ครม.ไฟเขียว 4 มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ

08 พ.ย. 2559 | 09:52 น.
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า วันนี้ (8 พ.ย.59) ครม.เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 1.มาตรการการจ้างงาน ผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างจ้างงานผู้สูงอายุในกลุ่มที่ไม่มีทักษะมากนัก โดยนายจ้าง บริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล  สามารถหักรายจ่ายได้สองเท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนหรือค่าจ้างบุคคลผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สำหรับคนที่มีค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน โดยสามารถขอให้สิทธินี้ได้ไม่เกิน 10% ของลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับนายจ้างได้สูงถึงกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน  ปัจจุบันพบว่ามีลูกจ้างที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีประมาณ 94,000 คน ส่งผลต่อภาระของงบประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปีกรณีนายจ้างนำมาหักภาษีดังกล่าว

2.เห็นชอบโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ ซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย คลินิก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แบ่งเป็น 3 มาตรการย่อย คือ การสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุบนที่ราชพัสดุใน 4 พื้นที่ คือ จังหวัดชลบุรี 50 ไร่ นครนายก 14 ไร่ เชียงราย 64 ไร่ เบื้องต้นคิดค่าเช่าอยู่ที่ 1 บาทต่อตารางวาต่อเดือน และในจังหวัดเชียงใหม่ 7.5 ไร่ คิดค่าเช่าตามระเบียบกระทรวงคลังเนื่องจากเป็นพื้นที่ทางพาณิชย์ โดยผู้เช่าสามารถเช่าได้เป็นเวลา 30 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 30 ปี ทั้งนี้ กำหนดให้บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาที่สูงอายุได้รับสิทธิในการจองโครงการดังกล่าวเป็นลำดับแรกก่อน

ส่วนที่สอง คือ การก่อสร้างในพื้นที่อื่น รัฐบาลมอบหมายให้ทางการเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พัฒนาองค์กรชุมชน ดำเนินโครงการก่อสร้างบ้านมั่นคงในโครงการบ้านประชารัฐในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย โดยมีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกันโดยให้บุตรที่ดูแลบิดามารดาได้รับสิทธิในการจองโครงการเป็นลำดับแรกก่อนเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้สินเชื่อสนับสนุนเงื่อนไขผ่อนปรนกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะ Pre-Financing จำนวน 4,000 ล้านบาท ทั้งยังจัดสรรสินเชื่อสำหรับผู้อยู่อาศัยหรือผู้สูงอายุ (Post-Financing) เพื่อกู้ยืมนำไปซื้อบ้านในโครงการดังกล่าวได้

3.มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse mogache) หรือการปล่อยกู้ให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60ปีขึ้นไปที่มีที่อยู่อาศัย ปลอดภาระหนี้ สามารถนำสินทรัพย์มาเปลี่ยนเป็นรายได้เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต สามารถแบ่งเป็น อายุสัญญาตามอายุไข และอายุสัญญาที่กำหนดเป็นช่วงเวลา ทั้งนี้ ในระยะแรกนี้ ครม.อยากให้เน้นประเภทอายุสัญญาตามอายุไขเป็นหลัก อย่างไรก็ดี กรณีหากมีคู่สมรส สามารถใช้สิทธิร่วมกันได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้และสามารถเลี้ยงชีพได้ โดยธนาคารจะจ่ายเงินกู้ให้เป็นรายเดือน นอกจากนี้จะมีการศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพื่อค้ำประกันความเสี่ยงดังกล่าว

และ4.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้อำนวยการ สศค.เป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดทิศทางและนโยบายประสานงานทุกกองทุนที่ประเทศไทยมีเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน และร่วมปรับปรุงกองทุนต่างๆของประเทศไทย ทั้งเงินสมทบและเงินปรับปรุงต่างๆ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป นอกจากนี้ยังเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ ลูกจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจ และผู้ที่ไมได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวม 11.37 ล้านคน ตั้งเป้าให้มีรายได้ถึง 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ จากปัจจุบันอยู่ที่ 19% เท่านั้น

กำหนดให้กิจการขนาดใหญ่ตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป รวมถึงกิจการที่ได้รับสัมปทานของรัฐ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน หน่วยงานของรัฐที่ไม่อยู่ในบังคับในกองทุน กบข. และกิจการอื่น ประสงค์ที่จะเข้าในปีแรกเป็นสมาชิกของ กบช. ในปีที่ 4 ขยายให้กิจการที่มีพนักงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ในปีที่ 6 กำหนดให้กิจการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วจำนวน 3 ล้านคน 424 กอง 16,000 บริษัท จากกฎหมายดังกล่าวนี้จะทำให้มีผู้ที่ได้รับการดูแลเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคน เป็นเกือบ 12 ล้านคน

ทั้งนี้ กำหนดหลักเกณฑ์ในการส่งเงินสมทบ ช่วงแรกให้นายจ้าง ลูกจ้างร่วมกันส่ง แบ่งเป็น นายจ้าง 3% และลูกจ้าง 3% ของค่าจ้าง สูงสุดได้ไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน หรือ 3% ของเงินเดือน 60,000 บาท อย่างไรก็ดี หากต้องการส่งเพิ่มสามารถที่จะส่งเพิ่มได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15% สำหรับลูกจ้าง และ 15% ของนายจ้าง ส่วนกรณีที่ลูกจ้างรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ส่งเงินแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 50% ของกลุ่มแรงงานทั้งหมด

กรณีลูกจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วซึ่งออมเกินกว่า 3% สำหรับลูกจ้าง และนายจ้าง ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แต่ถ้าน้อยกว่าที่กำหนดไว้ อาทิ ทำไว้ 1% อีก 2% ที่เหลือต้องมาออมกับ กบช.เพื่อให้ได้เป้าหมาย 3% ดังกล่าว และเมื่อครบอายุ 60 ปี สมาชิกสามารถเลือกรับเป็นเงินก้อนก็ได้ หรือเป็นเงินงวดโดยจะเป็นบำนาญจนถึงอายุ 80 ปี โดยเงินที่ออมผ่าน กบช.จะได้สิทธิประโยชน์เหมือนกองทุนอื่นๆเพื่อชราภาพ อาทิ ลดภาษี  ยกเว้นภาษีต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้ให้ส่งบัญชีรายชื่อใน 60 วัน หลังจาก 360 วันจะเริ่มการเก็บเงินเข้าสู่กองทุนสำหรับกิจการที่เกินกว่า 100 คนขึ้นไป เบื้องต้นคาดการว่า จากมาตรการการออมดังกล่าวจะทำให้เงินออมของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 68,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญของประเทศไทยในการดูแลสังคมผู้อายุต่อไป ดร.กอบศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ