สะพานภูมิพล 1- สะพานภูมิพล 2 วงแหวนเชื่อมโลจิสติกส์กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ

24 ต.ค. 2559 | 04:00 น.
นับเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่มุ่งคลี่คลายปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและเป็นเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงย่านอุตสาหกรรมของพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ยานนาวา จังหวัดกรุงเทพมหานครและ อำเภอสำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านโครงข่ายของถนนวงแหวนอุตสาหกรรมที่สามารถเชื่อมโยงระบบโครงข่ายอย่างครอบคลุม

 งดงามด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น

“สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2” ในแนวถนนวงแหวนอุตสาหกรรมนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2543 และก่อสร้างสำเร็จในช่วงปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549

นอกจากประโยชน์หลักในการสัญจรแล้วสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ยังมีความงดงามในแง่โครงสร้างทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับว่าเป็นอีกหนึ่งสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่งดงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งที่คนไทยภาคภูมิใจ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 เห็นชอบให้กรมทางหลวงชนบท เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมสำหรับรองรับรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ในเส้นทางเชื่อมโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการกับท่าเรือคลองเตยได้อย่างสะดวก รวดเร็วขึ้น อีกทั้งเพื่อมิให้รถบรรทุกเหล่านี้วิ่งเข้าไปยังตัวเมืองหรือทิศทางอื่นๆทำให้ปัญหาจราจรบรรเทาลงได้

สำหรับประโยชน์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้เพื่อรองรับการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือคลองเตยไปยังโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการแล้วยังช่วยเสริมโครงข่ายถนนของกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการที่เป็นโครงข่ายสำคัญในการขนถ่ายสินค้าในพื้นที่โครงการไปยังส่วนต่างๆของประเทศได้อีกด้วย เช่น ด้านทิศใต้ออกสู่ถนนพระราม 2 หรือทางทิศตะวันตกไปสู่ถนนสุขุมวิทหรือถนนบางนา-ตราด ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมและสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 จัดเป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ช่วงต่อเนื่องกันและเป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 3 และ 4 ของประเทศไทยมีความยาวระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร รูปแบบสะพานขึง สูงจากระดับน้ำประมาณ 54 เมตร ตัวสะพานมีความกว้าง 7 ช่องจราจร ความยาวสะพานรวมทั้งสิ้น 4.2 กิโลเมตร พื้นที่ด้านใต้ความยาวสะพานช่วงกลางแม่น้ำยาว 398 เมตรและความยาวสะพานช่วงหลัง 152 เมตร พื้นที่ด้านเหนือ บริเวณถนนพระรามที่ 3 ความยาวสะพานช่วงกลางแม่น้ำ 326 เมตร และความยาวตัวสะพานช่วงด้านหลัง 128 เมตร พื้นที่ด้านทิศตะวันตก บริเวณถนนสุขสวัสดิ์โดยช่วงจุดต่อเชื่อมระหว่าง 2 สะพานจะมีทางแยกเป็นทางยกระดับขนาดความกว้าง 4 ช่องจราจร ยาวประมาณ 2.2 กิโลเมตรไปบรรจบกับถนนสุขสวัสดิ์ทางทิศตะวันตกด้วย

ทั้งนี้กรมทางหลวงชนบทได้แบ่งรูปแบบการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง โดยบริเวณคอคอดของพื้นที่บางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่เรียกว่า “สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม” จะประกอบไปด้วยทางขึ้น-ลง 3 แห่ง คือ 1.ด้านทิศเหนือ บริเวณถนนพระรามที่ 3 เชื่อมระหว่างตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กับแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร มีทางขึ้น-ลงเชื่อมต่อมุ่งหน้าท่าเรือคลองเตย 2.พื้นที่ด้านใต้ บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย เชื่อมระหว่างตำบลทรงคะนอง กับตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และ 3. พื้นที่ด้านตะวันตก บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จึงสามารถอำนวยความสะดวกด้วยการเชื่อมโยงได้อย่างทั่วถึง

  งบกว่า 8 พันล้านก่อสร้าง-เวนคืน

สำหรับงบประมาณการลงทุนของโครงการพระราชดำรินี้ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวน 3,660 ล้านบาท เงินกู้สมทบจาก JBIC วงเงิน 14,887 ล้านเยน รวมมูลค่าโครงการคิดเป็นเงินบาทรวมทั้งสิ้น 8,739 ล้านบาท โดยค่าเวนคืนรวมทั้งสิ้น 6,357 ล้านบาทที่จ่ายให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น 767 ราย จำนวนที่ดิน 1,180 แปลง เนื้อที่ 347 ไร่ ค่าทดแทนที่ดินรวม 5,040 ล้านบาท จำนวนสิ่งปลูกสร้าง 1,338 หลัง ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งสิ้น 1,317 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559