หลัง 8 พ.ย. เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะไปทางไหน?

07 พ.ย. 2559 | 05:30 น.
เหลืออีกไม่กี่วันแล้วนะครับสำหรับเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาล่าสุดนี่สูสีมากครับ ความไม่แน่นอนทำให้กังวลกันไปทั่ว ตลาดหุ้นตก เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และยังมีปัญหารอให้แก้ไขอีกเยอะ นโยบายเศรษฐกิจของผู้สมัครทั้งสองก็ช่างแตกต่างกันเหลือเกินจนมองได้ว่าครั้งนี้เราอาจจะได้ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือขึ้นกับว่าใครได้รับเลือก

ประธานาธิบดีโอบามาซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่ง ได้กล่าวว่าสหรัฐฯ ควรมีนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความเข้มแข็งและการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว ประเด็นสำคัญที่ประธานาธิบดีคนต่อไปควรดูแลต่อประเด็นหนึ่งคือ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในสหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันเนื่องจากค่านิยมของคนอเมริกันที่มองว่าผู้ที่ทำงานหนักควรได้รับผลตอบแทนสูง จึงมักรู้สึกเฉย ๆ ต่อความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้คนรวยกับคนจน แต่ความเหลื่อมล้ำนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันต่ำ เศรษฐกิจจะเปราะบางและเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้บ่อยครั้งขึ้น

นอกจากนั้น การขาดดุลงบประมาณก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ วิกฤติเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2008 ทำให้สหรัฐฯ ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลขณะที่รายได้แผ่นดินจากภาษีลดลง หนี้สาธารณะของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ปัจจุบันจึงสูงถึงร้อยละ 75 ของจีดีพี ทั้งนี้ ในอีกไม่กี่ปีคือตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 รายจ่ายภาครัฐจะยิ่งสูงขึ้นอีกเนื่องจากจะมีรายจ่ายประกันสังคมและประกันสุขภาพจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากคนรุ่น “เบบี้บูม” เริ่มเกษียณอายุ ในขณะเดียวกันคนอเมริกันจำนวนมากกลับมีค่านิยมที่คัดค้านการขึ้นอัตราภาษีและไม่ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งผลักให้นักการเมืองจำนวนมากหันไปหาเสียงแบบประชานิยมว่าจะลดอัตราภาษีหากได้รับเลือกตั้ง

ทีนี้เรามาดูกันครับว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีหลัก 2 คนนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจอะไรบ้าง สำหรับประเด็นสำคัญสองประเด็นข้างต้น มีความเป็นไปได้ที่นางคลินตันจะสานต่อนโยบายเศรษฐกิจส่วนใหญ่จากประธานาธิบดีโอบามา โดยสำหรับประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ดูเหมือนนางคลินตันจะลงรายละเอียดมาตรการเพื่อแก้ปัญหามากกว่านายทรัมป์ นางคลินตันเสนอโครงการฝึกอาชีพให้กับแรงงานที่ตกงานเพื่อสร้างโอกาสการกลับเข้าทำงานให้มีมากขึ้น และการมีวิทยาลัยชุมชนคุณภาพดีเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้นให้แก่ชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อย ขณะที่นายทรัมป์ไม่ได้เสนอมาตรการใดจริงจัง แถมยังตัดความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการภาษี ซึ่งใช้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้อีกด้วย ที่จริงนายทรัมป์เสนอให้มีการลดอัตราภาษีในลักษณะที่ให้ประโยชน์แก่คนรวยมากกว่าเสียด้วยซ้ำ อาทิ ยกเลิกภาษีมรดก และลดอัตราภาษีเงินได้ขั้นที่สูงที่สุดจากร้อยละ 39.6 ให้เหลือร้อยละ 33

[caption id="attachment_112090" align="aligncenter" width="503"] • โดนัลด์ ทรัมป์ • โดนัลด์ ทรัมป์[/caption]

สำหรับนางคลินตัน แม้จะเสนอให้เก็บภาษีสูงขึ้น (เฉพาะแต่คนรวย) แต่ก็เสนอโครงการใหม่ที่จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ชัดเจนว่าการขึ้นอัตราภาษีคนรวยของนางคลินตันจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ หรือไม่

ท่าทีที่ใกล้กันอาจเป็นนโยบายการค้าระหว่างประเทศซึ่งผมเคยพูดถึงไปบ้างแล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าผู้สมัครทั้ง 2 คนไม่สนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) โดยสำหรับนายทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ต้องถือว่าฉีกแนวจากท่าทีของพรรครีพับลิกันที่มีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจเสมอมา ขณะที่นางคลินตันก็เป็นการเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยให้การสนับสนุนสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่แม้ไม่สนับสนุนทีพีพี นางคลินตันก็ดูมีแนวคิดที่ไม่สุดโต่งเท่ากับนายทรัมป์ที่ประกาศจะขึ้นอากรศุลกากรกับสินค้าจากเม็กซิโกและจีนซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าได้ ซึ่งคงจะเห็นว่าไม่พูดอะไรให้ชัดดีกว่าแข่งท่าทีสุดโต่งกับนายทรัมป์ในเรื่องนี้

สหรัฐฯ ก็ไม่ต่างจากที่อื่นๆ ที่โดนพิษโลกาภิวัฒน์เข้าไปแม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์จากการค้าเสรีกว่าใคร ในที่สุดก็มีอาการต่อต้านเขตการค้าเสรีกับเขาเหมือนกัน เราคงจะเห็นได้ว่าจะไปไกลกันแค่ไหนในแนวทางนี้จากผลการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ครับตื่นมาเช้าวันพุธหน้า โลกจะพบบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปหรือไม่ แค่ไหน ต้องรอลุ้นครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559