สินเชื่อ 9 เดือนขยับ 2.32% แบงก์กรุงศรีเพิ่มเป้าทั้งปีโต8-9%

28 ต.ค. 2559 | 00:00 น.
11 ธนาคารพาณิชย์ ผลประกอบการ 9เดือนปี59 รั้งสเปรดเหนียวแน่น โดยเฉพาะแบงก์เล็ก-กลาง “ เกียรตินาคิน –ทิสโก้-กรุงศรี-ซีไอเอ็มบีไทย” ด้านเอ็นพีแอลแตะ 6.68% หนี้สุทธิไต่ระดับกร่อนอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้ลด ส่วนยอดสินเชื่อเติบโตเพียง 2.32% ขณะที่เงินสำรองพุ่ง 14.02%ทุกค่ายปึ้ก!

[caption id="attachment_108998" align="aligncenter" width="700"] ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์[/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจผลประกอบการของ 11ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 พบยอดสินเชื่อคงค้าง 10.04ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.27แสนล้านบาทคิดเป็นอัตราเติบโต 2.32%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 9.81 ล้านล้านบาท ด้านยอดเงินฝากรวม 10.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 9.94 หมื่นล้านบาทหรือ 0.94% ขณะเดียวกัน พบว่าสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ก่อนหักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมีจำนวน 3.71แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 23.2 หมื่นล้านบาทหรือ 6.68% ลดลง(โดยสิ้นก.ย.58 เพิ่มขึ้น 7.56 หมื่นล้านบาทหรือ 27.75%จากปี 57)

ขณะที่ทุกธนาคารให้น้ำหนักกับการสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเงินกันสำรองสำหรับลูกหนี้ที่มีอยู่ประจำไตรมาส (สิ้นสุด ณ วันที่ 30ก.ย.59) รวมจำนวน 4.77 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.87 หมื่นล้านบาทหรือ 14.02% ด้านหนี้เอ็นพีแอลหลังหักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ(Net NPLs) มีจำนวน 1.74 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.06 หมื่นล้านบาทหรือ 13.44% สะท้อนเอ็นพีแอลสุทธิเพิ่มขึ้น(เทียบสิ้นก.ย.58 และ57 เพิ่มขึ้นจำนวน 1.64 หมื่นล้านบาทหรือ 11.98%)/ค

[caption id="attachment_108997" align="aligncenter" width="700"] เทียบเงินให้สินเชื่อและหนี้ NPL ก่อนหักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้จะสูญ เทียบเงินให้สินเชื่อและหนี้ NPL ก่อนหักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้จะสูญ[/caption]

สำหรับยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)(บมจ.)ที่สินเชื่อปรับเพิ่มสูงสุดถึง 12.30% จำนวน 1.38 แสนล้านบาท รองลงมา บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าสสินเชื่อเพิ่มกว่า 1หมื่นล้านบาทคิดเป็นอัตราเติบโต 7.85% บมจ.ธนาคารทหารไทยสินเชื่อเพิ่ม 2.81 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 5.23% บมจ.ธนาคารกรุงเทพสินเชื่อเพิ่ม 7.97 หมื่นล้านบาทคิดเป็นอัตราเติบโต 4.79% บมจ.ธนาคารกสิกรไทยสินเชื่อเพิ่ม 6.79 หมื่นล้านบาทอัตราเติบโต 4.53% บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์สินเชื่อเพิ่ม 7.89 หมื่นล้านบาทอัตราเติบโต 4.52%

ส่วนอีก 4แห่งที่ยอดสินเชื่อปรับลดลงได้แก่ บมจ.ธนาคารธนชาต สินเชื่อลดลง 6.68 หมื่นล้านบาทหรือ 9.73% บมจ.ทิสโก้ สินเชื่อลดลง 1.23 หมื่นล้านบาทหรือ 5.34% บมจ.กรุงไทยสินเชื่อลดลง 9.75 หมื่นล้านบาทหรือ 5.28% และบมจ.เกียรตินาคินสินเชื่อลดลง 3,298 ล้านบาทหรือ 1.94%

 กรุงศรีย่ามใจเพิ่มเป้าทั้งปี8-9%

เมื่อพิจารณางบการเงิน พบว่า บมจ.ธนาคารกรุงศรีฯ ระบุมีเงินให้สินเชื่อรวม 1.40 ล้านล้านบาทณ วันที่ 30 กันยายน 2559 เพิ่มขึ้นจำนวน 1 แสนล้านบาทเศษหรือเพิ่มขึ้น 7.7% จากสิ้นปี2558 โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อรายย่อยเพิ่มเป็น 6.18 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.22 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่ม 11.2% แบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่ที่อยู่อาศัย 1.89 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.97 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 18.6% สินเชื่อเช่าซื้อ 2.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.06 หมื่นล้านบาทหรือ 7.8% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีพอร์ตสินเชื่อ 5.73 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นจำนวน 2.89 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 5.3% ซึ่งในจำนวน5.73 แสนล้านบาทนั้นเป็นลูกค้าบรรษัท 4.04 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น จำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาทหรือ 8.1%และพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีมีจำนวน 2.11 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 9,281 ล้านบาทหรือ 4.6%

ทั้งนี้กรุงศรีฯคาดว่า เศรษฐกิจยังคงมีปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้อาจจะไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ และด้วยปัจจัยฤดูกาลที่ขับเคลื่อนความต้องการสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อเพื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจ กรุงศรีฯจึงปรับเป้าการเติบโตของสินเชื่อทั้งปี2559 เป็น 8-9% (รวมธุรกิจสินเชื่อของHKL)จากเดิม 5-6%

ด้านบมจ.ธนาคารกรุงเทพหากเทียบสิ้นเดือนธันวาคมปีก่อนมีสินเชื่อเพิ่ม จำนวน 3.29 หมื่นล้านบาทหรือ 1.8% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายกลาง และสินเชื่อลูกค้าบุคคล โดยธุรกิจการสาธารณูปโภคและบริการพอร์ตสินเชื่อ 3.95 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 12.5% พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย 2.16 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.2% ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยให้สินเชื่อในสัดส่วนสูงที่สุดแก่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการพาณิชย์ 41.0% ซึ่งกระจายในหลายอุตสาหกรรม รองลงมาได้แก่ ภาคสาธารณูปโภคและบริการ 20.8% ภาคสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 11.4% ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง 9.3% ส่วนใหญ่สินเชื่อเพิ่มจาก(ธ.ค.58) สาธารณูปโภคและธุรกิจอื่นๆ

ส่วนทาง บมจ.ไทยพาณิชย์สิ้นไตรมาส3/2559 สินเชื่อเติบโต 4.3% จากสิ้นปี 58 ซึ่งอยู่ในระดับเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 4-6% โดยรวมเงินให้สินเชื่อเติบโต 5.3% แบ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่พอร์ตสินเชื่อ 7.02 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.5% จากช่วงเดียวปีก่อนพอร์ตสินเชื่อบุคคล 8.46 แสนล้านบาทเติบโต 4.0% ประกอบด้วย สินเชื่อเคหะ 6.02แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.9% (เช่าซื้อ 1.64แสนล้านบาทปรับลดลง 0.9%) สินเชื่ออื่นๆ 7.93 หมื่นล้านบาทเพิ่ม 1.0% และพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี 3.63 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.7%

บมจ.ทหารไทย เงินให้สินเชื่อตามงบการเงินรวม เป็นจำนวน 5.91 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ปัจจัยสนับสนุนจากสินเชื่อรายย่อยขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.0% และจากสิ้นปี 25.3% โดยมาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเติบโตในระดับที่ดี

 แบงก์ใหญ่-กลางหนี้สุทธิยังไต่ระดับ

อย่างไรก็ตาม ด้านเอ็นพีแอลสุทธิจำนวน 1.74 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.06 หมื่นล้านบาทหรือ 13.44% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (ก.ย.59 และ 58) ส่วนใหญ่สะท้อนการเพิ่มขึ้น อาทิ บมจ.กสิกรไทย อยู่ที่ 3.24 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีจำนวน 2.08 หมื่นล้านบาทอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 127.27% โดยสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 129.96% บมจ.ซีไอเอ็มบีไทย อยู่ที่ 5,150 ล้านบาทจาก 4,280 ล้านบาท โดยซีไอเอ็มบีไทยระบุว่า เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ ทางธนาคารยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อและ นโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ตลอดจนได้มีแนวทาง เพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ แก้ไขหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 81.6% ลดลงจากสิ้นปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 106.5% โดยมีเงินสำรองของกลุ่มธนาคารจำนวน 7,400 ล้านบาทซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2,800 ล้านบาท

บมจ.กรุงไทยอยู่ที่ 4.70 หมื่นล้านบาทจาก 3.95 หมื่นล้านบาทโดยไตรมาส3/59 กรุงไทยกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 6,500 ล้านบาท จากที่ธนาคารได้ปรับเงินสำรองค่าเผื่อหนี้ฯรายเดือนเพิ่มเดือนละ 1,000 ล้านบาทเริ่มต้นปีที่ผ่านมาจากเดิมเดือนละ 700 ล้านบาทเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเงินสินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีอยู่ ประกอบกับการตั้งสำรองพิเศษจำนวน 3,500 ล้านบาท(ไตรมาส3/2558 กันสำรองพิเศษสำหรับลูกหนี้รายใหญ่ในกลุ่มเหล็ก) ตามแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร

เช่นเดียวกับ บมจ.กรุงเทพอยู่ที่ 2.15 หมื่นล้านจาก 1.82 หมื่นล้านบาท โดยค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่มีอยู่คิดเป็น 201.3% ของสำรองขั้นต่ำ และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพเดือนกันยายนปีนี้เท่ากับ 159.5% บมจ.ไทยพาณิชย์ อยู่ที่ 2.80 หมื่นล้านบาทจาก 2.67 หมื่นล้านบาทโดยธนาคารระบุว่า สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ในไตรมาสนี้ธนาคารตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 7,012 ล้านบาททำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มเป็น 128.9% จาก 109.8% เมื่อสิ้นปี 2558 แต่ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส2/59 อยู่ที่ 130.0%

อนึ่งผลประกอบการ 11 ธนาคารพาณิชย์ พบว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 3 มี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 15.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหรืออยู่ที่ 4.52 หมื่นล้านบาท และงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 0.83% โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ รวมทั้งค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ปรับลดลงและการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปตัวเลขสินเชื่อ เงินฝากและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่งณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 พบว่า เงินให้สินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้น 7.5 หมื่นล้านบาทจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 10.5 ล้านล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นมาจากดีลควบรวมกิจการ (M&A) รายใหญ่กว่า 4 หมื่นล้านบาท ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ประกอบกับสินเชื่อภาคธุรกิจยังขยายตัวได้ดี สวนทางกับสินเชื่อภาครัฐที่ยังชำระคืนสุทธิต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเติบโตได้ดี ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันของการชำระคืนหนี้และแรงซื้อรถยนต์ใหม่ยังแผ่ว ส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในเดือนกันยายนขยายตัว 2.52% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัว 0.29% จากสิ้นปีก่อน

ขณะที่เงินฝากปรับลดลง 6.2หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ11.15 ล้านล้านบาท เติบโตชะลอตัวลงมาที่ระดับ 1.15% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวติดลบ 0.38% จากสิ้นปีก่อน เป็นผลมาจากการครบกำหนดของเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และไม่มีการออกโปรโมชันเงินฝากที่จูงใจมารองรับ ส่วนเงินฝากในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กขยับขึ้นไม่มากนัก แม้จะได้รับอานิสงส์จากการชะลอการแข่งขันด้านราคาเงินฝาก ส่งผลให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เดือนกันยายน 2559 ตึงตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่สิ้นปี 2550 ซึ่งสะท้อนผ่านสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 92.10%จากระดับ 90.83% ในเดือนก่อน

“ภาพรวมสินเชื่อและเงินฝากที่ผ่านมา น่าจะช่วยประคองให้สภาพคล่องในช่วงที่เหลือของปีอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ต่อไป เพราะการตึงตัวของสภาพคล่องส่วนหนึ่งเกิดจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลัก และส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการบริหารต้นทุนเงินของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการบริหารผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ ทำให้สภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้นเป็นภาวะชั่วคราวและอยู่ในวิสัยที่จัดการได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559