สำรวจพื้นที่ ตามรอยเส้นทางสายไหม เชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน-จีน (ตอน1)

04 พ.ย. 2559 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ 21st Maritime Silk Road เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลจีนที่มุ่งสร้างความเชื่อมโยงแบบหลายมิติกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการเสริมสร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีน ส่งเสริมการไปมาหาสู่และเร่งขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

[caption id="attachment_111133" align="aligncenter" width="503"] หยาง สิ่ว ผิง หยาง สิ่ว ผิง[/caption]

ศูนย์อาเซียน-จีน (เอซีซี) หรือ ASEAN-China Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลชาติอาเซียน 10 ประเทศร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มีภารกิจหลักในการเชื่อมโยงประชาคมอาเซียนกับจีน โดยนางหยาง สิ่วผิง เลขาธิการศูนย์ฯ ณ กรุงปักกิ่ง ได้เล็งเห็นความสำคัญของนโยบายยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงได้จัดโครงการสื่ออาเซียนเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่ขึ้นระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคม 2559 เพื่อให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกและสัมผัสประสบการณ์จริงเกี่ยวกับศักยภาพในการเชื่อมโยงเครือข่ายการค้า การลงทุน รวมทั้งความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเส้นทางสายสำคัญดังกล่าว

การเดินทางครั้งนี้มีสื่อมวลชนจาก10 ประเทศอาเซียน โดย “ฐานเศรษฐกิจ” เป็นหนึ่งเดียวของสื่อมวลชนไทยที่ได้ร่วมลงพื้นที่และสัมภาษณ์พิเศษบริษัทเอกชนของจีนทั้งในมณฑลเจียงซูและยูนนาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในเส้นทางดังกล่าวโดยเฉพาะในแง่การเชื่อมโยงจีนเข้ากับประเทศสมาชิกอาเซียน ทางคณะเริ่มต้นการเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตงไปยังเมืองตอนใต้ของมณฑลเจียงซู ได้แก่ นครหนานจิงเมืองอู๋ซี เมืองซูโจว และเมืองฉางโจวซึ่งเป็นแหล่งผลิตในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญของมณฑลเจียงซู ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองคุนหมิง เมืองเดฮอง และเมืองฉวี่จิ้งในมณฑลยูนนานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เราประเดิมพบตัวแทนเอกชนจีนรายสำคัญในมณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นมณฑลชายฝั่งทะเลและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตในภาคตะวันออกของจีน และพบว่าหลายรายมองภูมิภาคอาเซียนเป็นฐานการผลิตที่ดี มีทำเลใกล้ชิดตลาดจีน และพร้อมที่จะขยายการลงทุนเข้ามา

  T10-320602 ฟีนิกซ์ อาร์ กรุ๊ป เล็งขยายฐานผลิตมาไทย

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์บริษัทเอกชนในเมืองอู๋ซี ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมในมณฑลเจียงซู ทางชายฝั่งทะเลทิศตะวันออก “ฐานเศรษฐกิจ” ได้พบกับผู้บริหารของบริษัทฟีนิกซ์ อาร์ กรุ๊ปฯผู้ผลิตอุปกรณ์สร้างสรรค์งานศิลปะรายใหญ่ที่คร่ำหวอดกับตลาดในภูมิภาคอาเซียนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยบริษัทได้ประเดิมขยายโรงงานไปยังประเทศเวียดนามและกัมพูชา อาศัยประโยชน์จากทำเลที่ตั้งใกล้ชิดติดกับจึงจีนลดต้นทุนด้านการขนส่ง แต่ในขั้นต่อไปบริษัทกำลังมองไทยเป็นฐานผลิตแห่งใหม่ในตลาดอาเซียน

นายลิน จินสงผู้ช่วยประธาน บริษัทฟีนิกซ์ อาร์ กรุ๊ป กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากเส้นทางการเชื่อมโยงทางการค้าใหม่ของจีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “เส้นทางสายไหม” ภายใต้การริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือการได้เข้าไปลงทุนซึ่งจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพิ่มโอกาสการจ้างงาน และได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงอุตสาหกรรมให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา

ฟีนิกซ์ อาร์ กรุ๊ป เปิดฐานการผลิตในประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แห่งแรกที่ประเทศเวียดนาม ตามมาด้วยกัมพูชาในปี 2556เนื่องจากมีชายแดนใกล้ชิดกับประเทศจีนและสะดวกต่อการขนส่งสินค้าเพื่อป้อนให้กับบริษัทแม่
“เหตุผลว่าทำไมเราต้องออกมาลงทุนในต่างแดน คำตอบก็คือ ประเทศจีนมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ และค่าจ้างแรงงานก็แพง ปัจจุบันโรงงานของบริษัทที่เวียดนามและกัมพูชา มีลูกจ้างเป็นคนในพื้นที่มากกว่า 800 คน ซึ่งส่วนใหญ่ชักชวนกันมาจากครอบครัวเดียวกันหรือคนรู้จักกัน ในอนาคตเรามองว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นฐานการผลิตต่อไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการขนส่งสินค้าหรือค่าจ้างแรงงาน” นายจินสงกล่าว และยังย้ำว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นที่เข้าไปลงทุน ทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา เขามองว่า เมื่อฟีนิกซ์ อาร์ กรุ๊ป เข้าไปลงทุนในประเทศไหน ประชาชนในประเทศนั้นต้องได้รับประโยชน์ด้วย ต้องเป็นการลงทุนที่ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย

T10-320603 ฟีนิกซ์ อาร์ กรุ๊ป เป็นผู้ผลิตและส่งออกอุปกรณ์สร้างสรรค์งานศิลปะไปยัง 50 กว่าประเทศทั่วโลก ทั้งยังครองตลาดเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ผลิตภัณฑ์ของบริษัทไก้แก่ กระดาษวาดภาพ สี พู่กัน เฟรมวาดภาพ ขาตั้งวาดภาพ เครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะต่างๆ โดยปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 525 ล้านบาท

ผู้ผลิตรายนี้ยังมีพื้นที่จัดแสดงภาพสีน้ำมันชื่อว่า “ฟีนิกซ์ อาร์ พาเลซ” ในเมืองหลักของจีน เช่นที่กรุงปักกิ่ง มีพื้นที่จัดแสดง 300 ตารางเมตร จัดแสดงและจำหน่ายภาพสีน้ำมันของศิลปินผู้มีชื่อเสียง นอกจากนี้ยังมีที่เมืองเซี่ยงไฮ้ซูหยางและอู๋ซี รวมถึง “ฟีนิกซ์ อาร์ มิวเซียม” และ “ฟีนิกซ์ อาร์ คลาส” ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะสำหรับเด็กเล็กจนถึงผู้ที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้านศิลปะ

ฟีนิกซ์ อาร์ พาเลซ มีส่วนร่วมอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมศิลปะทั้งในประเทศจีนเองและในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่การเป็นสถานที่จำหน่ายภาพสีน้ำมันที่สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ บริษัทยังได้เพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปะโดยร่วมมือกับสถาบันศิลปะต่างๆ เช่น สมาคมศิลปินภาพวาดของจีน และพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติของจีน เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,206 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2559