ใต้ร่มพระปรีชาชาญพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย

25 ต.ค. 2559 | 06:00 น.
“...ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ...”

พระราชดำรัสในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างของสโมสรโรตารี กรุงเทพฯ ใต้ ณ ลุมพินีสถาน วันจันทร์ ที่ 2 มีนาคม 2513

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันนั้นเป็นดั่งแสงอาทิตย์ที่ส่องประกายในใจของพสกนิกรไทยทุกคนโดยเฉพาะการสืบทอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ กระทรวงแรงงาน จากรุ่นสู่รุ่น ด้วยตระหนักเสมอว่างานช่างเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับสากล และพร้อมสู่การแข่งขันได้ในตลาดโลก

กว่า 4 ทศวรรษแห่งการน้อมนำพระราชดำรัสมาปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบกับพระราชกรณียกิจด้านงานช่างอันเป็นที่ประจักษ์ เป็นต้นแบบให้เราเดินตามรอยพระยุคลบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา“พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 และกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปีเป็น“วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ”

ในปี 2560 กระทรวงแรงงานโดยการนำของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้จัดให้มีโครงการด้านพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อร่วมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์หลายโครงการด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 2 มีนาคม 2560 นี้ จะมีการจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ บริเวณกระทรวงแรงงาน และในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านที่ทรงให้ความสำคัญต่อมาตรฐานฝีมือแรงงานและการมีงานทำ ซึ่งพระองค์มีพระดำรัสในเรื่องนี้ว่า

“ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่ 3 ประการ ประการแรก ได้แก่ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิชาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่ 2 ได้แก่ปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่ 3 ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้ง 3 ประการนี้จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป”

ในส่วนนี้เองกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดกิจกรรมด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานอื่นๆ เช่น กิจกรรมการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อเป็นการต่อยอดความรู้การประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพสามารถพึ่งพาตนเองได้ จำนวน 4,980 คน

กิจกรรมฝึกอบรมร่วมกับมูลนิธิขาเทียม เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับช่างเครื่องช่วยคนพิการให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานจำนวน 20 คน และกิจกรรมจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคการศึกษาและภาคเอกชนโดยการส่งเสริมให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานที่สามารถทำหน้าที่ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้กับประชาชนเพื่อเป็นการขยายการให้บริการจำนวน 78 แห่ง

นอกจากนี้ยังจัดให้มีโครงการสานสร้างศูนย์ช่างประจำชุมชนเทิดไท้องค์ราชัน เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯโดยหลักการสำคัญของการสร้าง ศูนย์ช่างประจำชุมชน คือ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการซ่อมแซมเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำไร่ทำนา และเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างทักษะฝีมือด้านช่าง ให้กับคนในชุมชนให้สามารถซ่อมแซม ดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ได้เองในการดำเนินงานนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ประสานกับจังหวัดและองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม จากนั้นจึงจัดส่งวิทยากรเข้าไปฝึกอบรมยังพื้นที่ในสาขาช่างที่จำเป็น เช่น ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ช่างก่ออิฐฉาบปูน ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ ช่างพันมอเตอร์ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น ช่างบำรุงรักษารถยนต์ ช่างซ่อมจักรยานยนต์ ช่างซ่อมและติดตั้งมุ้งลวด ช่างเชื่อม ช่างปูกระเบื้อง ช่างผลิตอิฐบล็อกประสาน ช่างเดิน ท่อและซ่อมบำรุงรักษาระบบประปา ช่างทำฝ้าเพดาน ช่างสีอาคาร ช่างไม้ก่อสร้าง ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น

การบริหารจัดการในโครงการฯนี้สอดคล้องกับหลักการทรงงานที่ว่า“ระเบิดจากข้างใน”ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคนโดยเริ่มจากการให้ความรู้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่ายระหว่างครอบครัวและชุมชนให้เข้มแข็งพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งหลายชุมชนยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัวจึงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ความล่มสลายได้ซึ่งโครงการนี้จะช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ศูนย์ช่างประจำชุมชน สร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็งจากการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกันก่อให้เกิดการสานต่ออย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559