แหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs ไทย…หัวใจนักสู้

27 ต.ค. 2559 | 11:00 น.
หากเปรียบประเทศไทยเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนโดยภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ก็เปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวเล็กนับล้านชิ้นที่ยึดเกี่ยวให้เครื่องจักรนี้ผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้อย่างเต็มกำลัง สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว SMEs มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 50% ของจีดีพีขณะที่ SMEs ไทยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 42% ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อตลาดแรงงานไทยเพราะมีสัดส่วนการจ้างงานถึง80% ของการจ้างงานทั้งหมด ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของ SMEs หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันพัฒนาให้ SMEs มีความเข้มแข็ง ผ่านการให้คำปรึกษาในการเริ่มต้นธุรกิจ การพัฒนาการค้า การตลาด เทคโนโลยี ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงให้ SMEs สามารถทำงานได้ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ในมิติของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารพาณิชย์เป็นตัวกลางสำคัญอันดับแรกในการ ให้สินเชื่อกับ SMEs โดยปัจจุบันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้กับลูกค้า SMEs มีจำนวน 4.4 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 40% ของสินเชื่อทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ และยังมีสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีกกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อที่ให้กับ SMEs เคยขยายตัวในอัตราสูงถึง 15% ต่อปี จัดได้ว่าเป็นลูกค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาฟันเฟืองเล็ก ๆ เหล่านี้อาจทำงานติดขัดไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ SMEs บางกลุ่มเริ่มขาดสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้เสื่อมลง โดยเฉพาะSMEs ขนาดเล็กที่มีเงินทุนน้อยจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น ในปีที่ผ่านมาการขยายตัวของสินเชื่อ SMEs จึงลดลงเหลือเพียง 4% ดังนั้น รัฐบาลจึงมีมาตรการความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและช่วยลดต้นทุนทางการเงิน เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) การลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ และการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผลของมาตรการดังกล่าวทำให้สินเชื่อ SMEs กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6% และทำให้มี SMEs รายใหม่ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2558 ถึงไตรมาส 1 ปี 2559 เกือบ 4 หมื่นราย สูงกว่าในภาวะปกติถึง 2 เท่า จึงกล่าวได้ว่ามาตรการของภาครัฐมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากไปได้ในระดับหนึ่ง

ในอนาคตประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพซึ่งเน้นการผลิตให้ได้จำนวนมากและควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่ง SMEs ก็เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ โดย SMEs ต้องเปลี่ยนจาก SMEs แบบดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐตลอดเวลา ไปสู่ SMEs ยุคใหม่ที่เติบโตโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ และสามารถปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขัน โอกาส ความเสี่ยง และบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โครงสร้างธุรกิจและการดำเนินงานของ SMEs ยุคใหม่ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ นวัตกรรมและเครือข่ายที่แตกต่างไปจากเดิมนี้ ทำให้ SMEs ต้องการแหล่งเงินทุนในรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับโมเดลธุรกิจนอกเหนือจากการใช้สินเชื่อจากธนาคารและภาครัฐ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจในต่างประเทศ เช่น การระดมทุนผ่านเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart watch) ยี่ห้อ Pebble ที่สามารถระดมทุนได้กว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากผู้สนับสนุน 7 หมื่นราย ภายในเวลาเพียง 1 เดือน หรือโซเชียลมีเดียระดับตำนานอย่าง Facebook และ Instagram ที่ใช้เงินทุนจากนักลงทุนอิสระ (Angel Fund) และ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) เพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก สำหรับ SMEs ไทย เช่น StockRadars Omise Drivebot ก็ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต (Crowdfunding) และ Venture Capital จากต่างประเทศ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงส่งเสริมให้ SMEs ไทยมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านช่องทางที่หลากหลายและเหมาะสมกับความต้องการมากขึ้น เช่น Crowdfunding Venture Capital และการระดมทุนในรูปแบบการกู้ยืมเงิน (Peer to Peer Lending) ตลอดจนการเพิ่มประเภทหลักประกันประเภททรัพย์สินทางปัญญาเพื่อใช้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์และองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งได้จัดตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อร่วมลงทุนกับ SMEs ที่มีศักยภาพหรือมีแนวคิดและเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการขยายทางเลือกของการระดมทุนสำหรับ SMEs การส่งเสริมและพัฒนา SMEs ต้องอาศัยความร่วมมือและการผลักดันของหลายฝ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวช่วยเหล่านี้ก็เป็นเพียงโค้ชผู้อยู่เบื้องหลัง เหนือสิ่งอื่นใดคือ SMEs ต้องมีสปิริตนักสู้ ขยัน มุ่งมั่น สังเกต ฝึกฝน ทดลองอะไรใหม่ๆ และปรับตัวให้ทันกับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เพื่อเป็น SMEs ที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถเป็นฟันเฟืองที่ผลักดันให้เครื่องจักรเศรษฐกิจไทยทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559