‘ไปท้องที่กันดารจะพระทัยร้อน... อยากช่วยประชาชน’

03 พ.ย. 2559 | 01:00 น.
เป็นอีกบุคคลที่คอลัมน์ “ในหลวงในดวงใจ”ฉบับนี้ต้องกล่าวถึง นายปราโมทย์ ไม้กลัด รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เป็นบุคคลหนึ่งที่ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ นับเป็นความปลื้มปีติจนหาที่สุดมิได้ในชีวิตและน้อมนำหลักคำสอนมาใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงทุกวันนี้

นายปราโมทย์ ย้อนถึงเรื่องราวความประทับใจที่ได้ถวายงานสำคัญต่อพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มี 2 ระยะที่ได้เข้าไปถวายงานหลักๆ ระยะแรกคือตามหลังผู้ใหญ่คือคอยรับฟังพระราชกระแสรับสั่งแล้วมาคิดงานเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้ถวายงานพระเจ้าอยู่หัว ประมาณ 6 ปี หลังจากนั้นเป็นระยะที่ 2 ขณะนั้นผมรับราชการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนกรมชลประทานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่งถึงปี2542 คือปีที่ผมเกษียณ ระหว่างตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมาจะได้เห็นภาพผมในหลายบริบทมากมายได้รับสนองพระราชดำริในทุกเรื่องเกี่ยวกับงานที่พระองค์ท่านเสด็จฯพื้นที่ต่างๆ งานเสด็จฯส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าไปแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

 ทรงทุ่มเทกับงานด้านน้ำมาก

จะเห็นว่ากว่า 4,000 โครงการในโครงการพระราชดำริ ที่รวบรวมโดยสำนักงานกปร.(สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) 60%เป็นเรื่องของนํ้า ตั้งแต่นํ้าเสีย นํ้าท่วมนํ้าขาดแคลน ถ้ามาดูที่หมวดแก้ปัญหานํ้าขาดแคลน งานส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างเขื่อนกักเก็บนํ้าขนาดต่างๆ โดยอ่างเก็บนํ้าขนาดเล็กมีเกือบทุกจังหวัดแต่เขื่อนเก็บนํ้าขนาดยักษ์ เช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล ที่จังหวัดนครนายกเป็นอีกโครงการที่ สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเก็บกักนํ้าในช่วงหน้าฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง และควบคุมไม่ให้เกิดนํ้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ไร่นาและพื้นที่การเกษตรในหน้าฝน

โดยเฉพาะ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์พัฒนาลุ่มน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม โดยกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบตอนนั้นปี 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรียกเข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ให้ชลประทาน ไปคิดว่าจะแก้ปัญหาลุ่มนํ้าป่าสักซึ่งมีปัญหาฤดูฝนนํ้าท่วมมาก พอฤดูแล้งนํ้าไม่มี ตอนนั้นผมทำหน้าที่เป็นผู้แทนกรมชลประทานรับเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนํ้าทั้งหมด

“ผมรู้ว่าที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งแบบนี้พระองค์ท่านอยากได้คำตอบ อยากรู้ว่าจะมีลู่ทางที่ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร ผมจึงจัดทำรายงานโครงการเบื้องต้น ฉบับน้อยๆ รวบรวมข้อมูลทุกด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม จะเก็บนํ้าได้แค่ไหน มีพื้นที่ลุ่มนํ้าเท่าไหร่ กระทบต่อผู้คนกี่หมู่บ้าน

เวลาพระองค์ท่านตั้งใจจะช่วยเหลือประชาชน ถ้าท่านรับสั่งไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ท่านอาจจะทวงถาม

“เราต้องรู้พระทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เวลาไปที่ต่างๆทรงรับสั่งแก้ปัญหาเกี่ยวกับชุมชน หมู่บ้านท้องที่กันดารท่านจะพระทัยร้อน อยากช่วยประชาชน ที่เดือดร้อนจริงๆเมื่อพระองค์ท่านถามเราก็จะตอบได้ว่าข้าพระพุทธเจ้ากำลังทำอยู่ยังไม่เสร็จพระพุทธเจ้าค่ะคาดว่าอีก 10 วันจะเสร็จ แค่นี้พระองค์ท่านก็โปรดแล้ว แสดงว่าเราไม่ได้เพิกเฉย”

 มุมประทับใจมีมากจนนับไม่ถ้วน

สำหรับความประทับใจถ้าพูดเป็นเรื่องๆ ไป มีเยอะมากจนนับไม่ถ้วน แต่จะเลือกพูดที่เห็นชัดเจน เช่น ประทับใจและเทิดทูนในพระอัจฉริยภาพในความเก่ง ความมุ่งมั่น การทรงงานของพระองค์ท่าน ในการพัฒนาพระองค์ท่านให้มาเป็นผู้รู้ พระองค์ไม่ได้เป็นผู้รู้ในเรื่องราวต่างๆมาก่อน ไม่รู้เรื่องเทคนิค แต่ทรงพัฒนาพระองค์เองให้เป็นผู้รู้แล้วจุดประกายได้เหล่านี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่ข้าราชการทุกคน จะต้องจัดการตัวเองให้เป็นผู้รู้ในเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ตัวเองรับผิดชอบ และรอบรู้รู้เรื่องแผนที่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงานด้านนํ้า ซึ่งท่านเชี่ยวชาญด้วย ทั้งที่ท่านไม่ได้เรียนเรื่องแผนที่มา ท่านมาศึกษาด้วยองค์เอง และแผนที่ที่เห็นนั้นจะนำติดพระองค์ไปตลอดเวลา หนาเป็นปึกเลย ทรงทำเอง ปะแผนที่เอง ต่อแผนที่เอง ทรงทำง่วนอยู่พระองค์เดียวในห้องทรงงาน นี่แหละคือความอุตสาหะในการพัฒนาพระองค์ท่านเองในหลายเรื่อง

 ทรงเป็นทั้งนักคิดและนักประดิษฐ์

อีกทั้งท่านทรงเป็นนักคิด นักตั้งสมมติฐาน และเป็นนักประดิษฐ์ เช่นเรื่องแก้ปัญหาดิน ท่านบอกว่า “ฉันมีเอกสารจากธนาคารโลก มันเป็นหญ้าแฝก ไม่ใช่หญ้าคามีประโยชน์ เป็นหญ้ามหัศจรรย์ รักษาผิวดินและน้ำไม่ให้ถูกน้ำกัดเซาะ”แล้วท่านก็ถ่ายเอกสารแจก ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงเป็นนักคิด ได้อะไรมาศึกษาวิเคราะห์ เรื่องฝนเทียมก็มาจากสมมติฐานของพระองค์ท่าน ซึ่งรับสั่งว่าประเทศไทยมีโอกาสทำให้เกิดฝนตกนอกฤดูกาลได้โดยทำฝนเทียม
และยังทรงเป็นนักประดิษฐ์ออกแบบกังหันน้ำชัยพัฒนาที่ท่านทรงออกแบบ มาเป็นต้นแบบให้กรมชลประทานไปประดิษฐ์ตาม

นอกจากนี้ท่านยังทรงงานได้ในทุกโอกาส และทุกสถานที่โดยไม่มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องการทำงาน เมื่อทรงตั้งพระทัยจะเสด็จฯที่ไหนแล้ว ทรงมุ่งมั่นเหลือเกิน จะเห็นภาพท่านทรงงานท่ามกลางสายฝนบ่อยครั้ง บางทีเจอโจทย์ยากและไม่อยากให้เสด็จฯไป เช่น ฝนตกหนักเดินทางลำบาก แต่ท่านก็บอกไม่เป็นไร ถึงฝนตกก็จะเดินฝ่าฝนไปให้ได้ และท่านก็ไปจริงๆ

อีกมุมที่ประทับใจและจำได้แม่นยำคือ ผมถูกเรียกสื่อสารแบบเร่งด่วนบ่อยครั้ง โดยทางวิทยุสื่อสาร วอคกี้ทอคกี้เป็นคลื่นชลประทาน ท่านเรียกหา “ธารทิพย์ 10” ซึ่งเป็นโค้ดประจำตัวผม ส่วนของพระองค์ท่านจะเป็นโค้ด “901” ท่านก็จะ ว.901 เรียกธารทิพย์10 ถูกเรียกสื่อสารทาง ว. เกือบทุกภาคของประเทศไทยและท่านมักจะเรียกตอนช่วง เวลา 12.30น.ของวัน และเวลาท่านจะเสด็จฯไปทรงงานที่ไหนไม่มีพระราชประสงค์ให้บอกล่วงหน้า ให้ชาวบ้านรู้มากนัก เพราะเกรงว่าจะมารับเสด็จฯ จนชาวบ้านเดือดร้อนต้องมาเตรียมการ ตั้งเต็นท์ต้อนรับ กลัวชาวบ้านลำบาก

[caption id="attachment_111121" align="aligncenter" width="284"] ปราโมทย์ ไม้กลัด ปราโมทย์ ไม้กลัด[/caption]

นายปราโมทย์ เล่าอีกว่า เมื่อปี2533ได้รับพระราชทานสมเด็จจิตรลดาจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน ทำให้ปลื้มปีติมาก เพราะได้รับจากพระหัตถ์ท่าน การได้สมเด็จจิตรลดามาก็เริ่มจากที่พระองค์ท่านให้รองสมุหราชองครักษ์โทรศัพท์มาหาผม บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวให้เข้าเฝ้าฯพร้อมกับคุณเล็ก จินดาสงวน ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น แต่เคยทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก่อนผม ตอนหลังผมไปแทนท่าน เมื่อเข้าเฝ้าฯ พอพระองค์ท่านประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว พระองค์ท่านก็ถือกระป๋องลูกอมมา 1 กระป๋องแล้วก็พูดว่า “เอ้าก่อนจะพูดเรื่องงาน เอาพระไปคนละองค์และท่านรับสั่งว่าพระหมดแล้ว แต่ไปหาเจอมาได้ 2 องค์ในกระเป๋า Samsonite”

เป็นประโยคที่ประทับใจมาก เพราะเหลือพระอยู่เพียง 2 องค์แล้วพระองค์ท่านคิดถึงเราก่อน พร้อมสอนว่าก่อนที่จะนำพระไปเลี่ยมให้นำทองคำเปลวไปปิดหลังพระ เพราะนักพัฒนา ข้าราชการต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระ นี่เป็นพระราชดำรัสจากพระโอษฐ์มาถึงผม ก็นำไปปฏิบัติตาม แบบอย่างและคำสอนจากที่ได้รับ ถือว่าเป็นที่สุดของชีวิตแล้วนำมาบริหารจัดการกับตัวเองในชีวิตประจำวันได้ นับเป็นความปลื้มปีติจนหาที่สุดมิได้ ที่ได้ถวายงานใกล้ชิดใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,206 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2559