รถไฟไทย-จีนครั้ง 15 จี้เร่งประมูล ธ.ค.59

28 ต.ค. 2559 | 12:15 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมภายใต้ความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 15 ว่าการประชุมอยู่ระหว่างการเร่งออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้างโครงการตลอดจนการถอดแบบรายละเอียดรายการวัสดุของแต่ละสัญญา เนื่องจากได้มีการส่งแบบเพิ่มเติม เพราะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างของไทยเพื่อนำไปสู่การประมูล โดยขอให้ฝ่ายจีนเน้นเฉพาะรายละเอียดรายการสำคัญก่อนจะไปสู่ปลีกย่อย เพื่อให้เป็นต้นแบบนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดตอนอื่นต่อไป โดยตามระเบียบกฎหมายของไทยจะต้องสามารถกำหนดราคากลางออกมาให้ได้

นอกจากนั้นมีการพิจารณาถึงการยกร่างสัญญา โดยแยกเป็น 3ส่วน คือเรื่องการออกแบบ ที่ปรึกษาควบคุมงาน และตัวรถ-อาณัติสัญญาณ โดยฝ่ายไทยได้ส่งร่างสัญญาให้ฝ่ายจีนพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นร่างมาตรฐานสากลภายใต้บริบทของไทย ทั้งบททั่วไปและบทเฉพาะกาล และส่วนที่ 3 ด้านการเงินฝ่ายจีนมีความเข้าใจและผ่อนปรนในหลายประเด็นมากขึ้น แต่ต้องมีการหารือร่วมกันต่อไป

"ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปจบได้ในเรื่องนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก แม้จะแบ่งการหารือออกเป็น 4 ตอนแต่ก็อยากเห็นว่าการเริ่มต้นมีความก้าวหน้าและถ้าสามารถรวบบางตอน อาทิ ตอนระยะ 110 กม.มารวมกับตอนระยะ 11 กม. ก็จะได้ระยะทางยาวขึ้นเมื่อแล้วเสร็จก็จะสามารถเดินรถได้ก่อน เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการช่วงระยะ 3.5 กม.เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นโครงการก่อนขยายไปสู่ตอนอื่นๆให้ต่อเนื่องกันไป หากทั้ง2ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก็จะดำเนินการในส่วนอื่นๆง่ายขึ้น ดังนั้นช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือกุมภาพันธ์ที่จะส่งมอบแบบที่ 3 และ 4 ให้สามารถรวบทั้ง2ตอนได้ จึงต้องเร่งร่างสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็วพร้อมกับการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชีที่คืบหน้าไปแล้วกว่า 50% ส่วนช่วงต่อเนื่องกันไปจะเร่งพิจารณา"

สำหรับกรอบการเปิดประมูลก่อสร้างโครงการนั้นยังต้องการให้อยู่ในเดือนธันวาคมนี้ โดยขั้นตอนการอนุมัติโครงการ การรับรองผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประมูลจะเป็นขั้นตอนปฏิบัติของฝ่ายไทย โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ส่ง ภาพรวมของโครงการและวงเงินลงทุนกว่า 1.79 แสนล้านบาทมาแล้ว คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมนี้

"ดังนั้นยังยึดแผนงานในเดือนธันวาคมนี้ ไม่อยากยืดเวลาออกไปอีก การอนุมัติโครงการผนวกกับเรื่องสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จรวดเร็วหรือไม่ ก็จะได้เห็นภาพการก่อสร้างเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปโดยเฉพาะอีไอเอช่วงบ้านภาชี-นครราชสีมาที่ยังไม่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) อีกทั้งช่วงนี้ยังต้องรอพิจารณาร่างข้อเสนอฝ่ายจีน ที่จะเข้ามาออกแบบดีไซน์และค่าจ้างที่ปรึกษาที่ฝ่ายไทยจะต้องออกทีโออาร์ให้ฝ่ายจีนยื่นข้อเสนอมาให้ฝ่ายไทย ส่วนอัตราเงินกู้นั้นฝ่ายจีนเสนออัตราเงินหยวน (2.8%)และอัตราเงินดอลล่าร์ (2.3 %) ซึ่งกระทรวงการคลังยังเห็นว่ามีอัตราสูงเมื่อเทียบกับแหล่งเงินอื่นๆซึ่งจะต้องมีการหารือเรื่องนี้กันต่อไป ส่วนเงินกู้ภายในประเทศนั้นจะต้องใช้ในการก่อสร้าง ส่วนการจัดซื้อรถและงานระบบจะต้องใช้เงินกู้จากจีนราว 20% จากวงเงินรวมโครงการ"