่อมาในปี 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงใช้เรือดังกล่าว เข้าร่วมแข่งขันเรือใบกับเจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในโอกาสที่เสด็จมาเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ และเรือลำอื่นๆ อีกรวม 34 ลำ โดยใช้เส้นทางไปกลับ พัทยา-เกาะล้าน และที่สำคัญการแข่งเรือครั้งนี้นับเป็นการแข่งเรือครั้งแรกของพระองค์ และทรงชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังทรงต่อเรือประเภทนี้อีกหนึ่งลำและพระราชทานชื่อว่า เรือเอจี

2 .เรือใบสากลประเภทโอเค (International O.K. Class) ในปีเดียวกันนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงต่อเรือใบประเภทดังกล่าวพร้อมกับพระราชทานชื่อว่า เรือนวฤกษ์ ซึ่งแปลว่า ฤกษ์ใหม่ จากนั้นทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นมาอีกลำ และพระราชทานชื่อว่า เรือเวคา (Vega) โดยมีความหมายว่าดวงดาวที่สว่างสุกใส หลังจากนั้นทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นอีกหลายลำ เช่น เรือเวคา 1 เรือเวคา 2 เรือเวคา 3 ถัดมาในปี 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเรือใบ TH 18 เวคา เพื่อเสด็จพระราชดำเนินข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังหาดเตยงาม ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล โดยเสด็จเพียงลำพังและทรงใช้เวลาในการแล่นใบประมาณ 17 ชั่วโมง และทรงนำธงราชนาวิกโยธินมาปักไว้ที่หาดเตยงามแห่งนี้

การสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นแบบอย่างการประพฤติปฏิบัติที่ดี เพราะพระองค์ทรงวิริยอุตสาหะในการเรียนรู้และสนใจอย่างจริงจัง จนกระทั่งต่อมาในปี 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงร่วมแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (SEAP Games) ครั้งที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงใช้เรือเวคา 2 หมายเลข TH 27 ที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเข้าแข่งขัน และทรงชนะเลิศเหรียญทองร่วมกันทั้ง 2 พระองค์

3.เรือใบสากลประเภทม็อธ (International Moth Class) ในปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงออกแบบและทรงต่อเรือใบสากลประเภทม็อธขึ้น โดยมีจำนวนหลายลำ มีสัญลักษณ์ที่เด่นชัดคือรูปมดปรากฏบใบเรือ อาทิ เรือใบมด เรือใบซุปเปอร์มด และเรือใบไมโครมด และ 4.เรือโม้ก (Moke) ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของพระองค์ในการผสมระหว่างเรือใบสากลประเภทโอเค และ เรือใบซูเปอร์มด ซึ่งเรือแบบนี้เป็นเรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2510

จากเรื่องราวของ “เรือใบฝีพระหัตถ์” ภาพความทรงจำย้อนไป ณ วังสระปทุม เรื่องราวในหนังสือเจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉายภาพการเล่นจนเกิด “งาน” ที่มีคุณใหญ่หลวงต่อแผ่นดิน

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระเยาว์ หนึ่งในการเล่นของเจ้าชายพระองค์น้อยที่สร้างความจดจำได้เป็นอย่างดีให้กับพระเชษฐภคินีก็คือ “การเล่นสร้างเขื่อน” ดังการกล่าวถึงเจ้าชายพระองค์น้อยทั้งสองพระองค์ไว้ว่า

“...ในไม่ช้าการเล่นในกองทรายนั้นจะรู้สึกว่าไม่สนุกนัก เพราะเมื่อเอาน้ำเทลงไปในทราย น้ำก็จะซึมลงไปหมด จึงย้ายกันออกมาเล่นข้างนอก ขุดคลองในดิน นำน้ำมาใส่ให้มาไหลในคลองแล้ววิ่งไปเก็บกิ่งไม้ที่พุ่มไม้ วิ่งกลับมา “ปลูก” ไว้ริมคลอง รดน้ำต้นไม้ ช่วยกันปลูกชนป่างาม นี่คือการสัมผัสครั้งแรกกับงานชลประทานและการปลูกป่า”

จุดเริ่มต้นจากพระหัตถ์เล็กๆ ของเจ้าชายพระองค์น้อย ฝีพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์ที่ทุ่มเทกำลังพระวรกายและใส่พระราชหฤทัยในการต่อเรือโลดเล่นในทะเลกว้าง สู่สิ่งประดิษฐ์ของกษัตริย์นักพัฒนา ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีค่ายิ่งของปวงชนชาวไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,209 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน 2559