กุ้งฉุดกลุ่มอาหารแช่แข็งโต เล็งส่งออกทั้งปี1.17 แสนล.

27 ต.ค. 2559 | 06:00 น.
ฟันธงส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งไทย 3 กลุ่มใหญ่ “กุ้ง-ปลา-ทูน่ากระป๋อง” ปีนี้ทะลุ 1.17 แสนล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อน 10% “พจน์” ชี้กังวลแค่ค่าเงินบาท ส่วนการเตรียมขึ้นค่าแรงไม่กระทบมาก ด้าน ก. พาณิชย์ระบุส่งออกกลุ่มอาหารยังหืดขึ้นคอ เฉพาะทูน่ากระป๋องคาดทั้งปียังติดลบต่อเนื่องเหตุขาดแคลนวัตถุดิบ ถูกกีดกันทางการค้า ได้ไก่ กุ้งสด ช่วยเป็นบวก

[caption id="attachment_108955" align="aligncenter" width="700"] การส่งออกสินค้ากุ้ง ปลาหมึก ปลา แช่แข็งและแปรรูปของไทยช่วง 8 เดือนแรก การส่งออกสินค้ากุ้ง ปลาหมึก ปลา แช่แข็งและแปรรูปของไทยช่วง 8 เดือนแรก[/caption]

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปในปี 2559 ว่า ในส่วนของสินค้ากุ้งคาดจะส่งออกได้มูลค่า 7.2 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.8 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว20% ส่วนปลาและทูน่ากระป๋องน่าจะส่งออกได้มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท หรือติดลบ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากปริมาณวัตถุดิบไม่แน่นอน ทั้งนี้เมื่อรวมสินค้าทั้ง 3 รายการ คาดทั้งปีจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% หรือมีมูลค่า 1.17 แสนล้านบาท

“การส่งออกที่ยังขยายตัว มีส่วนสำคัญจากสินค้ากุ้งที่ไทยเริ่มมีผลผลิตมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโรค EMS (โรคตายด่วน) ปัจจัยลบปีนี้ห่วงเพียงค่าเงินที่ผู้ส่งออกกังวลว่าจะแข็งค่าขึ้น ส่วนกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้างได้เตรียมเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้าอีก 5-10 บาทต่อวันคงไม่กระทบมาก ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในปีหน้ามองว่ายังเร็วไปที่จะประเมินสถานการณ์”

ด้านแหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงว่า หลังจากที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับภาคเอกชน เช่น สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถึงสถานการณ์การส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เพื่อหาแนวทางผลักดันการส่งออกเพิ่มนั้น ในภาพรวมการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหาร ประเภทอาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป พบว่าการส่งออกสินค้าอาหารทะเล(ไม่ร่วมกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป)ของไทยในช่วง8เดือน(มกราคม-สิงหาคม)มีมูลค่า 2,494 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนในแง่ปริมาณมีการส่งออก 7.08 แสนตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.83% แบ่งเป็นอาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง ปริมาณ 2.09 แสนตัน ขยายตัวลดลง 17%, อาหารทะเลกระป๋อง ปริมาณ 4.01 แสนตัน ลดลง 3.14% และอาหารทะเลแปรรูป ปริมาณ 8.74 หมื่นตันลดลง 13.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกลุ่มนี้คือทูน่ากระป๋องและแปรรูป มีการส่งออกมูลค่า 1,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 4.5%

สำหรับตลาดส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อียิปต์ และแคนาดา นอกจากนี้ยังมีตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงเช่นจอร์แดน และอิสราเอล จากเป็นตลาดที่ยังมีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้กระทรวงคาดการณ์ว่าการส่งออกในช่วงท้ายปีนี้ น่าจะไม่มีการขยายเพิ่มขึ้นเนื่องจากไทยยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารทะเลในภาพรวม และมีมาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดสำคัญที่มีความงวดการนำเข้ามากขึ้น เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ทั้งมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี

“มาตรการกีดกันทางการค้าเวลานี้มีความเข้มงวดมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านแรงงาน และประเทศคู่ค้าสำคัญให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับประเทศคู่แข่งมากกว่าไทย อย่างไรก็ตามในส่วนของสินค้าทูน่ากระป๋องและแปรรูปกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะไม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นแผ่นเหล็กสำหรับผลิตกระป๋อง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และมีมาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดสำคัญ”

ส่วนในสินค้ากุ้งสดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป รวมถึงสินค้าไก่สดทั้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปในช่วงท้ายปีนี้น่าจะมีอัตราการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศคู่แข่งยังประสบปัญหาทำให้ผลผลิตกุ้ง และการส่งออกกุ้งไปไปยังตลาดสำคัญลดลง เช่นเวียดนามที่เจอปัญหาภัยแล้ง หรือเอกวาดอร์ที่เจอภัยพิบัติแผ่นดินไหว อินเดียประสบปัญหาอากาศร้อนและองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ(USFDA )ปฏิเสธการนำเข้าเนื่องจากพบว่าอินเดียมีการใช้ยาปฎิชีวนะในกุ้ง จะมีผลทำให้สินค้าไทยเข้าไปทดแทนได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559