พระราชดำรัส ให้กำลังใจ‘แบงก์ชาติ’ ที่สุดความตื้นตัน ธาริษา วัฒนเกส

08 พ.ย. 2559 | 03:00 น.
เศรษฐกิจไทยแม้จะผ่านช่วงวิกฤติปี 2540 แต่หลังจากนั้นเรายังเผชิญมรสุมอยู่หลายลูกไม่ว่าจะวิกฤติการเมืองปี 2549 วิกฤติซับไพรม์ (สินเชื่อด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินในสหรัฐ) ช่วงปี2550-2551 และถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารเศรษฐกิจในห้วงเวลาดังกล่าวโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

คอลัมน์ “ ในหลวงดวงใจ “ สัมภาษณ์พิเศษดร.ธาริษาวัฒนเกสอดีตผู้ว่าการธปท. ( 8 พ.ย. 2549- 3 ก.ย. 2553 ) ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งปัจจัยในและต่างประเทศทว่ากลับมีสิ่งดีเหนือความคาดคิดที่เป็นที่สุดแห่งความตื้นตันของเธอและเป็นกำลังใจของ”คนแบงค์ชาติ”ตราบทุกวันนี้เพราะเหตุใด?

ตรัสให้กำลังใจผู้บริหารธปท.

ทรงมีพระราชดำรัสตรงให้กำลังใจธปท.?กับคำถามแรก”ดร.ธาริษา”นิ่งเงียบน้ำตารื้นอยู่อึดใจก่อนกล่าวเสียงเครือ “ที่จริงพี่นึกว่าพร้อมจะพูดแล้วแต่ต้องทำใจ” ..... พระราชดำรัสองค์นั้นต้องถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณจริงๆวิเศษและสุดยอดที่สุดแล้วก่อนเล่าที่มาว่าเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2551 ที่คณะผู้บริหารธปท.ได้เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯถวายเงินซึ่งเป็นรายได้จากส่วนต่างของการออกธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

“คือตอนไปเตรียมการเข้าเฝ้าที่พระราชวังไกลกังวลเจ้าหน้าที่บอกว่าถึงเวลาก็จะเสด็จออกและก็เราไม่ทราบว่าพระองค์ท่านจะมีกระแสพระราชดำรัสให้หรือไม่เพราะเจ้าหน้าที่ทางวังบอกว่าต้องแล้วแต่พระองค์ท่านฉะนั้นหลังถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ยกไมโครโฟนออกมาเราก็ใจชื้นแล้วว่าจะมีกระแสพระราชดำรัสแล้วนะเมื่อได้รับฟังกระแสพระราชดำรัสพระองค์ท่านหัวใจพองโตเลยไม่คาดคิดว่าจะได้พระมหากรุณาธิคุณถึงขนาดนี้ทุกคนดีใจมาก”

ดร.ธาริษากล่าวต่อว่ากระแสพระราชดำรัสน่าจะยาวเพียง 5-6 นาทีเมื่อรวมพิธีการก็ประมาณ 10 นาทีแต่ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปริมาณว่ายาวกี่นาทีกล่าวกลั้วเสียงหัวเราะว่าอยู่ที่คุณภาพทรงตรัสถึงเรื่องเงินว่ามีความสำคัญโดยทรงเล่าว่าสมัยก่อนเงินมีค่ามากกว่านี้และนับวันเงินก็มีมูลค่าด้อยน้อยลงไปพร้อมทรงฝากให้ธปท.ดูแลเงินไม่ให้หมดหรือค่าเงินหดหายไปทรงให้กำลังใจดีมาก

“พระองค์ท่านเห็นใจแบงก์ชาติเพราะทรงตรัสว่าคงจะหนักใจทั้งที่ทำดีก็ยังมีคนมาต่อว่าบอกทำไม่ดีบ้างทำไม่ถูกบ้างเป็นการพระราชทานกำลังใจและโอวาทว่าการทำดีบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่คนจะเห็นดีเห็นงามด้วยอาจไม่ใช่เป็นอะไรที่ popular แต่ก็จำเป็นต้องทำ”

เหตุแรงกดดันจากการเมือง

ที่มาของความตื้นตันใจจากการได้รับพระราชทานกำลังใจครั้งนี้สืบเนื่องจากช่วงต้นปี 2551 เงินเฟ้อทั่วไปพุ่ง 9.6 % ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นถึง 147 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลสูงสุดในรอบ 10 ปีนับจากมิถุนายน 2541 แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ยังแรงอยู่ขณะที่รัฐบาลออกมากดดันผ่านสื่อว่าธปท. ไม่ควรจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

“เราดูตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจขณะนั้นว่าเงินเฟ้อขึ้นสูงถึงขนาดนี้และความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยยังดีอยู่เงินเฟ้อจึงสามารถปรับขึ้นไปถึง 9.6 % ธปท.จึงได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ( ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งรวม 0.50 % เป็น 3.75 % ในเดือนส.ค.2551) แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การที่ทรงตรัสว่าแบงก์ชาติทำดีแล้วและมีกระแสพระราชดำรัสให้ทำดีถึงแม้จะมีคนต่อว่าจึงเป็นกำลังใจและความตื้นตันอย่างยิ่งยวดเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง

[caption id="attachment_112047" align="aligncenter" width="503"] ดร.ธาริษาวัฒนเกส ดร.ธาริษาวัฒนเกส[/caption]

ธปท.รับใส่เกล้าฯดูแลเศรษฐกิจ

ดร.ธาริษาเล่าต่อว่าในฐานะธปท. ซึ่งมีหน้าที่ต้องบริหารเศรษฐกิจประเทศให้ดีก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องรับใส่เกล้าฯดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจเรื่องเงินเฟ้อไม่ให้เงินหายหรือลดค่าอย่างไรก็ดีแนวพระราชดำริหลายเรื่องของพระองค์เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนภาคธุรกิจเอกชนภาคครัวเรือนควรน้อมนำไปปฏิบัติดำเนินชีวิตอยู่บนสายกลางเพราะถ้าเศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีดก็จะมีแต่ฟุบลงในที่สุดและเกิดความเจ็บปวด

พระองค์ท่านจึงตรัสว่าการพัฒนาเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องสุดโต่งเพราะเมื่อสุดโต่งแล้วก็ต้องถดถอยตามคอนเซ็ปต์ boom & bust นอกจากนี้การพัฒนาสุดโต่งยังมักจะส่งผลประโยชน์ไปถึงคนในชนบทน้อยการพัฒนาสุดโต่งจึงไม่ได้ทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถ้วนทั่วหน้าจะเห็นว่าประเทศภูฏานที่เขาให้ความสำคัญในเรื่องนี้จึงไม่ได้เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยวัดด้วย GNP ( Gross Nation Product ) แต่เน้นเรื่อง Gross Happiness Index เพื่อให้ความสำคัญกับความสงบสุขของประชากร

เธอยกตัวอย่างบทเรียนในปี2540 ก็เกิดจาการใช้จ่ายเกินตัวเห็นเศรษฐกิจไปโลดทุกคนก็ไปกู้ตอนนั้นภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนถึง 3-4 เท่าบางรายสูง7-8 เท่าเวลามีหนี้สินมากๆสายป่านจึงสั้นแต่ปัจจุบันหนี้สินต่อทุนแค่ 0.8-0.9 เท่าจึงมีความแข็งแกร่งขึ้นมากหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2550-2551 ) เราก็เห็นว่าประชาชนทั่วโลกมีความแตกต่างของฐานะมากขึ้นคนที่มีทรัพย์สินอยู่แล้วก็ทวีความร่ำรวยขึ้นไปอีกเพราะทรัพย์สินเพิ่มค่ามากขึ้นส่วนคนที่ยากจนไม่มีทรัพย์สินก็ยิ่งจนลงไปอีก

 ยืนอยู่บนความพอเพียง

ทั้งนี้จะเห็นว่าในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงพระองค์ท่านตรัสไว้ตั้งแต่ปี 2517 คือ 30 กว่าปีก่อนที่จะเกิดวิกฤติด้วยซ้ำทั้งที่ความจริงตอนปี 2517 เรายังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจยังไม่มีปัญหามากมายแต่ท่านมีสายพระเนตรที่มองทะลุตั้งแต่ตอนนั้นส่วนหลักคิดของการจะสร้างภูมิคุ้มกันก็เป็นหลักการกระจายความเสี่ยงคือการบริหารความเสี่ยงนั่นเองโดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดเรื่อง 3 ห่วง ( พอประมาณ,ความมีเหตุมีผล,ภูมิคุ้มกัน ) ท่านยังทรงย้ำว่าต้องอยู่บน 2 เงื่อนไขคือความรู้และคุณธรรมให้ยืนอยู่บนความพอเพียงและไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น”

ดร.ธาริษายังแนะถึงการการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าบทบาทของรัฐบาลคือบริหารเศรษฐกิจถ้าเครื่องยนต์ตัวอื่นไม่ทำงานเครื่องยนต์จากภาครัฐก็ต้องทำงานเพื่อขับเคลื่อนแต่หากเครื่องยนต์ตัวอื่นยังเดินหน้ารัฐบาลเดินหน้าด้วยก็จะเป็นการแข่งกันเดินเศรษฐกิจก็จะร้อนแรงเกินและอาจสร้างปัญหาตามมาได้ระยะยาวจึงไม่ยั่งยืนถึงแม้ว่าช่วงที่เครื่องยนต์เดินเครื่องเต็มทุกสูบทุกเครื่องทุกคนจะแฮ็ปปี้เพราะว่าเศรษฐกิจเฟื่องฟูแต่ก็เป็นบริหารเศรษฐกิจแบบประชานิยมและผลที่ได้ก็ได้แค่ช่วงสั้นๆแต่มีต้นทุนสูงในระยะยาวภาครัฐบาลจึงต้องระมัดระวัง

ก่อนทิ้งท้ายว่าบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจควรจะมีการส่งต่อถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งและเราทุกคนควรน้อมนำเอาเรื่องของทฤษฏีพอเพียงของพระองค์ไปใช้คือไม่ทำอะไรเกินตัวมีความระมัดระวังและไม่คาดการณ์ให้สวยหรูไปหมด หากเกิดสถานการณ์พลิกผันก็จะมีภูมิคุ้มกันสร้างความยั่งยืนให้กับทุกคนและทุกภาคส่วนได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559