ก.อุตฯเร่งเครื่อง‘ซูเปอร์คลัสเตอร์’ ชงครม.สางปัญหาดันลงทุน5.5แสนล.

28 ต.ค. 2559 | 07:00 น.
กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนลงทุนซูเปอร์คลัสเตอร์ก่อนสิทธิประโยชน์บีโอไอหมดสิ้นปีนี้ ชงแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรม 20 ปี กรอบใหญ่ชงเข้าครม.ต้น พ.ย.นี้ เปิดทางแก้ปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุนเป็นรายคลัสเตอร์ ชี้ผังเมืองมาบตาพุดอุปสรรคใหญ่ฉุดการลงทุนปิโตรเคมี ขณะที่บีโอไอยันส่งเสริมการลงทุนได้ตามเป้า 5.5 แสนล้าน เตรียมปลดล็อก 57 โครงการค้างท่อ

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งขับเคลื่อนภาคการลงทุนของเอกชนในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ เพื่อเป็นไปตามนโยบายเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล ที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ มี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ขึ้นมาเร่งผลักดัน

แต่การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา การเร่งรัดการลงทุนในรูปแบบซูเปอร์คลัสเตอร์ ยังมีปัญหาไม่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ เนื่องจากยังมีอุปสรรคด้านการลงทุนต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อให้ภาคเอกชนตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้ตามเป้าหมาย ที่มีการประเมินไว้ในช่วงแรกจะมีไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท โดยเห็นได้จากการรายงานของบีโอไอ ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.59 ) พบว่ามีเพียง 19 โครงการ เงินลงทุน 1.94 หมื่นล้านบาทเท่านั้น(ไม่รวมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย)

ประกอบกับทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรม 20 ปี(2560-2579) ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ไว้ด้วย ซึ่งการจะผลักดันเร่งรัดการลงทุนในรูปแบบซูเปอร์คลัสเตอร์ จึงจำเป็นต้องรอให้แผนยุทธศาสตร์ฯดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอครม.พิจารณาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ดังนั้น หลังจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรม 20 ปี ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว เพื่อให้การขับเคลื่อนการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์เป็นไปตามเป้าหมาย จะเร่งเสนอรายละเอียดที่เป็นปัญหาและอุปสรรคการลงทุนให้ครม.พิจารณา เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดด้านการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ตามเงื่อนไขของบีโอไอจะสิ้นสุดในช่วงสิ้นปี2559 นี้ หากครม.เห็นชอบแล้วเชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ และยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอได้

สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่นักลงทุนต้องการความชัดเจนนั้น แม้ว่าสิทธิประโยชน์ส่วนหนึ่งจะผ่านความเห็นชอบจากครม.ไปแล้วก็ตาม แต่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งนักลงทุนต้องการเห็นความชัดเจน และต้องการให้ครม.เร่งช่วยผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่ที่กำหนด ทั้งคนไทยและต่างชาติ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี และลดหย่อน 50 % เพิ่มอีก 5 ปี และการพิจารณาที่อยู่ถาวรสำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ รวมทั้ง การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน 2,000 ล้านบาท มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน และมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับสตาร์อัพ ซึ่งขั้นตอนการพิจารณายังมีความล่าช้าอยู่

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากแยกเป็นรายคลัสเตอร์ จะพบว่า คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโครงการและเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ยังมีปัญหาการกำหนดผังเมืองรวมจังหวัดระยอง และผังเมืองรวมชุมชนมาบตาพุด ที่ยังไม่สามารถประกาศถึงความชัดเจนได้ในขณะนี้ รวมถึงการจัดทำค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษที่ยังมีข้อจำกัดอยู่กับโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ในมาบตาพุด

อีกทั้ง การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ที่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าจากกระทรวงการคลังว่าจะออกมาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของนิติบุคคล สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในอัตรา 200-300 % ได้หรือไม่ เป็นต้น

ขณะที่ปัญหาของคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน ที่สำคัญคือ การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่ยังล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน ส่วนคลัสเตอร์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม ยังติดปัญหาเรื่องมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่นำเข้า เพื่อใช้ในการทำวิจัยและพัฒนาหรือทดสอบ ขณะที่คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป ก็ยังติดปัญหาการทบทวนถ่ายโอนภาระกิจการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ส่วนคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ติดปัญหาความล่าช้าในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจแฟชั่น

นอกจากนี้คลัสเตอร์อากาศและชิ้นส่วน จะต้องเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินอากาศ โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนเป็นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51 % และอำนาจการบริหารกิจการต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานและส่วนประกอบที่สำคัญของอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งหากปัญหาอุปสรรคได้รับการแก้ไข เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น ก่อนที่สิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้สูงสุดจะหมดลงสิ้นปีนี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดเผยว่า การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ดูเหมือนว่าโครงการหรือเม็ดเงินลงทุนยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากสิทธิประโยชน์สูงสุดที่ให้นั้นมีเงื่อนไข จะต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการในกิจการเป้าหมายที่ตั้งในพื้นที่คลัสเตอร์ แต่ยังไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายคลัสเตอร์ มีจำนวน 57 โครงการ เงินลงทุน 3.828 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการในคลัสเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม แต่บีโอไออนุมัติให้ไม่ได้ เพราะไม่มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่

แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลส่งเสริม ซึ่งมีคลัสเตอร์ต่างๆ รวมอยู่ในนั้น ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีโครงการยื่นขอถึง 515 โครงการ เงินลงทุน 1.43 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 43 % ของมูลค่าที่ยื่นขอรับทั้งหมด 3.36 แสนล้านบาท

ดังนั้น จากการเร่งรัดในการแก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่จะเสนอให้ครม.พิจารณานั้น บวกกับการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทางบีโอไอเชื่อว่าการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของปีนี้ที่วางเป้าหมายไว้ 5.5 แสนล้านบาทนั้น น่าจะทำได้ตามที่คาดการณ์ไว้

อีกทั้ง หากโครงการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่ไม่สามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนได้ทันภายในปีนี้ ทางบีโอไอจะนำมาพิจารณาเป็นรายโครงการว่า จะสามารถเลื่อนไปในปี 2560ได้หรือไม่ รวมถึงการหาทางออกให้กับโครงการที่ตัดสินใจลงทุนแล้ว แต่ไม่มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ในเบื้องต้นเชื่อว่า เมื่อการแก้ปัญหาและอุปสรรคลุล่วงไปได้แล้ว นักลงทุนจะเร่งตัดสินใจที่จะไปร่วมมือกับทางสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และกลับมายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใหม่อีกครั้ง

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559