เซียนจับตาที่มหาชัยพุ่ง รับมอเตอร์เวย์เชื่อมใต้ ธนบุรี-ปากท่อ-วังมะนาว

22 ต.ค. 2559 | 09:00 น.
ทล.เร่งผลศึกษาปรับเส้นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35(ธนบุรี-ปากท่อ)เป็นมอเตอร์เวย์เชื่อมจุดกันที่ใกล้แยกวังมะนาว งบลงทุนกว่า 8-9 หมื่นล้านบาท ด้านเซียนประเมินที่ดินชี้หลายจุดในเส้นทางราคาที่ดินมีแนวโน้มปรับเพิ่มและลดลง จับตาจุดมหาชัย สมุทรสาครและแยกวังมะนาว ราคาพุ่งแน่หลังกลุ่มเซ็นทรัลผุดสาขาใหม่รับแผนพัฒนาไว้ล่วงหน้า

[caption id="attachment_107303" align="aligncenter" width="700"] ทางยกระดับบทางหลวงหมายเลข 35 ทางยกระดับบทางหลวงหมายเลข 35[/caption]

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนดำเนินโครงการมอเตอร์เวย์สู่ภาคใต้ว่า ตามแผนแม่บทมีเส้นทางนครปฐม-ชะอำ วงเงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท และเส้นทางหาดใหญ่-สะเดา วงเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้มีการบรรจุในแผนโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรียบร้อยนอกจากนี้ ทล.ยังมีนโยบายให้ปรับแผนโครงการก่อสร้างถนนยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35(ธนบุรี-ปากท่อ) ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท ให้เป็นมอเตอร์เวย์ 6ช่องจราจร เชื่อมจากบริเวณสิ้นสุดทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) บริเวณบางขุนเทียน-พระราม 2 ให้สามารถเชื่อมกับเส้นทางนครปฐม-ชะอำ บริเวณใกล้กับแยกวังมะนาวได้อีกด้วยโดยแบ่งออกเป็น 3 ตอนดำเนินการ

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งออกแบบรายละเอียดเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนบางขุนเทียน-พระราม 2 สู่พื้นที่ภาคใต้ ประการสำคัญทล.ยังมีแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางพระราม 2 ไปตามถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร(ด้านตะวันตก) หรือถนนกาญจนาภิเษกไปสิ้นสุดที่บางปะอิน ซึ่งแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์สายนี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับมอเตอร์เวย์เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-นครราชสีมาได้อีกด้วย เช่นเดียวกับถนนยกระดับบรมราชชนนีที่จะต่อเชื่อมจากจุดสิ้นสุดในปัจจุบันให้ไปเชื่อมกับถนนเพชรเกษมและถนนธนบุรี-ปากท่อได้อีก1 เส้นทางเพื่อให้เกิดเป็นการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายการเดินทางในพื้นที่โซนภาคตะวันตกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น

“มอเตอร์เวย์ที่จะก่อสร้างไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 35(ธนบุรี-ปากท่อ) เส้นทางนี้จะต้องนำเสนอผู้บริหารกระทรวงคมนาคมพิจารณาเรื่องแนวทางการลงทุนว่าจะใช้รูปแบบใดทั้งการลงทุนเองหรือร่วมลงทุนพีพีพี โดยแนวเส้นทางจะผ่านพื้นที่จุดขึ้น-ลงจุดพื้นที่บางขุนเทียน พันท้ายนรสิงห์สมุทรสาคร แยกบ้านแพ้ว พื้นที่สมุทรสงคราม และพื้นที่ใกล้แยกปากท่อรวมระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร มีศูนย์ควบคุมทางหลวงพิเศษในช่วงบางขุนเทียน ศูนย์บริหารทางหลวงที่สมุทรสาคร และสถานีบริการทางหลวงใกล้กับสมุทรสงคราม”

ด้านนายวสันต์ คงจันทร์กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์นพร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวถึงราคาที่ดินในแนวเส้นทางทางหลวงหมายเลข 35(ธนบุรี-ปากท่อ) ว่าพื้นที่ช่วงต้นถนนกาญจนาภิเษกราคาที่ดินตารางวาละ 4-5 หมื่นบาท โดยช่วงพื้นที่ด้านต้นถนนพระราม 2 พื้นที่ผังเมืองสีเหลือง บางแปลงทะลุตารางวาละ 6-7หมื่นบาท ส่วนข้ามถนนกาญจนาภิเษกไปอีกฝั่งจะเป็นโซนพื้นที่สีเขียว ตารางวาละ 3-4 หมื่นบาท ส่วนจุดลงมหาชัยที่เป็นจุดแยกเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสมุทรสาครราคาประมาณตารางวาละ4-5 หมื่นบาท ซึ่งโซนนี้ปัจจุบันคึกคักเนื่องจากมีศูนย์การค้าแนวไลฟ์สไตล์มอลล์อย่างพอร์โตชิโน่ โฮมโปร โลตัสเกิดขึ้น อีกทั้งล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัลได้รับใบอนุญาตก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัลด้านฝั่งตรงข้ามพอร์โตชิโน่เรียบร้อยแล้วคาดว่าจะสร้างความคึกคักให้กับโซนพื้นที่นี้มากขึ้น แต่เมื่อเข้าโซนพื้นที่มหาชัยไปแล้วผังเมืองจะมีทั้งสีเหลืองและสีเขียวคละกันไป

ปัจจุบันโซนเส้นทางเชื่อมสมุทรสงครามยังไม่มีจุดเด่นเป็นไฮไลต์ดึงดูดการลงทุน ธุรกิจสำคัญของเส้นทางนี้คือปั๊มนํ้ามันและศูนย์บริการผู้ใช้รถใช้ถนน ร้านอาหาร อย่างไรก็ตามพบว่าปัจจุบันล้มเลิกกิจการไปแล้วหลายรายเนื่องจากปั๊มนํ้ามันขนาดใหญ่เปิดให้บริการช่วงต้นทาง ดังนั้นเส้นทางช่วงปลายจึงไปกระจุกตัวที่วังมะนาวซึ่งเป็นจุดพักรถที่เป็นพื้นที่ใหญ่ ก่อนที่จะไปสิ้นสุดโซนใกล้อ.หัวหินที่ความเจริญจะเริ่มเห็นชัดเจนกว่า

“ดังนั้นจุดวังมะนาวน่าจับตาว่าจะกลับมาฟื้นสร้างความคึกคักได้อีกครั้งหรือไม่เพื่อรองรับ 2 มอเตอร์เวย์ที่ทล.เร่งผลักดัน โดยเฉพาะธุรกิจเซอร์วิสผู้ใช้บริการทางหลวง ร้านของที่ระลึกร้านของฝากบรรดาแม่ชื่อดังต่างๆก็คงจะปรับเปลี่ยนพื้นที่มาใกล้จุดขึ้น-ลงกันมากขึ้น ร้านค้าปลีกยังไม่บูม ธุรกิจที่พักอาศัยรีสอร์ตจะบูมในพื้นที่ชะอำมากกว่า โดยราคาที่ดินโซนวังมะนาวเดิมราคาสูงระดับไร่ละ 10 ล้านบาท แต่ช่วงหลังปรับลดลงเหลือประมาณไร่ละ 6-8 ล้านบาทเบื้องต้นพบว่ายังมีที่ดินว่างเปล่ารองรับการพัฒนาเหลืออีกจำนวนมาก”

สำ หรับราคาที่ดินตามแนวมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บางใหญ่ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่แนวเกาะกลางถนนวงแหวนรอบนอกจะกระทบประชาชนน้อยมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ผังเมืองเป็นพื้นที่สีเขียวลาย พัฒนาได้แค่บ้านจัดสรรเท่านั้นยกเว้นพื้นที่ใกล้กับเดอะมอลล์บางแค จุดตัดถนนนครอินทร์-กาญจนาภิเษก ที่จะรายล้อมด้วยโครงการบ้านจัดสรรหลายโครงการราคาที่ดินประมาณตารางวาละ 5 หมื่นบาท แนวโน้มที่ดินยังน่าจะปรับลดลงได้อีกเมื่อเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ และโซนแถวๆ เซ็นทรัลเวสต์เกตที่ราคาตารางวาประมาณ 2แสนบาท จึงยังสูงกว่าจุดอื่นๆ ที่ได้รับอานิสงส์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั่นเองพื้นที่เลยจากนั้นราคาที่ดินระดับตารางวาละ 4-5 หมื่นบาทเท่านั้น

อีกทั้งยังน่าจะมีลุ้นว่าสายสีม่วงส่วนต่อขยายถึงบางบัวทองจะเกิดขึ้นได้อีกหรือไม่เนื่องจากปัจจุบันผู้โดยสารยังไม่เป็นไปตามเป้า ดังนั้นมอเตอร์เวย์เส้นทางนี้จึงมองว่าไม่มีนัยยกับแนวทางการพัฒนาหรือการเติบโตของพื้นที่มากนักยังมองว่าเป็นการระบายรถเป็นหลัก ช่วงต้นทางราคาที่ดินระดับตารางวาละ 5-7หมื่นบาท ส่วนเดอะมอลล์บางแคตารางวาละ 1-2 แสนบาทที่ผังเมืองเป็นโซนพื้นที่สีแดง รอบๆเป็นพื้นที่สีเหลือง ส่วนโซนใกล้สมาคมชาวปักต์ใต้ราคาตารางวาละ 7-5 หมื่นบาท โซนใกล้กับถนนบรมราชชนนีเป็นพื้นที่สีเขียวลาย

“เส้นทางส่วนต่อขยายบรมราชชนนีจะไปมีส่วนสร้างความเจริญให้กับพื้นที่วังมะนาวได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่ภาพรวมราคาที่ดินรับทางยกระดับบรมราชชนนี น่าจะยังทรงตัว เพราะมีข้อจำกัดด้านเป็นพื้นที่ผังเมืองสีเขียวลายโดยราคาที่ดินช่วงต้นทางบรมราชชนนีราคาตาราวาละประมาณ 2-3 หมื่นบาทไปจนถึงไร่ละ 10-15 ล้านบาท เป็นบางแปลง บางพื้นที่ อาทิ ใกล้มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนโซนรอบพื้นที่พุทธมณฑลอาทิ ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ยังมีข้อจำกัดให้สามารถพัฒนาได้แค่บ้านจัดสรรราคาที่ดินยังสูงกว่าไร่ละ 10 ล้านบาทโซนพื้นที่ที่น่าจับตายังคงเป็นถนนเพชรเกษมมากกว่าเนื่องจากจะสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายได้ในเร็วๆนี้”

สำ หรับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาจำกัด(มหาชน) ก่อนหน้านี้ประกาศจะพัฒนาโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย บนพื้นที่ขนาดเกือบ 100ไร่ ริมถนนพระราม 2 ฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าพอร์โตชิโน่ มูลค่าโครงการ4,750 ล้านบาท มีพื้นที่โครงการ 1.7 แสนตารางเมตร และจะมีร้านค้ากว่า 300 ร้านค้า กำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 2560

Photo : GoogleMap
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,202 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559