พอเพียงสู่เศรษฐกิจยั่งยืน

27 ต.ค. 2559 | 08:00 น.
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายทั้งระดับรัฐลงมาถึงบุคคล ออกมาประกาศว่า จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต งาน ธุรกิจ และรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเพราะการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ 9 นอกจากการไว้ทุกข์เชิงสัญลักษณ์ หรือ การประกาศขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป แล้ว การน้อมนำคำสอนพ่อมาสู่การปฏิบัติจริง นับเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง

เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเนื่องในโอกาสวันสหประชาชาติ ว่า ปัจจุบันมีกว่า 20 ประเทศที่นำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งยืนยันความเป็นสากลของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

กว่าโลกจะน้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องใช้เวลาพิสูจน์พอสมควร แม้แต่คนไทยเอง ต้องใช้เวลานับทศวรรษเพื่อเข้าใจ “เศรษฐกิจพอเพียง” เช่นกัน ในหลวง มีพระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงไว้ตั้งแต่ปี 2518 แต่คนไทย เพิ่งมาตั้งสติและเริ่มศึกษา ทำความเข้าใจใน แก่นของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงๆจังเอาในปี 2540 ปีที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตกประเทศไทยเผชิญ”วิกฤติต้นยำกุ้ง “โดยช่วงก่อนหน้านั้นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเน้น”มุ่งโต”เป็นสำคัญ และคาดหมายว่าไทยจะก้าวขึ้นเป็นเสือเศรษฐกิจรายที่ 5 แห่งเอเชีย

หลังวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น ในหลวง มีพระราชดำรัส เกี่ยวกับ”เสือ”ไว้ความตอนหนึ่งว่า “ ...มาเร็วๆนี้ โครงการต่างๆโรงงานเกิดขึ้นมากมาย จนกระทั่งคนนึกว่าประเทศไทยจะเป็นเสือตัวเล็กๆ แล้วก็เป็นเสือตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่าเราจะเป็นเสือ ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”

แก่นของปรัชญาที่ยึดสายกลางผ่านความพอประมาณ มีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้นกัน คือปัจจัยที่ช่วยคลี่คลายและนำประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุดและทำให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับการน้อมนำไปใช้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 9 (ปี2545-2549) เช่นเดียวกับรัฐบาลทุกคณะที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับนโยบายรัฐบาล

การที่ไทยชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งยึดสายกลาง การพออยู่พอกิน เป็นทางนำประเทศ ถือเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะในช่วงเวลานั้น แม้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคแต่โลกยังถูกครอบงำด้วยความคิดเศรษฐกิจ ที่เน้นลดบทบาทรัฐ เชื่อมั่นในระบบตลาดจะเป็นกลไกจัดการทุกสิ่งและมุ่งการบริโภคและยังเชื่อด้วยว่ากระบวนการ โลกาภิวัตน์ คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกประเทศหากต้องการอยู่รอด และเศรษฐกิจรุ่งเรือง ต้องหลอมรวมกับระบบโลกทั้งหมด

แนวคิดเศรษฐกิจที่เชื่อในระบบตลาดและบริโภคสุดโต่ง แม้เพิ่มขนาดเศรษฐกิจได้ทันใจแต่ก็ก่อปัญหาช่องว่างรายได้ระหว่างคนมีกับคนไม่มีมากขึ้น กระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจซับไพรม์ในสหรัฐฯก่อนลามไปหลายประเทศ เมื่อ ปี 2551 ซึ่งรุนแรงระดับมหาวิกฤติเศรษฐกิจ โลกหันมาตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจที่ใช้ตลาดเป็นตัวกำหนดว่าใช่หนทางที่แท้จริงหรือไม่ ผู้นำบางประเทศถึงกับกล่าวว่า “ทุนนิยมตายแล้ว” เกิดกลุ่มต้านบรรษัทการเงินและประท้วงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เช่นกรณี กลุ่มออคคิวพาย วอลล์สตรีต หรือ กลุ่มยึดวอลล์สตรีต

นับจากบัดนั้นจนบัดนี้โลกกับหาแนวคิดเศรษฐกิจที่พอดีๆ ไม่ปั่นเศรษฐกิจจนเกิดความเสี่ยง สามารถจัดสรรทรัพยากรให้กับทุกคนได้อย่างเหมาะสม ไม่รวยกระจุกและนำความยั่งยืนมาให้ เข้าใจว่าทุกวันนี้โลกยังหาแนวทางใหม่ที่ว่ากันอยู่ แต่ของไทยเรามีแล้ว “เศรษฐกิจพอเพียง” มรดกแผ่นดินจากในหลวงของเรา

ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย.

Photo : Pixabay ภาพปกไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559