'ไซเซล'อัพเกรดซิเคียวริตี ป้องภัยใช้เน็ตสถานศึกษา

26 ต.ค. 2559 | 06:00 น.
ไซเซล จับมือพันธมิตรพัฒนาระบบป้องกันภัยบนเครือข่ายเน็ตเวิร์ก รองรับการทำงานได้พร้อมกันถึง 4,000 คน อัพเกรดเวอร์ชันล่าสุดดักจับเฟิร์มแวร์ พร้อมแจ้งเตือนอัตโนมัติ ป้องกันภัยใช้อินเทอร์เน็ตในสถาบันศึกษา และธุรกิจโรงแรม ลดต้นทุนการติดตั้งและการดูแลได้ชัดเจน

นายสิทธิชีพ สมเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเซล (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า ไซเซล ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมระบบการป้องกันภัยบนเครือข่ายเน็ตเวิร์ค หรือที่เรียกว่ายูนิไฟด์ ซิเคียวริตี โซลูชัน ( Unified Security Solution ) ขึ้นมา โดยร่วมมือกับพันธมิตรด้านความปลอดภัยบนเครือข่าย ประกอบด้วย แคสเปอร์สกี้ แลป, เทรนด์ไมโคร และไซเรน อินเตอร์เน็ต ซิเคียวริตี พัฒนาระบบป้องกันภัยในการเชื่อมต่อบนเครือข่ายผ่านชุดอุปกรณ์ ไซเซล USG Series เพื่อป้องกันระบบเครือข่ายในองค์กร รวมถึงธุรกิจบริการที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เช่น โรงแรม และรีสอร์ต รวมไปถึงกลุ่มสถาบันการศึกษา ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานได้สูงสุดถึง 4,000 คนพร้อมกัน

โดยระบบเครือข่ายสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งยังสามารถทำงานทดแทนกันได้ในกรณีระบบล้มเหลว และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานดูแลระบบขั้นสูง ด้วยการตั้งค่าระบบง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ และทำงานได้รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลสำคัญระหว่างสาขา ได้ง่ายดาย ด้วยฟังก์ชันเครือข่ายเสมือนส่วนตัว ( VPN:Virtual Private Network)

“สำหรับ ไซเซล USG Series จะช่วยให้การใช้งานไร้สายในองค์กร เป็นระบบ และปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการบริหารจัดการ และควบคุมการใช้งานของอุปกรณ์ โมบิลิตีต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเลต และโน้ตบุ๊ก โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่คาดว่าในปี 2559 จะมีผู้ใช้งานมากถึง 50 ล้านเครื่อง ซึ่งเพิ่มอัตราความเสียงในการถูกโจมตีจากภายนอก โดยอาศัยช่องโหว่จากการเชื่อมต่ออุปกรณ์ส่วนตัวเข้ากับเครือข่ายเน็ตเวิร์คภายในองค์กร เข้าโจมตีระบบได้ง่ายขึ้นโดยการฝังตัวมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการแฝงตัวเข้ามาเจาะระบบข้อมูลภายในองค์กรผ่านสแปมต่างๆ ในระหว่างที่กำลังเชื่อมต่อเข้าระบบอินเทอร์เน็ต โดยเราได้เพิ่มฟังก์ชั่น Cloud Helper ซึ่งเมื่อตรวจพบเฟิร์มแวร์รูปแบบใหม่ๆ ระบบจะส่งข้อมูลแจ้งเตือนมายังอุปกรณ์ เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถอัพเดทได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงเพิ่มเติมฟังก์ชัน “เซฟเสิร์ช” (SafeSearch) และ จีโอ ไอพี บล็อกกิ้ง (Geo IP Blocking) โดยคุณสมบัติใหม่นี้ มีความต้องการอย่างสูง ในสถาบันการศึกษา เพื่อป้องกันการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”

Photo : Pixabay ภาพปกไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559