กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขานรับนโยบายอินดัสทรี 4.0

27 ต.ค. 2559 | 11:17 น.
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยสำนักโลจิสติกส์ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่ บทโลจิสติกส์ของประเทศไทยระยะที่ 2 ปี 2560-2564 เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่งคั่ง เข้มแข็งและยั่งยืน สอดรับนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 และของกระทรวงอุตสาหกรรมอินดัสทรี 4.0 พร้อมชู 5 ยุทธศาสตร์หลักในการหนุนผู้ ประกอบการไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 15% และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโซ่อุปทานได้ไม่ต่ำกว่า 10% ภายในปี 2564

นายเดชา เกื้อกูล รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์เป็นหน่วยงานหลัก ในการพัฒนาส่งเสริมระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมตลอดโซ่อุปทาน ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงตลอดโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้น องค์กรที่มีการวางแผนและกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์ที่ดี และสามารถถ่ายทอดลงไปสู่การปฏิบัติ การในการปรับปรุงภายในองค์กร รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารตลอดทั้งองค์กร ด้วยจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จะทำให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรโดยรวมได้ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า

จากผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) สามารถสร้างความร่วมมือและการเชื่อมโยงภายในซัพพลายเชนได้ 94 โซ่อุปทาน มีสถานประกอบการเข้าร่วม 1,764 ราย และลดต้นทุนรวมทั้งหมด 13,000 ล้านบาท ดังนั้นเป็นการยืนยันได้ว่า แนวทางการสนับสนุนส่งเสริมของภาครัฐในเรื่องนี้ เป็นไปอย่างจริงจัง และตรงตามความต้องการของภาคเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการให้สามารถพัฒนาปรับตัว จนเกิดผลสำเร็จได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างทักษะและองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในระดับต่างๆ ให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ และนำแบบอย่างที่ดีไปปรับใช้ เพื่อช่วยในการกำหนดแนวทาง แผนทางธุรกิจ บริหารจัดการกระบวนงานภายในองค์กร และที่สำคัญคือ มีการลงมือพัฒนาปรับปรุงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

Logistics สำหรับทิศทางและแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนใน 5 ปีข้างหน้านั้น ทางสำนักโลจิสติกส์ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำมาปรับใช้เป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในอนาคต โดยมีเป้าหมายระยะยาวในปี 2564 ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของโรงงานอุตสาหกรรมได้ไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายอยู่ที่ 8.71%

“แผนแม่บทฉบับที่ 2 นี้เป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 และดำเนินการสอดรับกับการปรับอุ ตสาหกรรมไปสู่อินดัสทรี 4.0 เพื่อมุ่งให้เกิดการยกระดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคต ทั้งยังสามารถทำให้เกิดการเชื่อมโยงจากนโยบายรัฐ ให้มีประสิทธิ ภาพมากขึ้น โดยแผนแม่บทฉบับใหม่นี้จะมุ่งกำหนดบทบาทที่กว้างมากขึ้น และเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรที่เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนเพื่อเร่งสร้างบุคคลากรที่มีองค์ความรู้ให้ กระจายสู่ภูมิภาคอุตสาหกรรม พร้อมเร่งปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย

รวมถึงสามารถสร้างความเชื่อมโยงโครงข่ายอุปสงค์และอุปทานทั้งในภูมิภาคและเวทีการค้าโลก ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้า มีการประกอบธุรกิจ การค้า และการบริการแบบไร้รอยต่ออย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

นายเดชา เกื้อกูล รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมบรรลุเป้าหมายโดยสมบูรณ์ เบื้องต้นจึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์หลัก ที่จะสนับสนุนการดำเนินการไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์เหล่านี้จะมีการกำหนดกลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน รวมทั้งโครงการรองรับและหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันแผนไปสู่การปฏิบัติ อย่างแท้จริงด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน และให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว

สำหรับปี 2560 นี้ สำนักโลจิสติกส์ยังคงเดินหน้าดำเนินงานในโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) ผ่าน 5 โครงการใหญ่ ดังนี้

1. โครงการยกระดับปฏิบัติการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ภายในองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับโซ่อุปทานของประเทศอย่างยั่งยืน

2. โครงการส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมภายในองค์กรสู่ระดับสากล (Competitive Supply Chain and Logistics Information Technology and Innovation)

3. โครงการพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในพื้นที่ การค้าชายแดน เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของสถานประกอบการในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า และการบริการ ให้มีการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานที่ดี สามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภายในและระหว่างประเทศ

4. โครงการยกระดับมาตรฐานด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับสากล (World Class Supply Chain and Logistics Standardization) เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยให้มีระบบงานระดับมาตรฐานสากล (International Standard) ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)

และ 5. โครงการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมในวิชาชีพด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Professional Capability Development) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มีคุณภาพและสามารถยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้เป็นที่ ยอมรับในระดับสากล เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการอุตสาหกรรมภายในโซ่อุปทานที่ เคยเข้าร่วมโครงการของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ทางสำนักโลจิสติกส์ กพร. มีกำหนดจัดงานสัมมนาสร้างเครือข่าย Go Together: Win-Win Collaboration 2016 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์สู่ความสำเร็จ ให้สถานประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและยั่งยืน