พาณิชย์เผยภาวะส่งออกเดือน ก.ย.ขยายตัวร้อยละ 3.4

26 ต.ค. 2559 | 10:00 น.
น.ส.พิมพ์ชนก  วอนขอพร  รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกันยายน 2559 ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่เริ่มมีสัญญานบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี อินเดีย รัสเซีย และบางประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ รวมทั้ง ราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคอื่น (รวมทั้งไทย) ที่เริ่มอ่อนค่า ตามความเป็นไปได้มากขึ้นที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ทำให้แนวโน้มสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยการส่งออกในเดือนกันยายน 2559  ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังคงขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่มีการขยายตัวในเกณฑ์ดี (ยกเว้นตะวันออกกลางที่ยังหดตัว) ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์/ไดโอด ที่ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเครื่องยนต์ เคมีภัณฑ์ และสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ผัก ผลไม้สด กระป๋องและแปรรูป กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป และข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งราคาและปริมาณการส่งออก

รวม 9 เดือนแรกของปี 2559 การส่งออกหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.7 ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลก พบว่า สถานะของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในลำดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อีกทั้งยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ดีในเกือบทุกตลาด

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนสุดท้าย โดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า และเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการออกมาตรการ QE และมาตรการทางการเงินของประเทศต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคบ้าง ดังนั้น ด้วยแนวโน้มและปัจจัยข้างต้น กระทรวงพาณิชย์จึงคงคาดการณ์การส่งออกปี 2559 ไว้ที่ ร้อยละ (-1.0) ถึง (0.0) เช่นเดิม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนกันยายน การส่งออกมีมูลค่า 668,932 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 588,660 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้การค้าเกินดุล 80,272 ล้านบาท รวม 9 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 5,636,774 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3) การนำเข้ามีมูลค่า 5,065,652 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 1.7) และการค้าเกินดุล 571,121 ล้านบาท

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์ สรอ.  เดือนกันยายน การส่งออกมีมูลค่า 19,460 ล้านดอลลาร์ สรอ.  ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี (ตุลาคม 2557 มูลค่าส่งออก 20,206 ล้านเหรียญ) ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 16,914 ล้านดอลลาร์ สรอ.  (ขยายตัวร้อยละ 5.6) ส่งผลให้การค้าเกินดุล 2,546 ล้านดอลลาร์ สรอ.  ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน รวม 9 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 160,468 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หดตัวร้อยละ 0.7) การนำเข้ามีมูลค่า 142,538 ล้านดอลลาร์ สรอ.  (หดตัวร้อยละ 7.3) และการค้าเกินดุล 17,930 ล้านดอลลาร์ สรอ.

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยภาพรวมเดือนกันยายน 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ ขยายตัวร้อยละ 1.9 (YoY) สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผัก ผลไม้สด กระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ข้าว และเครื่องดื่ม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 27.1 6.4 และร้อยละ 12.5 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการยังคงหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย (ส่งออกไปตลาดอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา) และยางพารา (ส่งออกไปตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น)รวม 9 เดือนแรกการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 5.1

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์/ไดโอดที่ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงตามความต้องการตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ  ภาพรวมเดือนกันยายน 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์/ไดโอด ขยายตัวร้อยละ 132.5 (ส่งออกไปตลาด สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และญี่ปุ่น) เครื่องยนต์สันดาปภายใน ขยายตัวร้อยละ 32.5 (ส่งออกไปตลาด อินโดนีเซีย จีน และแอฟริกาใต้) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 14.8 (ส่งออกไปตลาด จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 4.6 (ส่งออกไปตลาด สหรัฐฯ จีน และเนเธอร์แลนด์) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 11.8 (ส่งออกไป ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย) ในขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก ทองคำ โทรทัศน์และส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 21.8  8.3  13.2 และร้อยละ 14.3 ตามลำดับ) รวม 9 เดือนแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.3

ตลาดส่งออกสำคัญทุกตลาด (ยกเว้นตะวันออกกลาง) ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยส่งออกไปจีนขยายตัวสูงสุดในรอบ 33 เดือน ตลาดสหรัฐฯ สินค้าที่ขยายตัวได้แก่ คอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์ยาง ในขณะที่โทรทัศน์ อัญมณี และ อาหารทะเล หดตัว  ตลาดญี่ปุ่น สินค้าที่ขยายตัวได้แก่  ยานยนต์ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเหล็ก  ตลาดออสเตรเลีย สินค้าที่ขยายตัวได้แก่  อาหารทะเล ยานยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ในขณะที่ เม็ดพลาสติก และเครื่องปรับอากาศ หดตัว  ตลาดจีน สินค้าที่ขยายตัวได้แก่  คอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์ไม้  ในขณะที่เม็ดพลาสติก ยางพารา และแผงวงจร หดตัว  ตลาดสหภาพยุโรป สินค้าที่ขยายตัวได้แก่  คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ อัญมณี แผงวงจร และเครื่องปรับอากาศ รวม 9 เดือนแรก ตลาดที่ขยายตัว ได้แก่ ออสเตรเลีย (ร้อยละ 9.5) สหรัฐฯ (ร้อยละ 1.5) และสหภาพยุโรป (ร้อยละ 0.4)