‘วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ พิสูจน์‘ศาสตร์พระราชา’กว่า3ทศวรรษ

05 พ.ย. 2559 | 01:00 น.
หากพูดถึง “ศาสตร์พระราชา” ชื่อของ อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตผู้อำนวยการกองประเมินผลงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรี คือ ผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญขับเคลื่อน เดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาตลอดหลายสิบปีนี้

..ในฐานะผู้ลงมือปฏิบัติและเดินตาม “ศาสตร์ของพระราชา” อย่างมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างจริงจัง ให้นิยามความหมายคำนี้อย่างไร ?

“ฐานเศรษฐกิจ” เปิดประเด็นถาม เงียบไปสักพัก ก่อนที่ อาจารย์ยักษ์ จะตอบว่า เป็นโจทย์ที่ยากนะ แต่หากให้ตอบจากประสบการณ์ส่วนตัวในมุมมองของเขาแล้ว “ศาสตร์ของพระราชา” มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ ธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด อีกประการ คือ ความรู้ที่เหมาะกับฐานะ เหมาะกับกำลัง เหมาะกับดิน กับน้ำ เหมาะกับภูมิศาสตร์ และเหมาะกับวิถีชีวิตของเรา สอนให้เสียสละ “ให้ดีกว่าขาย”

“นี่คือ สิ่งที่พระราชาพระองค์นี้ท่านทรงสอนเอาไว้ ไม่มีอยู่ในตำราเล่มไหน ที่สำคัญพระองค์ท่านทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครสนใจ เปรียบเหมือนสำนวนสุภาษิตไทยที่ว่า “ไก่ได้พลอย วานรได้แก้ว” ไม่เคยรู้คุณค่าของสิ่งที่มี ก่อนจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า

“..เหมือนทัพพีแช่ในหม้อน้ำแกงที่ไม่เคยรู้รสชาติของน้ำแกงนั้นเลย..” หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ..เกาะชายผ้าเหลืองฟังธรรมะทุกวันแต่ไม่เคยนำไปปฏิบัติ ไม่มีใครสนใจจริงจัง แต่ชื่นชมยกย่อง ฝรั่งใช้คำว่า Cosmetic Society หรือ สังคมฉาบหน้า มีความสุขที่จะทุกข์ เหมือนกับผมหวังอยากนั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีสักกระทรวงก็ต้องไปคอยเอาอกเอาใจรับใช้นายกรัฐมนตรี เพราะความอยากจะเป็น หรือความรู้สึกเหมือนคุณทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมีรายได้ 10 ล้านบาทแต่ไม่มีความสุข ตื่นเช้ามาไม่อยากเหยียบไปที่ทำงาน

[caption id="attachment_111168" align="aligncenter" width="503"] ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร[/caption]

จากนั้นได้เล่าประสบการณ์เสี้ยวหนึ่งของชีวิต ก่อนหันหลังให้กับอาชีพรับราชการว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาในยุคเสรีภาพเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นยุคตะวันตกครอบงำ แม้ว่าจะไม่เก่งภาษาอังกฤษแต่ก็ตะเกียกตะกายที่จะอ่าน เพราะชื่นชมตะวันตก เป็นสมัยที่พ่อแม่นิยมส่งลูกหลานให้เรียน มีการศึกษาสูงเพื่อให้ฉลาดกว่าตัวเอง และตัวเขาก็เชื่อเช่นนั้นจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องทำพิธีขอขมาก่อนไถหว่าน ต้องไหว้ ต้องมีขนมบูชา มองว่า วิธีคิดแบบนี้ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

กระทั่งเมื่อ 30 ปีก่อนได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อยมาจนได้เป็น “ผู้อำนวยการกองประเมินผลและข้อมูล” ใน กปร.

“พระองค์ท่านให้ทำหน้าที่จดบันทึกพระราชดำริแล้วก็เอาพระราชดำริที่บันทึกไว้แล้วประมวลเป็นเล่ม ถวายพระองค์ท่าน พอท่านตรวจสอบแล้วว่าใช่ เราก็จะนำเรื่องนั้นมาทำแผน มาเขียนแผนร่วมกับหน่วยงานที่ท่านรับสั่ง หลายทฤษฎีไม่มีอยู่ในตำราฝรั่ง พระองค์ท่านตรัสว่า ไม่เชื่อใช่ไหมละ ทำไปเถอะเป็นบุญ อย่าเลิกทำ”

ตอนไปบรรยายเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปเล่าให้เกษตรกรฟังว่า พระองค์ท่านคิดอย่างนี้ ท่านทำให้ดูแล้วอย่างนี้ คนก็ไม่ทำตามกัน ไม่เชื่อว่า จะเป็นไปได้ เราเห็นพระองค์ท่านลงไปเหน็ดเหนื่อย ลงไปทำด้วยพระองค์เอง ปลูกป่า ปลูกข้าว ไปเกี่ยวข้าวด้วยตัวพระองค์ท่านเอง ก็เลยคิดว่า เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นเพื่อให้คนกลุ่มนี้ดู พ่อแม่เราทำไร่ไถนา ถ้าเราเป็นเกษตรกรเอง ชาวบ้านจะเชื่อมากขึ้น ความรู้ที่พระองค์ท่านทำไว้ให้ดู มีพอแล้ว ขาดคนเอาจริงในสนาม มาทำทุกอย่างที่ได้ฟัง ที่ได้บันทึกมา ตัดสินใจลาออกจากราชการมีบำนาญ 9,000 บาท กับอีก 7 ปาก ต้องหาเลี้ยง ค่อยๆทำเรื่อยๆ

“ที่ลาออกไม่ใช่เพราะหมดกิเลส เพียงแต่ไม่อยากวนเวียนกับสังคมที่ฉาบหน้า หันมาสร้างสังคมของเราเอง ตอนนี้สบายแล้ว ชีวิตเรามีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เราสัมผัสได้ ใครเชื่อก็เอาไปทำ เราเอื้อเฟื้อเต็มที่ เหมือนเราเลี้ยงนก ไม่มีน้ำ อดอยากมา เราขุดบ่อน้ำไว้ให้ มีหน้าที่หาอาหาร มีตัวอย่างความสำเร็จไว้ให้ เราไม่มีสิทธิไม่บังคับให้เชื่อ”

“ผมบอกได้คำเดียวว่า ถ้าได้รู้รสชาติของคำว่า “พอเพียง” แล้ว เหมือนในภาษาอีสานที่ว่า มันแซบ มันลำขนาด ยากที่จะอธิบายให้รู้รสได้เว้นแต่จะได้สัมผัสด้วยตัวเอง ต้องลองทำ ลงมือปฏิบัติจริง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรมเป็นเรื่องดีๆที่มีคุณค่ายากจะอธิบาย

ในห้วงเวลาเศร้าโศกเช่นนี้ ไม่อยากจะบอกว่า คนไทยเราลืมง่าย ต้องยอมรับความเป็นจริง หากเราอาลัย ควรน้อมนำศาสตร์นี้พระองค์ท่านที่ทรงทำตัวอย่างให้เห็น มีความสำเร็จให้ดูแล้วไปปฏิบัติ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,206 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2559