'เมียนมา'จ้องฟื้นอุตสาหกรรมกาแฟ

22 ตุลาคม 2559
เมียนมาเป็นประเทศที่มีทุกอย่างพร้อมในการ ผลิตกาแฟคุณภาพดีป้อนตลาดโลก แต่ปัญหาทางการเมือง ที่ผ่านมาทำให้ไร่กาแฟโดนทิ้งร้างและประเทศไม่มีแผนพัฒนาตลาดกาแฟภายในประเทศและการส่งออก ทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟตกต่ำ และส่งออกได้น้อยทั้งที่กาแฟจากเมียนมาเป็นที่ต้องการของตลาดนานาชาติ

นายอู ทิน ตั๊ต (U Tin Htut) ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเกษตร กระทรวงเกษตรปศุสัตว์และชลประทานเมียนมากล่าวว่า ‘ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปเรื่องกาแฟอย่างจริงจัง จะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางด้านเกษตร ผู้ส่งออกและชาวไร่กาแฟ เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำ’

นายอู ทิน ตั๊ต ซึ่งผลักดันโครงการรื้อฟื้นการเพาะปลูกกาแฟภายในประเทศกล่าววว่า กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่โดนทอดทิ้งมายาวนาน แต่ทางกระทรวงฯเริ่มหันมาให้ความสนใจกาแฟอีกครั้งหนึ่งโดยการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากาแฟของประเทศเป็นครั้งแรก ในรอบ 5 ปี
หนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์ส รายงานว่า แผนยุทธศาสตร์กาแฟของเมียนมาเป็นแผน 10 ปี มีทั้งเป้าหมายการเพิ่มผลผลิต การส่งออก ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและความรู้ รวมทั้งการฝึกอบรม ชาวไร่กาแฟ และการวิเคราะห์ตลาด เป็นแผนที่จะต้องส่งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบเพื่อให้เป็นนโยบายแห่งชาติ

นายอู มินต์ ส่วย (U Myint Swe) ผู้อำนวยการแผนกพืชกาแฟ ของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานให้สัมภาษณ์เมียนมาไทม์ส ว่าเมียนมามีการปลูกกาแฟมานานกว่า 70 ปีแล้ว โดยมีชาวสก๊อตนำพันธุ์อาแฟอาราบีก้าเข้ามาทดลองปลูกในเมียนมา และได้ผลดี โดยมีแหล่งปลูกอยู่ที่หมู่บ้าน ผินอู๋ลวิน ซึ่งอยู่แถบเนินเขาของเมืองมัณฑะเลย์ และมีการปลูกกาแฟมาจนทุกวันนี้

เมียนมาไทม์ส อ้างข้อมูลจากองค์กรกาแฟระหว่างประเทศว่า การบริโภคกาแฟในเมียนมาขยายตัวปีละ 2 % นับจากปี 2554 ขณะที่ ในปีพ.ศ. 2558 มีรายงานว่าการบริโภคกาแฟโลกอยู่ในระดับที่ 152.2 ล้านกระสอบ (60 กิโลกรัม/กระสอบ) ต่อปี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าความต้องการกาแฟในสหรัฐอเมริกา ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำกาแฟจากเมียนมา ไปทดลองขายในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาหลังจากที่ได้รับมาตรฐานโลกจากการทดสอบที่ประเทศเยอรมนีและมีการเปิดตัวสินค้าในงานแสดงสินค้ากาแฟที่สหรัฐอเมริกา

ผู้ส่งออกกาแฟเมียนมาคาดว่า การส่งออกกาแฟไปสหรัฐอเมริกาจะมีอนาคตสดใส เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีโอบามา ได้ยกเลิกการแซงชันทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้กาแฟเมียนมาสามารถส่งไปขายสหรัฐอเมริกาได้โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจีเอสพี

นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว มีรายงานว่า บริษัทคอฟฟี่ จีเนียส ซึ่งเป็นผู้ส่งออกที่เมืองย่างกุ้งทดลองส่งกาแฟที่ปลูกบนที่ราบสูงของรัฐฉานไปขายที่สิงคโปร์ ปรากฎว่าได้รับการต้อนรับในฐานะกาแฟคุณภาพสูงเช่นกัน

เมียนมาไทม์ส ระบุว่า การฟื้นฟูการปลูกกาแฟเป็นงานที่รัฐบาลเมียนมาต้องเร่งทำโดยด่วนเนื่องจาก กาแฟมีอายุเก็บผลผลิตได้ 20 – 30 ปีแล้วแต่พันธุ์และพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งโดยปรกติแล้วเมื่อต้นกาแฟมีอายุ 30 ปีจะต้องตัดทิ้งและปลูกใหม่ แต่ชาวไร่ในเมียนมาไม่ใช้วิธีฟันต้นทิ้งและปลูกใหม่แต่ ใช้วิธีต่อกิ่งต้นเก่าและให้แทงหน่อใหม่ ซึ่งทำให้ผลผลิตต่ำ

นอกจากผลผลิตจากต้นกาแฟที่ลดลงแล้ว นายอู มินต์ ส่วย ระบุว่าพื้นที่เพาะปลูกได้ลดลงด้วย โดยจากเดิมที่เคยมีพื้นเพาะปลูกสูงสุดที่ 60,000 เอเคอร์ (ประมาณ 151,800 ไร่) ปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 50,000 ไร่ (ประมาณ 126,500 ไร่)

เมียนมาไทม์ส ระบุว่า แผนพัฒนากาแฟแห่งชาติที่ผลักดันโดยรัฐ ทำให้วงการกาแฟเมียนมาเกิดความคึกคักขึ้นมาทันที นายนายอู ทิน ตั๊ต ระบุว่า การประชุมปฏิบัติงานยุทธศาสตร์กาแฟ ครั้งล่าสุดมีตัวแทนสมาคมชาวไร่กาแฟและเอกชนเข้าร่วมกว่า 40 คน และยังมีผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมอีกกว่า 100 คนทีเดียว

‘บรรยากาศการประชุม ที่เต็มไปด้วยความคักคักและเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเป็น สัญญาณที่ดีสำหรับวงการกาแฟของเรา ’

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,202 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559