อธิบดีเกษตรหนุนชาวนาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวนาปรัง

25 ต.ค. 2559 | 10:07 น.
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ทดแทนการปลูกข้าว รอบ 2 ปีการผลิต 2559/60 หรือ ข้าวนาปรัง) เพื่อปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น หรือกิจกรรมอื่นจำนวน 3 ล้านไร่ ประกอบกับปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่มีความต้องการใช้ในประเทศกว่า 7.2 ล้านตัน ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่น ๆ เข้ามาเสริมชดเชยส่วนที่ขาด ดังนั้น โครงการดังกล่าวจึงได้จัดทำขึ้นและมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง คือ

  1. ลดปริมาณผลผลิตข้าวที่มากเกินความต้องการ เพื่อปรับระบบให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและความต้องการของตลาดของผลผลิตทั้ง 2 ชนิด จากข้าวมาเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปัจจุบันผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าในการผลิตพืช

  2. พื้นที่เป้าหมาย มีความเหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเป็นพื้นที่ที่เกษตรกร มีแนวโน้มจะปลูกข้าวรอบ 2 โดยดูจากข้อมูลการผลิตข้าวในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร คือ ตั้งแต่ ปี 2555/56 - 2558/59 จากการวิเคราะห์ของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่า มีพื้นที่ที่ดินมีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) รวมกันกว่า 8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเขตชลประทาน 31 จังหวัด พื้นที่รวม 2 ล้านไร่ และกรมส่งเสริมการเกษตรได้ทดลองนำร่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวรอบที่ 2 หรือข้าวนาปรังในปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า เกษตรกรสามารถผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิตเฉลี่ย 900 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีกำไรจากการผลิตไร่ละ 2,000 – 4,000 บาท

  3. เมล็ดพันธุ์ที่ใช้เป็นพันธุ์คุณภาพ

  4. มีตลาดรับซื้อแน่นอน โดยปกติราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาขึ้นอยู่กับระยะทางและคุณภาพ ปกติจะอยู่ที่ราว ๆ 6 - 7 บาท กำไรดีกว่าการปลูกข้าวรอบ 2 (นาปรัง) ซึ่งปกติขาดทุนไร่ละประมาณ 1,000 บาท


อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน แต่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ เกษตรกรที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก่อน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรมากที่สุด หากไม่ดำเนินโครงการนี้ ก็จะเกิดปัญหาเดิม ๆ คือ เกษตรกรสูญเสียรายได้ และการผลิตไม่สอดคล้องกับการตลาด เช่น กรณีของข้าวเป็นตัวอย่าง รัฐต้องเสียงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยเกษตรกรไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซาก

การประสานพลังประชารัฐ จะทำให้ภาคการเกษตรเข้มแข็ง การผลิตการตลาดสอดคล้องกัน ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาภาคเกษตรมากขึ้น นำไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพ และนอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังได้มีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าวปรังด้วย เช่น พืชผักอายุสั้น และถั่วชนิดต่าง ๆ เป็นต้น