ทรัพย์สินทางปัญญาจากพ่อ รากแก้วแห่งแผ่นดิน

14 พ.ย. 2559 | 13:00 น.
รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์กฏหมายเพื่อประชาชนจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับทรัพย์สินทางปัญญาที่สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า งานด้านทรัพย์ทางปัญญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสามารถ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ 1.ลิขสิทธิ์ 2.สิทธิบัตร 3.เครื่องหมายการค้า

MP32-3209-B โดยในส่วนลิขสิทธิ์นั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพระอัจฉริยาภาพหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ดนตรีกรรม วรรณกรรม ศิลปกรรม งานภาพถ่ายและงานปะติมากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดนตรี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพลงกว่า 48 บทเพลง อาทิ แสงเทียน ยามเย็น สายฝน ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต และอื่นๆอีกหลากหลายเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความหมายของการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกันกับงานด้านวรรณกรรม ยกตัวอย่างเช่น พระราชนิพนธ์ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์ หรือจะเป็นการแปลวรรณกรรมต่างชาติ รวมทั้งการพระราชนิพนธ์ เรื่อง “พระมหาชนก” โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ เนื่องในวโรกาสสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 และในการเดียวกันนี้ จากข้อมูลกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงจดแจ้งลิขสิทธิ์ด้านปะติมากรรมในการจัดทำ “เหรียญพระมหาชนก”

MP32-3209-D ผู้อำนวยการศูนย์กฏหมายเพื่อประชาชนจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยต่ออีกว่า สิ่งประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จของพระเจ้าอยู่หัวได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้น 11 ฉบับ แบ่งออกเป็น สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ สิทธิบัตรกรรมวิธีและสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญาของพระบาทสมเด็จ ในการพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆ อันก่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขจวบจนถึงปัจจุบันและต่อไปอย่างยั่งยืน

MP32-3209-C สำหรับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 3127 เรื่อง เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยหรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อกังหันชัยพัฒนา สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10304 เรื่อง เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 29091 เรื่อง ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 29162 เรื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 29163 เรื่อง โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์

MP32-3209-E ด้านสิทธิบัตรกรรมวิธี นั้น ประกอบด้วย สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 13898 เรื่อง การดัดแปลงสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝนหรือเป็นที่รู้จักในชื่อสิทธิบัตรฝนหลวง สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 22637 เรื่อง กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน) สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10794 เรื่อง การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล รวมทั้งอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 841 เรื่อง การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ 2 จังหวะ และสุดท้ายกับสิทธิบัตรประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 16100 เรื่อง อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว และสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 14859 เรื่อง การใช้ภาชนะรองรับของเสียที่ออกจากร่างกาย

MP32-3209-F อย่างไรก็ดีนอกจากลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรนั้น พระองค์ทรงให้ความสำคัญในการบัญญัติเครื่องหมายการค้าอีกด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ได้ทรงจดในนามพระปรมาภิไธย แต่ใช้เป็นเครื่องหมายทางการค้า เช่น บริษัท สุวรรณชาด ทรงใช้เครื่องหมายทางการค้าเป็นรูปสุนัขทรงเลี้ยง "คุณทองแดง" หรือ โครงการหลวง ทรงใช้เครื่องหมายการค้า "ธรรมชาติ"เป็นต้น ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่สำคัญในการที่จะ “สร้างตราสัญลักษณ์ที่เป็นของคนของไทย ผลิตโดยคนไทย ขายสินค้าให้คนไทยได้ซื้อ” อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของประชาชนชาวไทยให้เกื้อหนุนและเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญในด้านสิ่งประดิษฐ์เป็นอย่างมาก ดังเช่นพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า “…เรื่องทรัพย์สินทางปัญญามีมานานแล้ว ทั้งเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร มีความสำคัญมาก…” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์ ทั้งกำลังพระราชหฤทัยและกำลังพระวรกาย สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ พัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทย ทรงใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาส่งเสริมและพัฒนาประเทศ รวมถึงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นได้อย่างโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,209 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน 2559