ผู้ส่งออกแห่ดัมพ์ราคาข้าว ทีดีอาร์ไอแฉต้นเหตุกดโรงสีจนกระเทือนชาวนา

03 พ.ย. 2559 | 08:00 น.
แฉผู้ส่งออกตัวการทำข้าวทรุดหนัก เหตุแย่งกันขายดัมพ์ราคาตลาดโลก เชียร์รัฐบาลไม่กำหนดราคาจำนำยุ้งฉางสูงกว่าตลาด ประยุทธ์พลิกมตินาทีสุดท้าย เคาะจำนำยุ้งฉางใหม่ตันละ 1.3 หมื่น ใช้งบ 2 หมื่นล้าน เผย 2 ปี ธ.ก.ส.ขาดทุนพันล้าน

สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกในประเทศตกตํ่าเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิในช่วง 1-2 สัปดาห์ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาตันละ6,000-7,000 พันบาท/ตันนั้น ใกล้เคียงกับราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ขายได้เพียง 5,000-6,000 บาท/ตัน(ตามคุณภาพและความชื้น)สร้างผลกระทบวงกว้าง เป็นเหตุให้รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

 มติเดิมให้ 11,525 บาท/ตัน

ล่าสุดที่ประชุม นบข.ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อชะลอการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิ ปีการผลิต 2559/62 ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่เข้าร่วมโครงการ เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยข้าวความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% กำหนดวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากโครงการ 8,730 บาท/ตัน(90% ของราคาตลาดที่ 9,700 บาท/ตัน) และได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ 1,295 บาท/ตัน และค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางผุ้กู้อีก 1,500 บาทต่อตัน รวมเป็น 11,525 บาท/ตัน ใช้วงเงินงบประมาณรวม 8,600 ล้านบาท อย่างไรก็ดียังมีกระแสความไม่พอใจของเกษตรกรถึงราคาจำนำยุ้งฉางที่ 8,730 บาท/ตัน(ไม่รวมค่าช่วยเหลืออื่นๆ) นั้นต่ำเกินไป

 พลิกนาทีสุดท้ายให้ตันละ1.3หมื่น

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางนบข. ได้ประชุมนัดพิเศษก่อนนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม.(1 พ.ย.59) โดยได้มีมติให้ปรับเพิ่มราคารับจำนำยุ้งฉางข้าวเปลือกหอมมะลิใหม่ที่ 9,500 บาทต่อตัน(คิดจาก 90% ของราคาตลาด ณ ปัจจุบันที่ 11,000 บาท/ตัน) และเกษตรกรจะได้รับเงินค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ 2,000 บาทต่อตัน และได้เงินค่าขึ้นยุ้งฉางและเก็บรักษา 1,500 บาท รวมทั้งสิ้น 13,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาตั้งแต่วันนี้ - 28 กุมภาพันธ์ 2560

ทั้งนี้ในระยะเวลา 5 เดือนที่เกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการจะไม่เสียดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แต่หากพ้นระยะเวลา 5 เดือนแล้วไม่ไถ่ถอนข้าวคืนจะคิดอัตราดอกเบี้ยเป็นรายๆไป ส่วนเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางและไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จะขายข้าวเปลือกหอมมะลิได้ที่ราคาตลาด 9,700-12,000 บาท/ตัน หรือเฉลี่ย 11,000 บาท/ตัน และเมื่อขายข้าวในตลาดก็จะได้รับค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ 2,000 บาท/ตัน ภายในช่วงโครงการถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560 เช่นเดียวกัน

“โครงการนี้มีการปรับตลอดเวลา หากเดือนหน้าหรือระยะหนึ่งราคาข้าวมีการปรับตัว ก็มีการปรับราคาอีกได้ เป็นโครงการที่ดูกลไกตามตลาด โดยคาดว่า จะใช้วงเงินทั้งหมดไม่เกิน 20,000 ล้านบาท”

 คุมเข้มวัดความชื้นกันเอาเปรียบ

หลังจากนี้จะมีมาตรการเสริมอื่นๆตามมา อาทิ กับทางกลุ่มโรงสีเกี่ยวกับเครื่องตรวจวัดความชื้น น้ำหนัก เพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ รวมถึงมาตรการด้านการตลาด โดยในวันที่ 13-15 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงพาณิชย์มีโครงการเชิญผู้ซื้อ 15 ประเทศมาเจรจาซื้อขายกับผู้ส่งออกโดยจะมีมาตรการควบคุมไม่ให้มีการตัดราคากัน รวมถึงโครงการเดินสายออกไปหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดที่เคยสูญเสียไป อย่างประเทศอิหร่าน เป็นต้น

 TDRI แฉที่มาข้าวราคารูด

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สาเหตุที่ราคาตกต่ำในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่มีผลพยากรณ์ผลผลิตข้าวที่แน่นอน ยกตัวอย่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานที่ประชุม นบข.เมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ผลผลิตข้าวเปลือกทุกประเภทในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาปริมาณ 1 ล้านตัน ขณะที่กรมการข้าว รายงานเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิชนิดเดียวจะเพิ่มขึ้น 3 ล้านตัน ข้อมูลแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

 ผู้ส่งออกดัมพ์ราคากันเอง

ขณะเดียวกันผู้ส่งออกไม่เชื่อผลพยากรณ์ก็จะออกไปสำรวจข้าวเอง ไม่ได้ไปทุกจังหวัด แต่เลือกไปจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง เห็นข้าวเต็มท้องทุ่ง ก็สันนิษฐานร่วมกับโรงสีในพื้นที่ถึงคาดการณ์ผลผลิต และคำนวณราคาข้าวว่าควรจะเป็นเท่านี้ ซึ่งมีผู้ส่งออกบางรายไปกำหนดราคาขายข้าวสารหอมมะลิส่งออก เอฟ.โอ.บี ตัดราคาตลาด เพียงตันละ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากในขณะนั้นราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี อยู่ที่ตันละ 600-700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคู่ค้าก็ฉลาด กลับไปถามผู้ส่งออกอีกราย ว่าเจ้านี้ให้ราคาเท่านี้ คุณจะให้ราคาเท่าไร แทนที่จะบอกในราคาใกล้เคียงหรือเท่ากัน อีกรายหนึ่งก็กลับไปดัมพ์ราคาขายให้ต่ำลงมาเหลือเพียงตันละ 530 ดอลลาร์สหรัฐฯ กระทบถึงราคาข้าวในประเทศที่รูดลงจนถึง ณ ปัจจุบัน

“พ่อค้าเก็งกำไรไม่ผิด แต่ที่ผิดคือหน่วยงานรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้คนกลุ่มนี้ต้องลงไปหาข้อมูลเอง สำรวจในพื้นที่โดยเลือกจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น แล้วตั้งสมมติฐานเองว่าปริมาณข้าวจะเยอะ ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ ไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าข้าวหอมมะลิมีปริมาณเท่าไรกันแน่ แม้แต่ข้าวชนิดอื่นๆ ด้วย ในเรื่องนี้แนะนำว่าควรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบภาคพื้นดินเพื่อสำรวจว่ามีข้าวประเภทไหนบ้าง เพื่อให้ประมาณการปริมาณข้าวได้ถูกต้องและจะสามารถนำเสนอราคาให้สอดคล้องกับปริมาณได้อย่างแม่นยำ"

ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า การให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนั้นเห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากไม่บิดเบือนกลไกลตลาดมากนัก เพราะถ้าเพิ่มราคาให้สูงมาก สุดท้ายจะไม่ต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เคยมีโครงการจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ทำให้เป็นภาระงบประมาณ และสร้างความเสียหายมาก

 ชาวนาเฮได้ 1.3 หมื่น/ตัน

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ปรับราคาจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉาง จาก 11,525 บาท/ตัน เป็น 13,000 บาท/ตันนั้น ทางพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้โทรสายตรงมาหาแล้วก็มีความยินดี โดยได้รับแจ้งว่านายกรัฐมนตรีมีความเห็นใจและต้องการช่วยเหลือชาวนาจริงๆ จึงได้มติใหม่ ก่อนที่จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะใช้วงเงินในการนี้ประมาณ 18,934 ล้านบาท (จากเดิมประมาณ 8,600 ล้านบาท)

“ชาวนาพอใจมาก และขอชื่นชมรัฐบาลที่ปรับราคาใหม่ คาดตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายนเป็นต้นไปราคาข้าวเปลือกจะปรับดีขึ้น หลังจากที่ข้าวเปลือกหอมมะลิถูกฉุดราคาขึ้น จะทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ยังไม่มีโครงการช่วยเหลือพิเศษปรับราคาดีขึ้นตามไปด้วย จากก่อนหน้านี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิกับข้าวเปลือกเจ้าใกล้เคียงกัน โรงสีเลือกที่จะซื้อข้าวหอมมะลิมากกว่า”

 หอมมะลิทะลักต้องช่วยก่อน

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยข้อมูลว่าในปีเพาะปลูก 2559/60(ตั้งแต่ 1 พ.ค.-30 ก.ย.59)ประเทศไทยมีการปลูกข้าวรอบที่ 1 ไปแล้วทั้งสิ้น 57.29 ล้านไร่ คาดจะได้ผลิตทั้งหมดประมาณ 25.19 ล้านตันข้าวเปลือก(มากกว่าเป้าหมาย 2.31 ล้านตัน) ในจำนวนนี้เป็นผลผลิตข้าวหอมมะลิมากที่สุด 10.79 ล้านตัน รองลงคือข้าวเจ้า 7.13 ล้านตัน ข้าวหอมปทุมธานี 1.0 ล้านตัน และข้าวอื่นๆ 0.03 ล้านตัน โดยผลผลิตข้าวทั้งหมดจะออกมามากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ปริมาณ 14.96 ล้านตัน หรือสัดส่วน 59% ของผลผลิตทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลจึงเลือกที่จะช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวหอมมะลิก่อน

 2 ปีธ.ก.ส.ขาดทุนพันล้าน

แหล่งข่าว นบข. เผยว่า จากที่ ธ.ก.ส.ได้ช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีหรือจำนำยุ้งฉางใน 2 ปีการผลิตที่ผ่านมา( ปีการผลิต 2557/58 และ 2558/59) ได้ประสบภาวการณ์ขาดทุนรวมประมาณ 1 พันล้านบาท ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ยังมีข้าวคงเหลือที่รอการระบาย จำนวน 136,477 ตัน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ กาฬสินธ์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดให้ ธ.ก.ส.ระบายออก ไม่เช่นนั้นเกษตรกรกลุ่มนี้จะไม่มีที่เก็บข้าวฤดูการผลิตใหม่ รวมถึง ธ.ก.ส.ต้องขอชดเชยการขาดทุนจากรัฐบาล

 โรงสีโวยเป็นแพะกดราคา

ด้านแหล่งข่าวจากวงการโรงสี เผยว่า ที่ผ่านมาจากราคาข้าวตกต่ำ ทางกระทรวงพาณิชย์พยายามโบ้ยให้โรงสีเป็นแพะ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงผู้ส่งออกเป็นคนกำหนดราคารับซื้อ ซึ่งโรงสีเองก็ต้องคำนวณกลับมาเป็นราคารับซื้อข้าวเปลือก จะไปรับซื้อราคาสูงมากก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องธุรกิจต้องมีกำไรเช่นกัน ส่วนเรื่องความชื้นข้าวที่ใช้เป็นตัววัดในการกำหนดราคานั้นก็ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งต่อไปจะเสนอทางสมาคมโรงสีข้าวไทยให้ประกาศราคารับซื้อข้าวแห้งแทน

“จากผลพวงราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำมีผู้ประกอบการส่งออกข้าวรายใหญ่รายหนึ่ง ที่มาขอซื้อข้าวสารหอมมะลิจากโรงสีแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในราคาขาย 24,000 บาทต่อตัน แต่พอสถานการณ์ราคาข้าวเป็นแบบนี้ก็ไม่รับซื้ออ้างว่าข้าวกลิ่นเปรี้ยว ไม่ได้มาตรฐาน”

 ยันช่วยโรงสีขาดสภาพคล่อง

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า ภาพใหญ่ของปัญหาข้าวตอนนี้ คือ ราคาตกต่ำ และโรงสีมีสต๊อกข้าวเก่าที่เก็บไว้จำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถรับซื้อข้าวใหม่จากชาวนาได้ เพราะไม่มีทั้งกำลังซื้อและไม่มีที่เก็บข้าว ทั้งนี้การแก้ปัญหาระยะยาวภาครัฐควรต้องจัดพื้นที่เพาะปลูก (โซนนิ่ง) การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) และลดต้นทุนการดำเนินงาน (Cost) เพราะการจัดโซนพื้นที่เพาะปลูกจะช่วยลดต้นทุนในด้านขนส่งได้ รวมถึงต้องควบคุมปริมาณการผลิต เพื่อให้ปริมาณผลผลิตไม่ล้นความต้องการของตลาดมากเกินไป

“ในส่วนของธนาคารกรุงไทย ถือเป็นสถาบันการเงินที่มีพอร์ตสินเชื่อของโรงสีค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับที่อื่น ปัจจุบันธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าโรงสีโดยการประคับประคองลูกค้ารายเก่าก่อน หากดูลูกค้าจะพบว่าตอนนี้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนค่อนข้างจะเต็มเพดานหมดทุกราย ธนาคารจึงช่วยเหลือเยียวยาเป็นรายกรณี ส่วนลูกค้ารายใหม่ที่จะเข้ามาธนาคารอาจจะยังไม่ได้ปล่อยสินเชื่อ”

 สภาหอเชียร์รัฐมาถูกทาง

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาข้าวที่ตกต่ำในขณะนี้ว่ารัฐบาลเองได้พยายามที่จะออกมาตรการมาช่วยชาวนาไม่ว่าจะเป็น มาตรการจำนำยุ้งฉางเพื่อชะลอการขายข้าว รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือชาวนา ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะช่วยยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้นได้

 ข้าวถุงยันราคาถูกลง

นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ข้าวไก่แจ้” กล่าวว่า ปัจจุบันข้าวสารบรรจุถุงที่วางจำหน่ายถือว่ามีราคาถูกเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ในอัตรา 20-30% เนื่องจากต้นทุนข้าวได้ปรับราคาลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

 สั่งเช็กภาษีย้อนหลังโรงสีขูดเลือด

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังในการประชุม นบข.ทาง พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการทางภาษี โดยเฉพาะการตรวจสอบภาษีย้อนหลังกับโรงสีที่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ราคาตกตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น โดยต้องเข้าไปดูบัญชีรายรับรายจ่ายโรงสีว่ามีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในพื้นที่หรือไม่และรายได้ที่ได้รับมีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ไปคิดหามาตรการทางภาษีที่จะสามารถเอาผิดกับพวกโรงสีที่กดราคาข้าวชาวนา ทำให้ราคาตกตํ่าอย่างรุนแรง หรือให้ไปตรวจสอบภาษีย้อนหลังสัก 4-5 ปีว่า มีการจ่ายภาษีถูกต้องตรงกับรายได้ที่ได้รับหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,206 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2559