เปิดพิมพ์เขียวสนามบินอู่ตะเภา ปักหมุด 2 หมื่นล.รับอีอีซี เปิดช่องดึงบินไทย แอร์บัส โบอิ้งแจม

10 พ.ย. 2559 | 03:00 น.
กองทัพเรือกันพื้นที่ 2 พันไร่ สนามบินอู่ตะเภา รองรับขยายโลจิติกส์ฮับในพื้นที่และอีอีซี วางกรอบเงินลงทุนร่วม 2 หมื่นล้านบาท จ้างที่ปรึกษาวางมาสเตอร์แพลน ส่วนผู้โดยสารตั้งเป้าขยับจาก 5 ล้านคนไปจนถึง 60 ล้านคน เปิดช่องดึงบิ๊กทุน บินไทย โบอิ้ง แอร์บัส ร่วมผุดศูนย์ซ่อม เอ็มอาร์โอ แวร์เฮ้าส์ขนาดใหญ่ รับแอร์คาร์โก้ เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์

พล.ร.ต.วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง พัทยา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแนวทางการดึงดูด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือสัตหีบ(ท่าเรือจุกเสม็ด) ที่ต้องขยายการรองรับการเติบโตของการขนส่งทุกรูปแบบ สำหรับการขยายตัวของโลจิสติกส์ฮับในพื้นที่ ดังนั้นเฉพาะในส่วนของสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้ได้กันพื้นที่ไว้ร่วม 2,000 ไร่ สำหรับรองรับการขยายการลงทุนของสนามบิน รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้นภายในสนามบิน รวมมูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นราว 2 หมื่นล้านบาท และเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงการ อีอีซี

ในส่วนของการขยายการให้บริการของสนามบิน ปัจจุบันอาคารผู้โดยสารรองรับได้ 8 แสนคนต่อปี และกำลังจะเปิดอาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนต่อปีในราวกลางปีหน้า ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โดยจะใช้งบประมาณปี 2560 ในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาใช้เวลาในการศึกษาราว 12 เดือน ซึ่งเบื้องต้นจะกันพื้นที่สำหรับการพัฒนาศักยภาพการรองรับของสนามบินออกเป็น 3 ระยะ แบ่งเป็นระยะสั้นจะเพิ่มการรองรับเป็น 5 ล้านคน โดยเน้นการปรับวิธีบริหารจัดการระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ กับอาคารผู้โดยสารเดิม ระยะกลาง เพิ่มการรองรับเป็น 15 ล้านคน และระยะยาว มองไว้เผื่อถึง 60 ล้านคน ทั้งยันกันพื้นที่ไว้สำหรับสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 ในอนาคตอีกด้วย

“ เราไม่ได้วางเป้าหมายว่าจะต้องลงทุนในแต่ละเฟสว่าจะต้องเป็นช่วงปีใด แต่มองว่าถ้าเห็นแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย เราก็จะมองการก่อสร้างไว้ล่วงหน้า ซึ่งความชัดเจนในการลงทุนจะต้องรอให้การจัดแผนแม่บทแล้วเสร็จ”

พลเรือตรี วรพล ยังกล่าวต่อว่า สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้น ทางสนามบินได้กันพื้นที่ไว้สำหรับ 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1. ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)หรือ MRO 2. ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ (Air Cargo and Logistics Hub) และ 3. เทรนนิ่งเซ็นเตอร์หรือศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินในทุกเรื่อง เน้นเรื่องOn the job Training ไม่ว่าจะเป็น ช่าง นักบิน การให้บริการภาคพื้นไฟล์ตซีมูเลเตอร์ เป็นต้น

โดยการลงทุนเรื่องของเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ทางสถาบันการบินพลเรือน(สบพ.)ก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพราะสถานที่ของสบพ.ที่หมอชิตก็คับแคบมากแล้วในปัจจุบัน และจะมีการไปหาพันธมิตรที่มีไลเซ็นท์การฝึกอบรมในแต่ละเรื่องของการบิน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป EASA และองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FAAเพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ของไทยให้เพิ่มมากขึ้น ส่วน MRO และโลจิสติกส์ฮับสนามบินไว้กันพื้นที่ไว้ถึง 700-800 ไร่ ที่จะเปิดกว้างให้เอกชนหลายราย สามารถเข้ามาลงทุนทำศูนย์ซ่อม และการลงทุนสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ ภายในพื้นที่

อย่างไรก็ตามทราบว่าก็มีภาคเอกชนหลายรายแสดงความสนใจ อาทิ MRO มีการบินไทย สนใจจะร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก อย่าง แอร์บัส หรือโบอิ้ง เข้ามาทำศูนย์ซ่อมเครื่องบินรุ่นเอ350 หรือเอ 380 รวมถึงบริษัทของจีนหรือยุโรปตะวันออกก็แสดงความสนใจเช่นกัน แต่ทุกคนคงอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในเรื่องของกฏหมายพ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกการประกาศเป็นเขตปลอดภาษี กฎหมายเรื่องของการสนับสนุนการลงทุน

“กองทัพเรือให้การสนับสนุนนโยบาย อีอีซีของรัฐบาลเต็มที่ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยเปิดโอกาสการพัฒนาสนามบินเชิงพาณิชย์มากแบบนี้มาก่อน และบางโครงการที่เกิดขึ้นในสนามบิน อย่างเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ก็เริ่มคิดโดยกองทัพเรือ ที่มองว่าถ้าจะผลักดันให้เกิดแต่ MRO แล้วไม่เตรียมการพัฒนาบุคลากรไทยไว้รองรับ ก็จะมีแต่ช่างต่างชาติ หรือแม้แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรวิศกรรมการบิน แต่ต้องส่งนักเรียนไปทำ On the job Training ที่ไต้หวัน จึงมองว่าควรพัฒนาให้เกิดเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ที่นี่ไว้รองรับหรือแม้แต่เรื่องของการเดินเรือเฟอร์รี่ เชื่อมระหว่างหัวหิน-พัทยา ที่ท่าเรือสัตหีบ กองทัพเรือก็เป็นผู้จุดประกายในเรื่องนี้”

ส่วนเรื่องโครงข่ายคมนาคมเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภานั้น พลเรือตรีวรพล กล่าวว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการกำหนดแผนงานต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคมไว้แล้ว ทั้งระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดสัมปทานเดินรถประจำทางปรับอากาศ ใน 3 เส้นทาง จากชลบุรี,ตราด และระยอง เพื่อบริการเดินรถสู่สนามบิน ส่วนระบบรถไฟเดิมมีการเดินไฟจากกรุงเทพฯมายังสถานีพลูตาหลวง เพื่อมาพัทยาอยู่แล้ว ต่อไปจะมีการสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา เพื่อรองรับผู้โดยสาร ซึ่งกองทัพเรือยินดีจะยกพื้นที่ให้สร้าง และยังมองถึงการเดินรถไฟถึงท่าเรือสัตหีบ(ท่าเรือจุกเสม็ด) โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณปี2560 ในการลงทุนอยู่ที่ราว 70 ล้านบาท คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปิดประมูลได้ในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ใช้เวลาดำเนินการ 18 เดือนแล้วเสร็จ

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงตามแนวเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะเชื่อมต่อกับ 3 สนามบิน(แอร์พอร์ตลิ้งค์) คือดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ก็อยู่ในแผนของรัฐบาลที่ผลักดันการก่อสร้าง แต่ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร ในด้านของเส้นทางถนน ในขณะนี้ทางคมนาคมก็อยู่ระหว่างการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331ช่วงวิ่งออกจากเมืองพัทยาที่กำลังขยายถนนเป็น 4 เลน เป็นต้น พล.ร.ต.วรพลกล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,208 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2559