ปตท.ไม่ทิ้งโรงกลั่นเวียดนาม ส่งไม้ต่อ IRPC ลดกำลังผลิตเหลือ 2 แสนบาร์เรล/งบ4แสนล.

27 ต.ค. 2559 | 03:00 น.
“ไออาร์พีซี” ลุยโครงการโรงกลั่น-ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม ลดกำลงผลิตลงเหลือ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิม 4 แสนบาร์เรลต่อวัน เม็ดเงินลงทุน 4 แสนล้านบาท ล่าสุด “สุกฤตย์”เจรจารัฐบาลเวียดนาม พร้อมหาพันธมิตรรายใหม่ แทนซาอุดีอารัมโกที่ถอนตัวออกไป คาดได้ข้อสรุปสิ้นปีนี้ เตรียมปักหมุดปีหน้า ขณะที่ผลประกอบการปี 60 แนวโน้มดีจากโรงกลั่นน้ำมันขาขึ้น

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าโครงการโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่ประเทศเวียดนามว่า ใน ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคมนี้ ทางคณะผู้บริหารบริษัท ไออาร์พีซี ได้เดินทางไปประเทศเวียดนาม เพื่อหารือถึงความคืบหน้าโครงการดังกล่าวกับทางรัฐบาลเวียดนามว่าจะยังมีนโยบายหรือการสนับสนุนการตั้งโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีต่อไปหรือไม่ รวมถึงการเจรจากับพันธมิตรรายใหม่ แทนบริษัท ซาอุดิอารัมโก บริษัท น้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบียบ ถือหุ้นในสัดส่วน 40 % ที่ตัดสินใจถอนตัวจากการถือหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ส่งทำให้โครงการนี้หยุดชะงักมาพักหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปหารือดังกล่าว ถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นในโครงการนี้อยู่ราว 40 % ได้ตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป เนื่องจากเล็งเห็นว่าประเทศเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยให้บริษัท ไอออาร์พีซี เป็นผู้ดำเนินโครงการต่อในฐานะบริษัทในเครือ ปตท. เพราะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี โดย ปตท. จะสนับสนุนการตัดสินใจของไออาร์พีซีในการพัฒนาโครงการ รวมถึงการพิจารณาขนาดโครงการ ขอบเขตการลงทุน และการเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ หากการหารือในครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จกับทางรัฐบาลเวียดนาม ที่จะยังถือหุ้นในสัดส่วน 20 % อีกต่อไปหรือไม่ รวมถึงการยืนยันใช้พื้นที่ตั้งโครงการบริเวณจังหวัดบินห์ดินห์ และการหาพันธมิตรรายใหม่ที่คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในสิ้นปีนี้ ทางกลุ่มปตท.ก็จะตัดสินใจเริ่มดำเนินการโครงการนี้ได้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป และใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 6-7 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โครงการดังกล่าวอาจจะต้องลดขนาดลง จากเดิมที่เคยศึกษาไว้จะเป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะนำน้ำมันที่กลั่นได้มาต่อยอดเป็นปิโตรเคมีขนาดกำลังการผลิต 5 ล้านตันต่อปี โดยใช้เงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 7 แสนล้านบาท( อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยจะลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันลงมาเหลือ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน และปิโตรเคมีอาจจะปรับลดลงมาเหลือครึ่งหนึ่ง ใช้เงินลงทุนราว 4 แสนล้านบาท

นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากการเจรจาไม่มีความคืบหน้าหลังจากนี้ คงต้องล้มเลิกโครงการดำเนินงาน ทางไออาร์พีซีจะต้องมาทบทวนโครงการลงทุนขยายกำลังการผลิตพาราไซลีน(PX) ในประเทศไทย กำลังการผลิต 9 แสนตันเข้ามาแทน แต่ท้ายสุดยังมีความเชื่อว่าเวียดนามมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกสูง รวมทั้งน้ำมันที่ผลิตก็สามารถขายในประเทศได้ ดังนั้น หากทางรัฐบาลเวียดนามยังไม่ตัดสินใจในขณะนี้ แต่ในอนาคตต้องมีการตัดสินใจโครงการนี้เกิดขึ้น

ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้ อาจมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 1.95 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป้าหมายรับรู้กำไรฯ จากโครงการเอเวอเรสต์ที่ตั้งไว้ 3,400 ล้านบาท ลดลงเหลือ 2,700 ล้านบาท เนื่องจากโครงการ UHV ที่เสร็จล่าช้ากว่าแผน แต่มั่นใจว่าทั้งปี 2559 บริษัทจะมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นจากปีก่อน หากราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้ไตรมาส 4 ปีนี้ ภาพรวมโรงกลั่นจะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน

สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในปีหน้า คาดว่าจะมีกำไรเติบโตสูงขึ้นกว่าปี 2559 เนื่องจากรับรู้รายได้จากโครงการปรับปรุงคุณภาพการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์สะอาด (UHV)เต็มปี โครงการขยายกำลังการผลิต PP ที่จะแล้วเสร็จไตรมาส 2/ 2560 และโครงการเอเวอเรสต์(Everest) รวมทั้งแนวโน้มธุรกิจโรงกลั่นจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าธุรกิจปิโตรเคมีจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น คาดการณ์ราคาน้ำมันปีหน้าเพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เทียบกับปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 40-45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559