ภาคธุรกิจฉุดจีดีพีเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมการผลิตหดตัวจากปัญหาซัมซุงและฮุนได

26 ต.ค. 2559 | 11:00 น.
ปัญหาจากภาคธุรกิจรายใหญ่ อาทิ การยุติการผลิตสมาร์ทโฟนกาแล็กซี่ โน้ต 7 ของซัมซุง และการหยุดงานประท้วงของฮุนได มอเตอร์ ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ผ่านมาชะลอตัวลง

ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงจากการขยายตัว 0.8% ในไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาเติบโต 2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจาก 3.3% ในไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายน

แม้ว่าตัวเลขการเติบโตจะเหนือว่าการคาดการณ์เล็กน้อย แต่นักวิเคราะห์คาดหมายว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวต่อเนื่องจากผลของการที่รัฐบาลเข้าไปปรับโครงสร้างบริษัทที่มีปัญหา ตลอดจนการระงับการผลิตสมาร์ทโฟนกาแล็กซี่ โน้ต 7 ของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์

“เศรษฐกิจเกาหลีใต้สูญเสียโมเมนตัมในไตรมาส 3 ของปี 2559 และเราคาดหมายว่าการเติบโตจะชะลอตัวในไตรมาสต่อๆ ไป เนื่องจากการผสมผสานของปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจากภายใน และความต้องการจากต่างประเทศที่อ่อนแอ” คริสตัล แทน นักวิเคราะห์จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็น

ข้อมูลจากธนาคารกลางเกาหลีใต้แสดงให้เห็นว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 1.4% ในไตรมาส 3 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.5% ลดลงจากไตรมาส 2 ที่เพิ่มขึ้น 1% ส่วนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัว 1% ในไตรมาสที่ผ่านมา หลังจากขยายตัว 1.2% ในช่วงไตรมาส 2 ของปี

ชอง คยู-อิล ผู้อำนวยการฝ่ายสถิติเศรษฐกิจของธนาคารกลางเกาหลีใต้ กล่าวว่า การตัดสินใจยกเลิกการผลิตกาแล็กซี่ โน้ต 7 ของซัมซุง หลังเกิดปัญหาแบตเตอรีระเบิดจนเกิดเพลิงลุกไหม้ และการหยุดงานประท้วงของพนักงานบริษัท ฮุนได มอเตอร์ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัวในไตรมาส 3

ทั้งนี้ ฮุนไดประเมินว่า การหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานในช่วงระหว่างกลางเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนกันยายน เป็นเหตุให้การผลิตของบริษัทเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.1 ล้านล้านวอน

การส่งออกซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัว 0.8% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 โดยการส่งออกฟื้นตัวขึ้นมาในเดือนสิงหาคมหลังจากหดตัวติดต่อกันมา 19 เดือน ก่อนจะพลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งในเดือนกันยายน หลังจากได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนสมาร์ทโฟนกาแล็กซี่ โน้ต 7 ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.4%

ความแข็งแกร่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปีนี้ ในขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนอื่นๆ อาทิ การส่งออกและการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง โดยในไตรมาสที่ผ่านมาการลงทุนด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 3.9% อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตที่มีภาคการก่อสร้างเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักจะเดินหน้าต่อไปได้อีกนานเพียงใด เนื่องจากรัฐบาลต้องการควบคุมหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 11% ถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ส่งสัญญาณถึงภาวะล้นตลาด

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าการบริโภคภายในประเทศจะอ่อนแอต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลประกาศกฎหมายที่เข้มงวดห้ามให้ของขวัญราคาแพงและเลี้ยงอาหารแก่ข้าราชการ สื่อมวลชน และอาจารย์ในโรงเรียน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการใช้จ่ายตามร้านอาหารและร้านค้า

นักวิเคราะห์บางราย รวมถึงสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่าจีดีพีของประเทศจะหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดี นางยู อิล-โฮ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ และสามารถเติบโตได้ตลอดทั้งปีนี้และปีหน้าในระดับ 2.5% ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้คาดการณ์การเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 2.7% และ 2.8% ในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559