ลุ้นอัศวินเร่งรถไฟฟ้า5สายลงทุนร่วม 5.8 หมื่นล.เปิดพื้นที่เศรษฐกิจโซนใหม่

14 พ.ย. 2559 | 07:00 น.
สจส.ลุ้นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ใส่เกียร์รถไฟฟ้า 5 สาย งบลงทุนเกือบ 5.8 หมื่นล้านเร่งสายสีเทาช่วงวัชรพล-ทองหล่อ กว่า 2.7หมื่นล้านหวังเปิดพื้นที่ความเจริญโซนวัชรพล-ทองหล่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาสายสีชมพู-เหลืองของรฟม.

นายสุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยถึงแนวทางการเร่งขับเคลื่อนโครงการรถไฟฟ้าในการดูแลและบริหารจัดการของกทม.ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการรับรองด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา(วัชรพล-ทองหล่อ-สะพานพระราม 9 ) ขณะนี้ผลการออกแบบเส้นทางช่วงทองหล่อแล้วเสร็จตามแผนที่จะเร่งดำเนินการในระยะแรก พร้อมกับเร่งหารือกับกลุ่มเค.อี. แลนด์ เพื่อใช้พื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงช่วงใกล้แยกทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา พื้นที่ประมาณ 17 ไร่ โดยสายสีเทา (วัชรพล –ทองหล่อ) วงเงินลงทุน 2.7 หมื่นล้านบาท เฟสแรกระยะ 16.25 กิโลเมตรให้เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว(บีทีเอส) สถานีทองหล่อ ส่วนระยะที่เหลือค่อยกำหนดแผนพัฒนาต่อไป

ขณะเดียวกันได้เร่งชี้แจงต่อผู้บริหารกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องที่ต้องนำเข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี พ.ศ.2556 เพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงผลการศึกษาให้สอดคล้องกับรายงานการร่วมลงทุนพีพีพี โดยขณะนี้กรณีรถไฟฟ้าสายสีทอง(สถานีกรุงธนบุรี-พระปกเกล้า) วงเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท สจส.ได้ส่งเรื่องหารือไปยังสคร.เรียบร้อยแล้วก่อนที่จะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบว่าจะให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 หรือไม่

ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารกทม.ชุดที่มี ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. ได้เห็นชอบแผนดังกล่าวนี้แล้ว แต่เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารกทม.ชุดใหม่ ที่มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ ต้องนำเสนอแผนดังกล่าวสู่การพิจารณาอีกครั้งอีก และต้องเข้าข่ายการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุนปี 2556 จึงต้องนำเสนอเพื่อพิจารณา โดยปฏิบัติคู่ขนานกับการนำเสนอขอรับรองอีไอเอ

นายสุธนกล่าวว่ารถไฟฟ้า 2 เส้นทางในแผนระยะที่ 1 มีสายสีทอง(สถานีกรุงธนบุรี-สะพานพระปกเกล้า) วงเงินลงทุนประมาณ 3,800 ล้านบาท และสายสีฟ้า(ดินแดง-สาทร) วงเงินลงทุนกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ครม.อนุมัติให้กทม.ดำเนินการได้ทันที ล่าสุดจะนำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาระยะที่ 2 ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายหลักที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเปิดประมูลในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างลงตัว โดยรถไฟฟ้าสายสีเทาจะเชื่อมกับสายหลักในหลายจุดด้วยกัน คือ เชื่อมสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) ที่วัชรพล-รามอินทรา สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง)ที่ถนนลาดพร้าว สายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ที่พระราม 9-รามคำแหง และรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ทองหล่อ ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ

นอกจากนั้นสจส.ได้เตรียมความพร้อมดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชันในปี 2560 ยังมีลุ้นอีกว่า สคร.จะ เคาะความชัดเจนในการจัดหางบประมาณกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทไปดำเนินการ เนื่องจากกทม.จะต้องนำเงินไปลงทุนด้านอื่นอีก เช่นเดียวกับบีทีเอสส่วนต่อขยายระยะทาง 1 กิโลเมตร จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส วงเงินลงทุนราว 700 ล้านบาท เพื่อให้เชื่อมกับสายสีแดง(บางซื่อ-หัวลำโพง) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) มีแผนเร่งดำเนินการต้องให้เกิดการเชื่อมโยงกันกับสายสีแดงในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งการเชื่อมกับสายสีแดงยังพอมีเวลาดำเนินการเนื่องจากร.ฟ.ท.ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างสายสีแดงนั่นเอง โดยรถไฟฟ้าทั้ง 5 สาย งบลงทุนรวมทั้งสิ้น 5.75 หมื่นล้านบาท

“เช่นเดียวกับบีทีเอส ช่วงแบริ่ง-สำโรง ที่กำหนดเปิดทดสอบเดินรถ 5 ธันวาคมนี้ก่อนที่จะทยอยเปิดให้บริการแต่ละสถานีต่อเนื่องกันไป แม้จะล่าช้าเนื่องจากการปรับแผนก่อสร้างเพื่อให้เปิดบริการต่อเนื่องกันไปได้ ส่วนการเจรจาภาระหนี้ยังไม่คืบหน้า โดยกทม.ยืนยันว่าจะขอจ่ายนับตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป(ที่ครบระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทาน) แต่ผลการเจรจาจะไม่กระทบต่อการทดลองเดินรถและทดลองให้บริการแต่อย่างใดซึ่งจะต้องรอสรุปผลการเจรจาที่ชัดเจนต่อไป อีกทั้งยังเตรียมเสนอขอความเห็นชอบเพิ่มค่าโดยสารจาก ปัจจุบัน 15 บาทเป็นการเพิ่มตามระยะทางของช่วงอ่อนนุช-แบริ่งให้ผู้บริหารกทม.ชุดใหม่พิจารณาเนื่องจากเป็นมาตรการแบ่งเบาภาระประชาชนในช่วงนั้น และระยะเวลาผ่านมาเกือบ 4 ปีแล้ว”

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(บีทีเอส) กล่าวว่าทางสจส.เร่งผู้รับเหมาให้ติดตั้งระบบรางและระบบอาณัติสัญญาณใกล้แล้วเสร็จ โดยความพร้อมของบีทีเอสนั้นยืนยันว่าพร้อมให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่งไปยังสถานีสำโรง ระยะทาง 1 สถานีที่จะดำเนินการทดสอบตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจึงจะให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,209 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน 2559