ความเชื่อมั่นต่ออนาคตของธุรกิจครอบครัวในยุโรปยังดีอยู่

27 ต.ค. 2559 | 09:00 น.
จากการศึกษาของ European Family Businesses (EFB) และ KPMGที่ได้ทำการสำรวจแบบออนไลน์กับธุรกิจครอบครัวในยุโรป จำนวน 959ราย ในช่วงวันที่1 พฤษภาคม -30 มิถุนายน 2016 พบว่าธุรกิจครอบครัวในยุโรปยังคงแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นในระดับสูงต่ออนาคตและผลการดำเนินงานของธุรกิจของพวกเขา พวกเขายังมองในแง่ดี มีความตั้งใจ และมีทักษะในการที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและการปรับตัวให้เข้าการเปลี่ยนแปลงของตลาด แม้เมื่อไม่นานมานี้จะมีความวุ่นวายในตลาดยุโรป สงครามการแย่งชิงคนเก่งและการแข่งขันทางธุรกิจทวีความรุนแรงขึ้นแต่ธุรกิจครอบครัวในยุโรปยังคงนำเสนอผลงานที่เป็นบวกและยังคงเชื่อมั่นในอนาคตของธุรกิจ เพื่อที่จะให้สามารถเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากลำบากในปัจจุบันธุรกิจครอบครัวจึงต้องพึ่งพาจุดแข็งทางวัฒนธรรมและโครงสร้างดั้งเดิมของพวกเขาอย่างไรก็ตาม หากความท้าทายต่างๆ ที่กล่าวมาในข้างต้นยังคงสร้างความกดดันต่อเนื่องต่อธุรกิจครอบครัว (โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็ก) และยับยั้งการเติบโตในอนาคตของพวกเขาก็อาจส่งผลให้การดำเนินงานแย่ลงได้

[caption id="attachment_108925" align="aligncenter" width="700"] ภาพที่ 1 ภาพที่ 1[/caption]

สำหรับอนาคตของธุรกิจครอบครัวในเรื่องของการเติบโตและแม้ว่าพวกเขายังมองในแง่ดีอยู่ แต่ยังคงมีความท้าทายหลักๆที่ขัดขวางแผนการเติบโตของพวกเขา โดยประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลมากที่สุดในปีนี้เกี่ยวข้องกับการดึงดูดและรักษาคนเก่งเอาไว้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการแข่งขันที่ดุเดือด (ภาพที่ 1)

โดยสงครามแย่งชิงคนเก่งยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความวิตกกังวลมากว่า 4 ปีก่อนหน้านี้ และปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นความท้าทายอันดับต้นๆของธุรกิจครอบครัว จากผู้ถูกสำรวจที่ระบุไว้ถึง 37% ทั้งที่จากการสำรวจในปี 2013 ประเด็นนี้ยังไม่ติดอันดับ 1 ใน 5 ด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่ควรเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยแม้ว่าโดยปกติธุรกิจครอบครัวจะสามารถรักษาคนเก่งเอาไว้ได้ดีกว่าและมีอัตราการหมุนเวียนออกจากงานต่ำกว่าธุรกิจทั่วไปก็ตาม เนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพาพนักงานเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นเรื่องยากในการที่จะดึงดูดคนที่เก่งที่สุดโดยเฉพาะในบริษัทขนาดเล็ก

ดังนั้นเรื่องนี้จึงอาจมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในอนาคตของพวกเขาส่วนประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้นได้แซงหน้ากลายมาเป็นสิ่งที่น่ากังวลแทนเรื่องอื่นในปีนี้ ซึ่งหัวข้อที่ร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมาได้แก่เรื่องของการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)ของสหราชอาณาจักร หรือ “Brexit referendum” จึงไม่น่าแปลกใจว่าความไม่ชัดเจนของผลที่ตามมาต่อเศรษฐกิจของยุโรปทั้งหมดจะเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับธุรกิจครอบครัวที่ปรารถนาจะดำเนินธุรกิจแต่แบบที่มีความแน่นอน มีภาวะทางการเมืองและกรอบระเบียบข้อบังคับที่คาดการณ์ได้ให้เกิดความตื่นตัวขึ้น แต่ทั้งนี้ผลที่เกิดขึ้นในทางบวกก็มีให้เห็น เช่นในประเด็นที่ความสามารถในการทำกำไรลดลงถูกเลื่อนอันดับความท้าทายสำคัญของธุรกิจครอบครัวลงมา อาจเป็นเพราะผลจากการที่พวกเขาได้แก้ปัญหาเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรแล้วในปี 2015

นอกจากนี้จะเห็นว่าธุรกิจครอบครัวไม่มีอุปสรรคเมื่อต้องการระดมทุนและการทำตามแบบแผนในการพึ่งพาแหล่งทางการเงิน 2 แหล่งคือ ตราสารหนี้ธนาคาร (bank debt)และความเป็นเจ้าของร่วม (share ownership) (ระบุว่าจาก 78% ของผู้ตอบ แบ่งเป็น 48% เลือกตราสารหนี้ธนาคารและ30% เลือกความเป็นเจ้าของร่วม) รวมถึงการนำกำไรกลับมาลงทุน (reinvesting) ก็ยังเป็นอีกทางเลือกถัดมา

[caption id="attachment_108926" align="aligncenter" width="700"] ภาพที่ 2 ภาพที่ 2[/caption]

อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวยังคงมีโอกาสมีช่องทางเฉพาะของตัวเองในตลาดเสมอและเป็นที่น่าสนใจที่ได้เห็นว่าผู้ถูกสำรวจประสบความสำเร็จจากคุณลักษณะเฉพาะของพวกเขา และเพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายจากสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจครอบครัวจึงพึ่งพาจุดแข็งทางโครงสร้างและวัฒนธรรมของพวกเขา คือการมีมุมมองระยะยาว ความสามารถในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีความยืดหยุ่น และพนักงานมีความภักดีและผูกพันกับองค์กรเมื่อถามว่าการเปลี่ยนแปลงใดที่มีผลกระทบต่อธุรกิจและความสำเร็จในอนาคตของพวกเขามากที่สุด ผู้ถูกสำรวจ30% ตอบว่ากฎเกณฑ์ในตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะที่ 29% บอกว่าการลดต้นทุนค่าแรงงานที่ไม่ใช่ค่าจ้าง และอีก 27% บอกว่าการลดต้นทุนการบริหาร(ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ที่มา : European Family Businesses (EFB) and KPMG . 2016. EFB-KPMG European Family Business Barometer 2016: SUCCESSFUL & RESILIENT. 5thedition.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559