ปลัดมหาดไทยสั่งทุกจังหวัดดูแลความปลอดภัยประชาชนช่วงลอยกระทง

07 พ.ย. 2559 | 07:17 น.
ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการทุกจังหวัดเตรียมแผนดูแลความปลอดภัยของประชาชนในช่วงวันลอยกระทง พร้อมดูแลการจัดงานในพื้นที่ให้เกิดความเหมาะสม ในช่วงพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลลอยกระทงในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งหลายพื้นที่จะมีการจัดสถานที่ให้ประชาชนได้ลอยกระทงตามประเพณี โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร และมักจะเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทั้งทางบก ทางน้ำ ตลอดจนเหตุจากอัคคีภัยอยู่เป็นประจำสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนในช่วงการจัดงานวันลอยกระทงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความเหมาะสมในช่วงพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1. แจ้งองค์กรทุกภาคส่วนใช้ดุลพินิจในการจัดงานวันลอยกระทง ในห้วงของการถวายพระเกียรติยศและความอาลัยขอให้งดส่วนที่เป็นการจัดมหรสพ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง เช่น การแสดงดนตรี การละเล่น เป็นต้น โดยให้ถือเอาความเหมาะสม และความรู้สึกของประชาชนเป็นหลัก

2. ให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตรวจตราอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร หากพบสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรืออาจเกิดเป็นอันตรายให้รีบแจ้งหน่วยงานตามกฎหมายเพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

3. ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ที่จัดงานวันลอยกระทงเตรียมการป้องกันระมัดระวังทุกด้าน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติภัย โดยตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างภายในงานให้มีความแข็งแรงจัดอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำในบริเวณใกล้เคียงหรือสถานที่ที่จัดงานให้พร้อม และดำเนินการตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการห้ามจำหน่ายสุราโดยเคร่งครัด

4. กำชับนายอำเภอ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควันหรือ วัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ   ที่ 27/2559ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ซึ่งได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ หรือ ผู้อำนวยการเขต ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตต้องเป็นไปตามประกาศจังหวัด หรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร รวมถึงการกำหนดระยะเวลาจุดและปล่อย ซึ่งต้องสอดคล้องกับระยะเวลาจัดงานประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

5. ให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายควบคุมดอกไม้เพลิง เข้มงวด กวดขัน การพิจารณาออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งดอกไม้เพลิง รวมทั้งตรวจสอบสถานที่เก็บ ทำ หรือค้าดอกไม้เพลิงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

6. ให้ทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

7. ให้เข้มงวด กวดขันการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยเน้นหนักในเรื่องความปลอดภัย 10 มาตรการ เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย การเมาสุรา ไม่คาดเข็มขัด ไม่มีใบขับขี่และการใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

8. ให้จังหวัดจัดชุดเจ้าหน้าที่ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.)  และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ปฏิบัติงาน ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายทหาร และเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย โดยเฉพาะอุบัติภัยทางน้ำ จัดระเบียบและอำนวยการจราจร รักษาความสงบเรียบร้อย เฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น ตรวจสอบความปลอดภัยบริเวณโป๊ะ ท่าเทียบเรือ สถานที่ริมน้ำสำหรับประชาชนใช้ลอยกระทง และเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่จะเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย โดยประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าเพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รวมไปถึงจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือ กู้ภัยต่างๆ เตรียมพร้อมประจำจุดที่มีประชาชนหนาแน่นเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุโดยประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง หน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมในการดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชน

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดได้เร่งรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนตลอดจนภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันลอยกระทงตามประเพณีไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานโดยขอให้ร่วมกันรักษาแบบแผนวัฒนธรรมอันดีงามแห่งท้องถิ่น งดเว้นการกระทำใดๆที่อาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตนเองและอาจเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย