เร่งแก้วิกฤติสินค้าเกษตรรูด ลามแรงงานถูกเลิกจ้าง

14 พ.ย. 2559 | 09:00 น.
วิกฤติสินค้าเกษตรตกตํ่าลามหลายกลุ่ม ยันกระทบเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว ขณะที่ภาครัฐระดมมาตรการช่วยเหลือ

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ติดตามสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยการตรวจเยี่ยมกระบวนการรับซื้อที่จุดรับซื้อขนาดใหญ่ อาทิ โรงงาน บริษัท ซีพีเอฟฯ สาขาลำพูน และบริษัท เบทาโกรฯ ภาคเหนือ สาขาลำพูน นอกจากนี้ยังติดตามข้าวเปลือกบริเวณโรงสีอินเตอร์ไรซ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านราคาอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งยกระดับการทำงานเชื่อมโยงการค้าภูมิภาค “พาณิชย์ภาค : Mini MOC” ร่วมกับพาณิชย์จังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนสินค้า หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ขณะที่แนวทางช่วยเหลือข้าวเปลือกภาคอีสาน นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ระบุว่า คาดว่าจะมีข้าวประมาณ 8 ตันเศษ เป็นข้าวหอมมะลิประมาณ 3 แสนตัน และข้าวเหนียวประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งกลางเดือนพฤศจิกายนนี้เริ่มเก็บเกี่ยวได้ ส่วนราคาจะลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย คือ ข้าวเจ้าหอมมะลิราคาประมาณ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเหนียวที่มีผลผลิตออกมามากกว่าปีที่แล้ว จะมีราคาที่ 10,000 บาท/ตัน

สำหรับทางออกจังหวัดช่วยเปิดขายข้าวสารประชารัฐอุดรธานี ทุกวันศุกร์-เสาร์ ที่ตลาดร่มเขียวบริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด รวมถึงห้างบิ๊กซี และเซ็นทรัลพลาซา สาขาอุดรธานี นอกจากนี้ได้เชิญชวนให้หน่วยราชการ สถานศึกษา บริษัทห้างร้าน สถานประกอบการโรงงานขนาดใหญ่ สั่งซื้อข้าวสารจาก สหกรณ์การเกษตร หรือซื้อโดยตรงจากเกษตรกรล่าสุดมีสั่งซื้อข้าวสารจำนวนมาก มทบ.ที่ 24 (ค่ายประจักษ์ศิลปาคม)เดือนละ 10 ตัน กองบินที่ 23 เดือนละ 500 กิโลกรัม โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เดือนละ 12 ตัน และติดต่อให้เอกชน บริษัทร้านค้าสั่งซื้อข้าวสารพรีเมียมเพื่อจัดกระเช้าของขวัญวันปีใหม่ อาทิ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนฯ ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ

นายวิเชียร ชาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ได้ตั้งงบประมาณ 20 ล้านบาท จัดทำโครงการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา เพื่อสีแปรรูปและบรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัม ขนาด 5 กิโลกรัมขายให้ประชาชน คาดว่าตลอดฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 จะสามารถซื้อข้าวสารได้ไม่น้อยกว่า 6,000 ตัน ส่วนการควบคุมราคารถเกี่ยวข้าวจังหวัดได้สำรวจ พบว่ามีจำนวน 348 คัน ราคาที่เหมาะสม อยู่ที่ 600-800 บาท/วัน

ส่วนภาคใต้นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่าผลผลิตตกต่ำส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรชาวสวนทั้งชาวสวนยาง ,ชาวสวนผลไม้,ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งอื่นๆ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรง หลังพบว่าลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมได้รายได้ลดลง และไม่มีความมั่นคงในภาคเกษตรต่างทยอยเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และบริการมากขึ้น

นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกตํ่าทำให้แรงงานเริ่มมองว่าไม่มีความมั่นคงในอนาคตการทำงาน หรือการปรับลดอัตราค่าจ้างที่ลดน้อยลงเป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะยิ่งซํ้าเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ยิ่งวิกฤติขึ้นอีก ดังนั้นทางรัฐบาลควรจะเร่งหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุคือ การหาแนวทางรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาให้กับสินค้าเกษตรให้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,209 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน 2559