"อภิรดี” สั่งการผู้บริหารลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าพื้นที่น้ำท่วม

26 ต.ค. 2559 | 05:38 น.
"อภิรดี” สั่งการผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้า เน้นพื้นที่น้ำท่วม เพื่อป้องกันปัญหาประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ

นางดวงกมล เจียมบุตร เลขานุการระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการลงพื้นที่ติดตามภาวะราคาสินค้าและตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้ประสบอุทัยภัย ที่จ.พระนครศรีอยุธยาว่า นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า การกักตุนสินค้าจนทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

“ช่วงนี้ รัฐมนตรีให้เน้นเป็นพิเศษในการดูแลราคาสินค้าในพื้นที่น้ำท่วม เพราะไม่อยากให้ประชาชน  ที่มีปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว ได้รับผลกระทบในด้านค่าครองชีพเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งจากการลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์ในวันนี้ พบว่า สินค้าอุปโภคยังมีจำหน่ายเป็นปกติ สินค้ามีเพียงพอ พื้นที่น้ำท่วมเป็นลักษณะน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนอยู่อาศัยและพื้นการเกษตรบางส่วน สามารถจัดส่งสินค้าเข้าไปในพื้นที่ได้ แต่ก็ได้กำชับให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และค้าภายในจังหวัด มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีปัญหา ในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบเห็นการเอารัดเอาเปรียบ หรือพบการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ขอให้แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ และดำเนินการทันที  หากพบว่า มีการกระทำผิดจริง ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือ  ทั้งจำทั้งปรับ

นางดวงกมล กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ไปติดตามสถานการณ์ราคาและการจำหน่ายเสื้อ  สีดำและเครื่องแต่งกายสำหรับไว้ทุกข์ รวมทั้ง เครื่องสักการะที่ตลาดเทศบาลเมืองเสนาด้วย ซึ่งพบว่า เสื้อผ้า  มีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน สินค้าเริ่มทะยอยออกสู่ตลาดแล้ว เพราะผู้ผลิตได้เร่งผลิตและ จัดส่งป้อนไปยังผู้ค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง และไม่พบปัญหาการขาดแคลนหรือการกักตุนแต่อย่างใด ราคาเสื้อยืดคอกลม 100-140 บาท เสื้อโปโล 200-290 บาท แล้วแต่คุณภาพ ส่วนสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผักสด มีราคาทรงตัว ยกเว้นผักเน่าเสียง่าย เช่น ผักชี ต้นหอม ราคา กก. ละ 120 บาท ผลผลิตมีเพียงพอต่อความต้องการ อาหารปรุงสำเร็จราคา ประมาณ 20-35 บาท

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบสภาพแปลงนาและตรวจเยี่ยมเกษตรกร ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.บ้านหลวง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำนาแปลงใหญ่ พื้นที่รวมประมาณ 20,000 ไร่เศษ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่พื้นที่โดยรวมของจังหวัด ประมาณ 100,000 ไร่ หรือ 15% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเนื่องจากเก็บเกี่ยวไม่ทัน ข้าวส่วนใหญ่เป็นการเก็บเกี่ยวสด ความชื้นสูงราคาจึงค่อนข้างต่ำ จากการหารือได้มีการเสนอความเห็นในเรื่องการบริหารจัดการช่วงเวลาการเพาะปลูก โดยจะกำหนดให้เก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ก่อนที่จะมีการระบายน้ำลงมาที่จังหวัดในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน นอกจากนี้ ยังได้หารือในเรื่องช่องทางการตลาด และความร่วมมือกับโรงสี ในการระบุพันธุ์ข้าวที่ต้องการรับซื้อให้เกษตรกรทราบก่อนการเพาะปลูก