ตลาดนํ้ามันดิบโลกยังผันผวน อิรักเตรียมแตกแถวมติโอเปก รัสเซียยันพร้อมร่วมมือ

28 ต.ค. 2559 | 02:00 น.
รัสเซียถกโอเปกร่วมกันพยุงราคาน้ำมันโลก ยันพร้อมตรึงหรือลดการผลิตถ้าจำเป็น โดยต้นสัปดาห์นี้ราคาปรับลดลงมาอีกแล้วหลังอิรักประกาศท่าทีเตรียมเบี้ยวมติโอเปกที่ให้ชาติสมาชิกช่วยกันลดปริมาณการผลิต

ต้นสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันโลกผันผวนอีกครั้งโดยปรับตัวลดลง หลังมีข่าวแหล่งน้ำมันบัสซาร์ดของอังกฤษในทะเลเหนือเริ่มต้นการผลิตอีกครั้ง และอิรักประกาศท่าทีต้องการได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมติของกลุ่มโอเปกเมื่อเร็วๆนี้ที่ตกลงให้ชาติสมาชิกช่วยกันลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมน้ำมันเปิดเผยว่า แหล่งน้ำมันบัสซาร์ดซึ่งอยู่นอกชายฝั่งทะเลเหนือในเขตแดนของประเทศอังกฤษ ได้เริ่มการผลิตอีกครั้งในช่วงต้นสัปดาห์หลังจากที่ปิดเพื่อซ่อมบำรุงมาเป็นเวลา 1 เดือนก่อนหน้านี้ โดยแหล่งดังกล่าวมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ประมาณ 1.8 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกัน นายจาบาร์ อาลี อัล-ลูไอบี รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันแห่งประเทศอิรัก ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกโอเปกที่มีกำลังการผลิตมากเป็นอันดับ 2 (รองจากซาอุดิอาระเบีย) ได้ออกมาระบุว่า อิรักต้องการได้รับการยกเว้นจากข้อมติของกลุ่มโอเปกเมื่อเร็วๆนี้ที่ให้ประเทศสมาชิกปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อช่วยกันพยุงราคาน้ำมัน เนื่องจากอิรักต้องการเงินรายได้จากการขายน้ำมันมาใช้ในการสู้รับกับกลุ่มนักรบแห่งรัฐอิสลามหรือกลุ่มไอเอส

ทั้งนี้ ในการหารือของกลุ่มโอเปกครั้งที่ผ่านมา มีการตั้งเป้าหมายว่าโอเปกจะลดการผลิตลงซึ่งจะทำให้น้ำมันดิบหายออกไปจากตลาดโลกประมาณ 7 แสนบาร์เรลต่อวัน (ปัจจุบันปริมาณผลิตน้ำมันดิบรวมทั่วโลกอยู่ที่ราวๆ 1-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แต่โอเปกยังไม่ได้ตกลงในรายละเอียดว่าจะให้สมาชิกแต่ละประเทศลดการผลิตลงเท่าไหร่ เพียงแต่ระบุว่า จะหารือเรื่องนี้อีกครั้งในการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 30 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ท่าทีของอิรักรวมทั้งข่าวการผลิตของแหล่งน้ำมันบัสซาร์ดส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ของอังกฤษซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลก ปรับลดลง 32 เซ็นต์หรือ 0.6% มาอยู่ที่ 51.46 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐอเมริกา ลดลง 33 เซ็นต์ หรือ 0.7% มาอยู่ที่ 50.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ลดสู่ระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ยังมีช่วงที่ราคาลดลงแตะ 49.62 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลก่อนปิดตลาดด้วย การปรับลดของราคาน้ำมันครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นมาแล้วประมาณ 13% หรือมากกว่า 5 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล

ผลสำรวจของรอยเตอร์เมื่อเร็วๆนี้ชี้ว่าตัวเลขคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐอเมริกาเป็นไปในทิศทางเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะขยับขึ้นมาแล้วประมาณ 8 แสนบาร์เรล หลังจากที่เคยปรับลดลงไปกว่า 5 ล้านบาร์เรลในช่วงวันที่ 8-14 ตุลาคมเนื่องจากมีการปิดซ่อมรอยรั่วของท่อส่งน้ำมันแห่งหนึ่ง แต่ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายทำให้เริ่มมีการเปิดใช้ท่อส่งบางส่วนแล้ว

ในความพยายามร่วมกันพยุงราคาน้ำมันของประเทศผู้ส่งออกนั้น โอเปกคาดหวังความร่วมมือจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกที่อยู่นอกกลุ่มโอเปกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากรัสเซียที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่ในเวลานี้ก็กำลังได้รับผลกระทบหนักจากราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ นายอเล็กซานเดอร์ โนแวค รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย ได้พบปะหารือกับเลขาธิการกลุ่มโอเปกและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของประเทศกาตาร์ที่กรุงเวียนนาในช่วงสัปดาห์นี้เช่นกันเพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันเพิ่มสเถียรภาพในตลาดน้ำมันโลก “ราคาน้ำมันดิบที่ดำดิ่งลงมากจะส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลนได้ในอนาคต และสร้างความผันผวนให้กับราคาน้ำมันที่ไม่สามารถจะคาดการณ์ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงจะต้องตรึงกำลังการผลิต หรืออาจจะถึงขั้นต้องลดกำลังการผลิตสักระยะเวลาหนึ่งเพื่อเป็นมาตรการระยะสั้น การควบคุมปริมาณผลิตแม้ในระยะสั้นๆนี้จะช่วยลดความผันผวนในตลาด และทำให้เกิดสเถียรภาพมากขึ้น” รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียกล่าว

รัสเซียเองมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแม้ในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลงและค่าเงินรูเบิ้ลอ่อนลงมาก โดยสถิติในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชี้ว่าปริมาณผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียแตะระดับสูงทำลายสถิติอีกครั้ง 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม นายโนแวคกล่าวว่า รัสเซียพร้อมที่จะตรึงกำลังการผลิตเอาไว้เพื่อสร้างภาวะที่สมดุลให้กับตลาด และหากจำเป็นก็พร้อมดึงมาตรการอื่นๆมาใช้เพื่อพยุงราคาน้ำมัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559