สำนักพิมพ์กู้วิกฤติขาลงปรับแผนคุมต้นทุน/อัดกิจกรรมรูปแบบสู้อี-บุ๊ก

23 ต.ค. 2559 | 00:00 น.
ธุรกิจสำนักพิมพ์ฮึดสู้ รับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันช้อปอี-บุ๊ก ปรับแผนรับพริ้นท์ออนดีมานต์ หวังคุมต้นทุนต่ำสุด เผยเร่งจัดกิจกรรมปลุกมูดทั้งงานมหกรรมหนังสือฯ และอีเว้นท์ต่างๆหวังเพิ่มช่องทางขายสร้างรายได้ ขณะที่ “แจ่มใส” จูงมือร้านหนังสือแบรนด์ดัง-ท้องถิ่นกว่า 100 ร้านค้าจัดขายสัญจรทุกภูมิภาค

นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันสำนักพิมพ์ต่างๆ ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับภาพรวมธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปนิยมเลือกซื้อหนังสือผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรืออี-บุ๊ก (e-Book) การแข่งขันที่รุนแรงของผู้ประกอบการแต่ละสำนักพิมพ์ และร้านจำหน่ายหนังสือ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีกำไรลดลง

โดยการจัดงานมหกรรมหนังสือที่มีขึ้นแต่ละครั้ง ถือเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญของสำนักพิมพ์หลายแห่ง โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ระดับกลาง และเล็ก เพราะสามารถนำเสนอหนังสือหลากหลายรูปแบบได้ตามต้องการของบริษัท รวมถึงผู้บริโภคเอง แตกต่างจากการนำหนังสือเข้าไปวางจำหน่ายผ่านร้านหนังสือ ซึ่งต้องเป็นหนังสือที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่นิยม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจัดงานมหกรรมหนังสือแต่ละครั้งจะมีสำนักพิมพ์ต่างๆ เข้าร่วมงานจำนวนมาก และยังสามารถจัดโปรโมชั่นทำให้มีราคาถูกและสามารถจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่า

[caption id="attachment_107718" align="aligncenter" width="500"] Book Expo Thailand 2016 Book Expo Thailand 2016[/caption]

“ในยุคนี้คนทำหนังสือต้องทำการบ้านมากขึ้น ต้องรู้ว่าผู้บริโภคต้องการหนังสือประเภทใด หรือมีพฤติกรรมการเลือกซื้ออย่างไร ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การพิมพ์หนังสือหรือซื้อหนังสือมีทั้งผ่านอี-บุ๊ก การพิมพ์ตามจำนวนสั่งจอง (print ondemand) ทำให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมต้นทุน และกำหนดยอดพิมพ์ กำหนดราคา และกำหนดกำไรที่จะได้ตามต้องการด้วย”

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักพิมพ์รายหนึ่ง กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีสำนักพิมพ์ปิดตัวลงไปจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีเปิดใหม่ ถือว่ามีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ซึ่งปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ ทั้งที่ตกอยู่ในภาวะขาดทุนเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ ถูกบีบจากสายส่ง รวมถึงบางรายที่เห็นว่าแนวโน้มตลาดไม่ดีก็ชิงปิดตัวเองก่อนก็มี

“เพราะธุรกิจหนังสือเป็นการขายฝากทุกวันนี้สำนักพิมพ์เล็กๆ จะถูกเรียกเก็บค่าจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทุกปี จากอดีตที่เรียกเก็บ 40% -42% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 45% ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าหลายประเภท เช่น อาหาร หรือแฟชั่นเสื้อผ้าที่มีค่าจัดจำหน่าย 36-38% ทำให้สำนักพิมพ์แต่ละแห่งต้องพิจารณาอย่างรอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจพิมพ์และวางจำหน่ายหนังสือ เพราะหากผลิตหนังสือออกมาแล้วจำหน่ายไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะประสบปัญหาขาดทุนมาก”

อีกทั้งร้านหนังสือขนาดใหญ่ส่วนมากมีสำนักพิมพ์เป็นของตนเอง ทำให้สามารถคุมต้นทุนในการผลิตได้ และย่อมเลือกสรรและส่งเสริมหนังสือของตัวเองเป็นหลัก ทำให้มีโอกาสในการขายและทำกำไรได้มากกว่า ถือเป็นการปิดกั้นสำนักพิมพ์รายเล็กไปในตัว ดังนั้นการสรรหาวิธีจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ ทั้งการขายผ่านอี-บุ๊ก หรือ การสั่งจองล่วงหน้าถือเป็นหนี่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยควบคุมต้นทุนสินค้า และเพิ่มโอกาสในการขายให้มากขึ้น

ขณะที่การขายผ่านงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรืองานมหกรรมหนังสือแห่งชาตินั้นถือเป็นช่องทางการจำหน่ายหนึ่งที่สำคัญ แต่ด้วยปริมาณสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมจำนวนมาก ตลอดจนการนำเสนอหนังสือที่หลากหลาย และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ สำนักพิมพ์ที่จะประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นสำนักพิมพ์ที่มีแฟนประจำ และเตรียมพร้อมที่จะซื้อล่วงหน้า

“ทุกวันนี้เกือบทุกสำนักพิมพ์ จะมีการสื่อสารประจำกับสมาชิก หรือผู้อ่านในวงกว้าง ผ่านโลกโซเชียล มีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กไลน์ รวมถึงทวิสเตอร์ เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ถือเป็นช่องทางการสื่อสารสำคัญที่จะบอกผู้อ่านได้ว่า จะมีความเคลื่อนไหวอะไร มีสิทธิพิเศษอะไร เป็นต้น”

ด้านนายเกียรติศักดิ์ ลิ้มไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แจ่มใส พับลิชชิ่ง จำกัด ผู้บริหารสำนักพิมพ์แจ่มใส ผู้ผลิตพ็อกเก็ตบุ๊ก ขวัญใจกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน กล่าวว่า แจ่มใสร่วมมือกับร้านหนังสือพันธมิตรในทุกภูมิภาคกว่า 100 ร้านค้า จัดงาน “Jamsai Happy Forward กระจายความสุขสู่นักอ่านที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ” ถือเป็นการยกงานมหกรรมหนังสือระดับชาติมาให้เลือกซื้อใกล้บ้าน พร้อมกับโปรโมชั่นพิเศษ อาทิ การให้ส่วนลด แจกของพรีเมี่ยม ฯลฯ เช่นเดียวกับงานมหกรรมหนังสือที่กรุงเทพฯ โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งแรกของแจ่มใสที่ร่วมกับร้านหนังสือจัดทำขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13-31 ตุลาคมนี้

“ร้านหนังสือที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์แจ่มใสในครั้งนี้ มีบางร้านที่ซ้ำกันกับร้านที่ร่วมออกบูธในงานมหกรรมหนับสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 เช่นร้านนายอินทร์ บีทูเอส ซีเอ็ดบุ๊ก เซ็นเตอร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีร้านพันธมิตรอื่นๆ ในแต่ละจังหวัด ซึ่งแฟนประจำของสำนักพิมพ์แจ่มใส สามารถหาดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์แจ่มใสดอทคอม ส่วนจุดเด่นที่นักอ่านจะได้รับคือโปรโมชั่น ทั้งส่วนลด 15% ของสำนักพิมพ์แจ่มใส สำนักพิมพ์เอ็นเธอร์บุ๊กส์ และสำนักพิมพ์เอเวอร์วาย รวมถึงของพรีเมี่ยม เช่น สมุด แก้วน้ำ และผ้าขนหนู Happy Forward เป็นต้น”

สำหรับบรรยากาศของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 (Book Expo Thailand 2016) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-24 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้ผลิตเข้าร่วม 406 สำนักพิมพ์ รวม 934 บูธ บนพื้นที่กว่า 2.1 หมื่นตารางเมตร ภายใต้แนวคิด “เสนอหน้า” พบว่า บรรยากาศโดยรวมยังมีผู้เข้ามาเลือกซื้อหนังสืออย่างต่อเนื่อง แม้บางสำนักพิมพ์จะพบว่า มียอดลูกค้าและยอดขายลดลง 30-50% โดยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ และลูกหลานที่มาเลือกซื้อหนังสือต่างๆ ทั้งหนังสือเสริมทักษะ หนังสือฮาวทู รวมถึงหนังสือนิยาย เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะพบว่า สำนักพิมพ์เกือบทุกแห่งต่างนำหนังสือเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส ฯลฯ ออกมาจำหน่าย และได้รับความนิยมอย่างมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559